ให้องค์กรตรวจสอบของรัฐยื่นบ/ชทรัพย์สิน-หนี้สิน

ให้องค์กรตรวจสอบของรัฐยื่นบ/ชทรัพย์สิน-หนี้สิน

กมธ.ยกร่างรธน.กำหนดให้กรรมการองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อความโปร่งใส

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในวันที่เก้า ยังอยู่ที่การพิจารณาเนื้อหาภาค 3 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และองค์กรตามรัฐธรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด2 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มาตรา (3/2/2)2ว่าด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือที่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยอนุ กมธ.พิจารณายกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราฯ ได้นำบทบัญญัติมาตรา 259 และมาตรา 261 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาปรับบทบัญญัติให้เหมาะสม

แต่เขียนเพิ่มให้ผู้ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอีก 1 ประเภทคือ "(7) เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่กฎหมายบัญญัติ”" จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดให้มีเพียง นายกฯ, รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว., ข้าราชการการเมืองอื่น และผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนั้นได้เพิ่มบุตรทุกช่วงอายุต้องยื่นเอกสารประกอบการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และสำเนาแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย จากเดิมที่กำหนดให้เป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะเท่านั้น ทั้งนี้ในบทบัญญัติที่เสนอใหม่นั้นได้ตัดวาระของการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ จากเดิมที่กำหนดให้ยื่นทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งด้วย โดยทางอนุ กมธ.ฯ ได้ชี้แจงเหตุผลว่ารายละเอียดดังกล่าวจะกำหนดไว้ในกฎหมายลูก

ผู้สื่อข่าวโดยที่ประชุมได้อภิปรายขอแก้ไข เพิ่มประเด็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและลดข้อครหาว่ากรรมการในองค์กรตรวจสอบองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐจ้องจับผิดแค่นักการเมืองอย่างเดียว อีกทั้งเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์การปฏิรูปประเด็นการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะและให้เขียนตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นด้วยเพื่อให้ครอบคลุมชัดเจน โดยฉพาะตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีซึ่งที่ประชุมเห็นด้วย และให้เพิ่มบัญญัติดังกล่าว

ทั้งนี้ได้กำหนดรายละเอียดการเปิดเผยรายการบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดการยื่นบัญชี ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่ยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต้องเปิดเผยด้วยเช่นกัน แต่มีเงื่อนไข 2 ประการ คือ 1.เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิพากษาคดี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร้องขอ และ 2.เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยให้อำนาจ ป.ป.ช.เป็นผู้ที่ออกประกาศเพิ่มเติมว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดบ้างที่ต้องเปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

ผู้สื่อข่าวรายงานมีประเด็นที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอเพิ่มเติม คือ คู่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ และสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ที่ใช้ถ้อยคำว่า “ผู้ซึ่งอยู่กินฉันท์สามี ภรรยา” เพื่อให้ครอบคลุมตรวจสอบนักการเมืองอย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม มีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมูญเห็นคัดค้านและไม่ควรบัญญัติคำดังกล่าวไว้ เพราะกังวลต่อการพิสูจน์และการตีความทางกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วการเขียนบทบัญญัติที่อยู่บนความกลัวและมองว่าคนทุกคนเป็นคนเลวทั้งหมด ถือว่าไม่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้วถือว่าเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่อยู่บนความไม่สมดุล หรือเขียนกฎหมายเพื่อไล่ล่าเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เป็นการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และกฎหมายครอบครัว

อย่างไรก็ตามกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอีกฝั่งเห็นแย้งว่าการบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อสิทธิทางครอบครัว และหากผู้ที่สุจริตการกำหนดดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการสร้างปัญหา

ทั้งนี้มีข้อเสนอให้นำประเด็นดังกล่าวรอการพิจารณาไว้ ขอให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นพร้อมหลักปฏิบัติกับที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาและปรับให้เหมาะสม ขณะที่ประเด็น “บุตร” กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความเห็นให้คงไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดว่า “บุตรที่บรรลุนิติภาวะ” ด้วย เพื่อไม่ให้มีปัญหาหรือผลกระทบตามมา เช่น กรณีที่บุตรแต่งงานมีครอบครัวและมีธุรกิจ หากกฎหมายกำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอาจไม่เหมาะสมต่อประเด็นการเคารพสิทธิตามกฎหมาย พร้อมยกเหตุผลประกอบว่าหากเขียนระบุว่า “บุตร” โดยไม่กำหนดว่าบรรลุนิติภาวะหรือไม่อาจถูกโจมตีได้ว่าการร่างกฎหมายเฉพาะบางคนบางตระกูลเท่านั้น อย่างไรก็ตามการพิจารณา 2 ประเด็นดังกล่าวได้ใช้เวลาเกือบ 12.00 น. ที่ประชุมจึงพักการพิจารณาเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน

จากนั้นที่ประชุมได้กลับมาพิจารณาอีกครั้งในเวลา 13.00 น. และได้ข้อสรุป คือให้ตัดถ้อยคำ “ผู้ซึ่งอยู่กินฉันท์สามี ภรรยา” ออกไป ส่วนประเด็นของบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ประชุมได้สรุปให้คงไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติว่า “บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ” ขณะที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นแย้ง จำนวน2 คนได้ขอสงวนความเห็นไว้เพื่ออภิปรายในครั้งต่อไป จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาในมาตราต่อไป