“15ปี ดาวดิน” ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า

“15ปี ดาวดิน” ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า

มองขบวนการนักศึกษาผ่านการคงอยู่ตลอด 15 ปีของ "กลุ่มดาวดิน" จากแว่นสายตาของ "ไอ้พวกนักกิจกรรม" อย่าง แมน ปกรณ์

1.

กลางปีพ.ศ. 2551 ที่บ้านนักพัฒนาเอกชนอาวุโสคนหนึ่งในจ.กาฬสินธุ์ นักกิจกรรมคนหนุ่มสาวราว 20 คน ขลุกกันอยู่ที่ศาลากลางน้ำ พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นสังคมที่ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องสิทธิชุมชนไปจนถึงปัญหาโครงสร้าง นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับนักศึกษานิติศาสตร์ 3 คนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นพวกเขาเรียกตัวเองว่า “กลุ่มดาวดิน”

พูดน้อย ฟังเยอะ ทว่าแต่ละครั้งที่ประเด็นถูกถามจากปากของพวกเขา ผมจำได้แม่นว่ามันช่างแหลมคม หนักแน่น และชวนให้เกิดคำตอบที่ทำให้ผมเองซึ่งเป็นนิสิตปี 1 ได้เพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการต่อสู้ของชาวบ้าน

ครั้งนั้น ผมได้รู้จักพวกเขามากขึ้นในวงธรรมชาติซึ่งเป็นวงพูดคุยนอกกระบวนการของไอ้พวกนักกิจกรรม

“ภพขอความรู้เรื่องการทำงานกับชาวบ้านหน่อยนะครับ” ภพ-กรชนก แสนประเสริฐ หนึ่งในสมาชิกดาวดินรุ่นก่อตั้งถามเจ้าของบ้านในค่ำคืนนั้น ผมมารู้ตอนหลังว่า พ.ศ.นั้น กลุ่มดาวดินก่อตั้งมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เริ่มทำงานลงพื้นที่กับชาวบ้านแล้ว แต่คำถามของภพก็สะท้อนความใฝ่รู้และช่างแสวงหาของเขา

แม้ค่ำคืนจะหนักหน่วงกับการแลกเปลี่ยน แต่เมื่อพระอาทิตย์กลับมาทักทาย พวกดาวดินก็ตื่นมาดำนา กิจกรรมหนึ่งในการพบเจอกันของพวกเราในครั้งนั้น

“เอ็งรู้ไหม ทำไมชั่วนาตาปีชาวนาไม่รวยสักที” ภพ ถามผมขณะดำนา

แต่ก่อนที่ผมจะทันตอบ เขาก็ชิงพูดก่อน “ไว้เจอกันคราวหน้า เอ็งค่อยตอบพี่ละกัน”

37927567_10217291407380642_1063760942774353920_n

2.

​ปลายปี 2552 นักกิจกรรมหนุ่ม 3 คน ประชุมกันในร้านลาบหลังโรงพยาบาลศิริราชผมตามไปสมทบแล้วพบว่า พวกเขากำลังวางแผนทำอะไรบางอย่าง ซึ่งฟังในวาบแรกแล้วผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างน่ากลัว อันตราย และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่

ภพ เป็นหนึ่งในวงประชุมนั้น เขาไม่ได้ถามผมเรื่องชาวนา แต่ถามในเรื่องที่ประชุมกัน

“แมน เอาด้วยมั้ย?”

“เอาด้วยครับ” ผมตอบทันที โดยที่ในใจยังหวั่นๆ แต่รู้สึกว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธ

นั่นเป็นเหตุให้ผมต้องเดินทางไปขอนแก่นครั้งแรกในอีกไม่กี่เดือนถัดมา

ต้นปี 2553 ประเทศกำลังคุกรุ่น ด้วยการชุมนุมทางการเมือง นั่นเป็นช่วงเวลาที่ผมได้ไปเยือนสถานที่อันเต็มไปด้วยเรื่องราวและผู้คนของการทำกิจกรรมทางสังคม สถานที่ซึ่งถูกเรียกขานใน นาม "บ้านดาวดิน”

3.

​ริมรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น ย่านที่ถูกเรียกกันว่า “โคลัมโบซอย3” สถานที่ตั้งบ้านดาวดิน บ้าน 2 ชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ ตั้งอยู่ในที่ดินขนาดราวๆ ครึ่งไร่ สภาพเก่าแต่ดูเก๋าด้วยข้อความรณรงค์ที่เขียนไว้ตามฝาบ้านหรือสติ๊กเกอร์หยุดเขื่อนที่ต้นเสา และแน่นอนรูปเชเกวารา ตั้งอยู่ในมุมเล็กๆมุมหนึ่ง แม้ไม่เด่นตระหง่านแต่ก็เห็นได้ไม่ยาก

​ข้างบ้านมีกอกล้วยอยู่หลายสิบต้น มองเผินๆ เหมือนสวนขนาดย่อม เพียงแต่อาจจะเป็นป่ากล้วยมากกว่าสวนกล้วย หลังบ้านมีเล้าเป็ด เล้าไก่ และกระท่อมเล็กๆ อีกหลัง มีนอกชานให้ตั้งวงพูดคุยขนาดเล็กได้ 4-5 คน

​วันนั้นผมได้เจอกับสมาชิกดาวดินอีกหลายคนในวงแลกเปลี่ยน เราพยายามเชื่อมโยงว่ากิจกรรมเสี่ยงคุกที่เรากำลังจะทำ มันเชื่อมโยงกับปัญหาชาวบ้านอย่างไร มันจะกระทบต่อโครงสร้างอย่างไร

​“ต่อให้มันเสี่ยง แต่เราก็ควรทำ มันเป็นการต่อเติมภาพฝัน สังคมเป็นธรรมที่เราอยากเห็น” สมาชิกดาวดินคนหนึ่งพูด

มีคำกล่าวว่าริมรั้วมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการบ่มเพาะขบถผู้เปลี่ยนแปลงสังคมผมพึ่งได้เห็นกับตาก็วันนั้น

4.

​กลางปี 2553 สมาชิกกลุ่มดาวดิน และนักศึกษาจากกลุ่ม/ชมรมอีกหลายแห่งทั่วประเทศเดินทางไป จ.สงขลาในกิจกรรมที่เรียกว่า “ปฏิบัติการกระพรุนไฟ”

​มันเป็นกิจกรรมที่ถูกวางแผนมาร่วม 1 ปี ใช้คนไม่มาก แต่มีเป้าหมายพุ่งตรงชนหัวใจของบริษัทข้ามชาติรายหนึ่ง ซึ่งเรามองว่า เขาเป็น “ผู้รุกราน” เป็นผู้ก่อการร้ายทำลายวิถีชุมชน เป็นผู้ก่ออาชญากรรมทางทะเล

​เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความรู้สึกของคนในพื้นที่ พวกดาวดินเสนอว่า ก่อนปฏิบัติการเราควรไปล้อมวงพูดคุยในทะเล ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะจินตนาการอันบรรเจิดหรือเพราะความอยากเล่นน้ำทะเลของพวกเขา แต่นั่นเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิตที่ผมได้ประชุมในทะเล คือ มันคือการยืนล้อมวงแลกเปลี่ยน และพูดคุยโดยมีคลื่นเบาๆ ซัดมาแตะที่หน้าอก โดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้า

37901672_10217291178174912_5266271315311984640_n

5.

​หลังปฏิบัติการกระพรุนไฟ ผมได้พบเจอพวกดาวดินบ่อยครั้งขึ้นตามกิจกรรมต่างๆ และแทบทุกครั้งพวกเรามักมีปฏิบัติการร่วมกันในแบบที่คล้ายๆ กระพรุนไฟทำที่สงขลา ผมมารู้ภายหลัง มันถูกเรียกว่า “ปฏิบัติการทางตรง” หรือ Direct Action กิจกรรมที่ต้องอาศัยความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้เข้าร่วม เพราะมันมีความเสี่ยงที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม แต่ในเมื่อเรา และชาวบ้านผู้ถูกกระทำในพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้มีทางเลือกอย่างอื่น เป็นไงเป็นกันจึงเป็นบทสรุปที่จะ “ลงมือทำ”

​พฤษภาคมปี 2554 ในขณะดำเนินชีวิตนักศึกษาปกติ ผมไม่ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมการคัดค้านโครงการติดตั้งสายไฟฟ้าแรงสูงที่ จ.อุดรธานี กับพวกดาวดิน แต่บ่ายวันนั้นผมก็ได้รับโทรศัพท์สายหนึ่ง

​“หัวหน้าแมน คุณช่วยเซฟคลิปวิดิโอนี้เก็บไว้หน่อย ผมโพสท์ในยูทูปไปแล้ว แต่มันโดนรีพอร์ต” ปลายสายพูดแค่นี้ ก่อนที่ผมจะได้รับไฟล์วิดิโอทางอีเมล์ในช่วงค่ำวันนั้น

​คลิปเหตุการณ์ที่ชาวบ้าน และนักศึกษาดาวดินถูกจับกุมด้วยการฉุดกระชาก ลากถูก ไปตามพื้นถนน ในการคัดค้านโครงการดังกล่าว ถูกเก็บไว้ในไดรฟ์ส่วนตัวของผมมาจนถึงทุกวันนี้

​เหตุผลของการคัดค้านโครงการนั้น คือแทนที่สายไฟฟ้าแรงสูงมันจะถูกลากผ่านทางตรงๆ คือที่นาที่ดินใครถูกลากผ่าน รัฐก็จ่ายค่าชดเชยไป แต่มันถูกลากอ้อมเพื่อให้ทับที่ดินบางผืนของคนบางกลุ่ม

​“ข้าวในนากำลังเหลืองอร่ามใกล้จะได้เกี่ยว จริงๆ ชาวบ้านขอแค่เกี่ยวข้าวให้เสร็จก่อน แต่เขาไม่ยอม” พวกดาวดินบอกผมในครั้งนึงที่เราพูดกันถึงเหตุการณ์นี้

6.

​ธันวาคมปี 2554 หลังน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดภาคกลาง ผมเดินทางไปบ้านดาวดินอีกครั้งร่วมกับนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย มันเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นมาก แต่กองไฟและหมู่มวลมิตรช่วยให้คลายความหนาวไปได้พอควร

​ผลพวงจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษา มรภ.สวนสุนันทา ในการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นแรงขับให้อีกหลายมหาวิทยาลัยกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง ในการที่จะร่วมมือกันต่อสู้เพื่อการศึกษาที่เป็นธรรม

​กลุ่มดาวดินจัดงานเสวนาในมหาวิทยาลัย คุยเรื่องการศึกษาของคนอีสาน มีชาวบ้าน และนักศึกษามาร่วมฟังเป็นจำนวนมาก หลังเสวนาพวกดาวดินเชื้อเชิญเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ว่าน่าจะมีปฏิบัติการอะไรร่วมกันสักอย่าง

​“เว้า กันอย่างเดียวมันบ่ม่วนเด๊หัวหน้า ” พวกดาวดินหว่านล้อม

​วันรุ่งขึ้นนักศึกษานับร้อยเอาสติ๊กเกอร์สีชมพู ไปติดที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสื่อสารว่า สีชมพูจะทำให้มหาวิทยาลัยสดใสกว่าการที่ผู้บริหารใจดำ ปกปิด งุบงิบจะเอา ม.ขอนแก่นออกนอกระบบโดยไม่สร้างการมีส่วนร่วมกับนักศึกษา

​หลังปฏิบัติการในครั้งนั้น เราร่วมกันก่อตั้งแนวร่วมนิสิตนักศึกษาม.นอกระบบ เคลื่อนไหวเพื่อการศึกษาที่เป็นธรรมไปในหลายๆ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

​อีก 1 ปีหลังจากนั้น พวกดาวดินชุมนุมปิดถนนมิตรภาพบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเพื่อนๆ จากแนวร่วมนิสิตนักศึกษาม.นอกระบบมาร่วมด้วยช่วยกัน

37883061_10217291208055659_2684934681232670720_n

7.

​แล้วมันก็กลายเป็นภาพซ้ำที่แทบทุกปี มันต้องมีกิจกรรมอะไรสักอย่างให้เราได้พบเจอกัน ผมกับกลุ่มดาวดินกลายเป็นญาติสนิทมิตรสหายกันจนสื่อมวลชนบางสำนักเข้าใจว่าผมเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดินด้วย

แต่แน่นอนผมไม่ใช่ และผมก็คิดว่านักศึกษาแบบดาวดินนั้นคงไม่ได้เป็นกันได้ง่ายๆ เพียงแต่มันก็คงไม่ได้ยากเกินกว่าที่คนธรรมดาสามัญชนจะลองทำดู

เรื่องราวของดาวดินนั้นเดินทางมาถึงขวบปีที่ 15 และยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ผมยังไม่ได้เล่าในพื้นที่นี้ เพียงแต่สิ่งที่ยกมาในข้างต้นเป็นเพียงบางฉากบางตอนที่อยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาที่มาและที่ไปของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ว่าคุณจะชอบเขาหรือไม่ก็ตาม เขาก็เป็นพลเมืองร่วมชาติที่ผ่านการขัดเกลา จนเติบโตมาในสังคมที่เรา และท่านต่างก็จ่ายภาษีให้รัฐพัฒนาประเทศในแบบที่เป็นมา

เพียงแต่ว่าพวกดาวดิน มีความใฝ่ฝันถึง สังคมที่ดีกว่า รัฐที่ดีกว่า พวกเขาเชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ พวกเขาเชื่อว่าชาวบ้าน เชื่อว่าประชาชนจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ เพียงแต่สิ่งเหล่านั้นคงไม่หล่นลงมาจากฟ้า

ในวารสารดาวดิน ปีที่12 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ดาวดิน” หมายถึง “คน” เมื่อมองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วเห็นดวงดาว ด้วยแสงระยิบระยับจับตาเราจึงมักจะให้คุณค่าอย่างสูงส่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง ความใฝ่ฝัน ต่างๆ นานา แม้กระทั้งคนที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ก็มีดาวประดับไว้บนบ่า คนก็ต่อสู้ เหยียบย่ำกันไปคว้าเอาดาว จนไม่ได้มองดูพื้นดินที่เรายืน และเหยียบมันอยู่ทุกวัน และกลายเป็นสิ่งต่ำต้องด้อยค่าไปในที่สุด

แต่ “ดาว” ที่เรามองว่ามันสวยงาม แท้จริงแล้วมันก็คือ “ดิน” นี่แหละ เพียงแต่มันลอยอยู่บนฟ้าเท่านั้นเอง เหมือนกับคนที่เกิดมามีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน พร้อมกับกล่าวคำประกาศที่ดังกึกก้องต่อมาอีก 12 ปี ว่า

“ดาวที่ไม่อยากอยู่บนฟ้า ดินเย้ยฟ้าท้าดาวจรัสแสง อำนาจประชาชนจักสำแดง จะเปลี่ยนแปลงดาวดินให้เท่าเทียม”