"สุขกันเถอะเรา..." ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

"สุขกันเถอะเรา..." ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับความสุข แต่ผู้ชายคนนี้มีเคล็ด(ไม่)ลับมาชวนให้ทุกคนปรุง'สุข'ด้วยตัวเอง

"ความสุขอยู่ที่ใจ" ใครๆ ก็พูดแบบนั้น แต่ ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาอายุยี่สิบต้นๆ คนนี้ ไม่เพียงแค่พูด บรรยาย เขายังเขียนบทความอีกมากมายเพื่อให้ผู้คนเข้าใจตัวเอง ซึ่งเป็นหลักการสามัญสู่ความสุขอย่างยั่งยืน

จิตวิทยา และ พุทธศาสนา คือวิชชาอันเป็นแก่นแกนในการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องเข้าใจได้ โดยเขาเปรียบตัวเองเหมือน'เชฟ' ที่ต้องคอยปรุงความจริงให้ครบทั้งรสชาติและสีสัน "ผมคิดว่าสำหรับประเทศไทย ตอนนี้สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคนที่เข้าใจสัจธรรม คือคนที่จะสามารถนำความจริงทั้งหลายที่มันดีๆ เอามาปรุงให้อร่อยให้ทุกคนได้กิน"

ขุนเขา จบการศึกษาด้านจิตวิทยาที่ Australian National University โดยได้รับทุน Australian National University Thai Alumni Scholarship จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เคยเข้าอบรม "การสะกดจิตบำบัด” “วิปัสสนากรรมฐาน” ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร Secret คอลัมน์ Mind Management และนิตยสาร “ธรรมดี” คอลัมน์ “สมองสงสัย... ใจตอบ” มีหนังสือในแนวจิตวิทยาตามมาอีกหลายเล่ม และยังเป็นอาจารย์พิเศษประจำสถาบัน Bangkok School of Management (BSM) รวมถึงเป็นวิทยากรรับเชิญด้านการพัฒนาชีวิต

ดูเหมือนคุณจะสนใจศาสตร์หลายๆ ด้านที่เกี่ยวกับจิตเป็นพิเศษ?

ผมเป็นคนช่างถาม ตั้งคำถามกับชีวิตตลอดเวลาว่าเราเกิดมาทำไม จักรวาลนี้อยู่ไปเพื่ออะไร มนุษย์จะไปถึงไหน เราจะสิ้นเผ่าพันธุ์เมื่อไหร่ แรกๆ ก็คือถามเรื่อยเปื่อย แต่สิ่งที่ทำให้เข้ามาสนใจพุทธศาสนา คือการถามที่เข้ามาหาเรื่องของตนเอง อย่างเช่นเรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้น ทีนี้ตั้งแต่เด็กแล้วเวลามีความทุกข์เราจะไม่ไปด่าอย่างอื่นมาก เราจะตั้งคำถามว่าทำไม เราผิดตรงไหน เกิดอะไรขึ้น แล้วมันจะเกิดการปรับปรุงพัฒนาเสมอ จริงๆ แล้วคำถามว่าทำไมถึงทุกข์ พระพุทธเจ้าถามมาตั้ง 2,500 ปี แล้ว การตั้งคำถามเหล่านี้แหละครับทำให้เราเริ่มศึกษาสิ่งที่เป็นรากเหง้า เป็นแก่นจริงๆ ว่าคำตอบมันอยู่ตรงไหนกันแน่

พูดง่ายๆ ก็คือมันเริ่มมาจากปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องเงิน เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว เรื่องชีวิต เรื่องความสัมพันธ์ อะไรก็แล้วแต่ แล้วเราพยายามหาคำตอบ ปรากฎเราหาคำตอบได้เจอที่จิตวิทยา เพราะทุกอย่างไม่มีปัญหาไหนไม่เกี่ยวข้องกับใจ ถ้าโลกนี้ไม่มีจิตมมนุษย์อยู่เลยสักดวงเดียว ปัญหาจะไม่มีครับ เพราะฉะนั้นปัญหาเกี่ยวกับจิต แก้ได้ด้วย หนึ่งจิตวิทยาและสองพุทธศาสนา เพราะทั้งสองนี้เกี่ยวกันโดยตรง คือเป็นการเล่นเรื่องการปรับที่จิตใจ เมื่อใจถูกทุกอย่างจะถูกต้องตามไปด้วย

เขาว่ากันว่าคนที่ไปเรียนจิตวิทยามักต้องมีปมอะไรสักอย่างในชีวิต จริงไหมคะ

จริง (หัวเราะ) เรื่องนี้เป็นอะไรที่ไม่ค่อยมีคนถาม จริงครับคนที่เรียนจิตวิทยาส่วนใหญ่จะต้องมี...จิตๆ แต่อยากจะบอกความลับอย่างหนึ่งว่า จริงๆ ทุกคนมีความเป็นโรคจิตหมด เราไม่ได้เปิดเผยกันทุกคน แต่เรามีด้านมืดทุกคน มันเป็นเหมือนหยินหยาง คือโลกนี้จะให้ของทุกอย่างอยู่ข้างบนหมดไม่ได้ มันต้องมีของบางอย่างอยู่ข้างบน ของบางอย่างอยู่ข้างล่าง จะให้ของทุกอย่างบนโลกนี้มีแต่ข้างนอก...ไม่มีทาง มันต้องมีข้างนอกข้างใน สว่างมืด หญิงชาย ดีเลว ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นไอ้ความสว่างมืดหรือดีเลว ทุกคนมีเหมือนกัน แม้แต่พระอรหันต์อย่างหลวงปู่ดุลย์ ท่านบอกว่า "เราก็โกรธ แต่เราไม่เอา" คือเราไม่เอาความโกรธ พูดง่ายๆ ก็คือทุกคนมีความมืดอยู่ในใจ ของผมเองก็มี แต่ข้อแตกต่างคือรู้ว่าคืออะไร แล้วก็พยายามที่จะอยู่กับมัน กำจัดมันไม่ได้ครับ เหมือนกับการที่เราพยายามจะทำให้เหรียญมันมีแค่หน้าเดียว เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอยู่กับมัน

ถามว่าทำไมทำให้สนใจจิตวิทยา เพราะเราอยากจะรู้นี่แหละว่าทำไมเราถึงต้องเป็นแบบนี้ เช่น แต่ก่อนจะเป็นคนขี้อิจฉา ขี้อิจฉาแบบมหัศจรรย์พันลึกมาก คือขนาดแมวหมามันไปซบ เคล้าเคลียกับคนที่เรารัก อู๊ย...โกรธเกลียดมัน อีแมวนี่ทำไมมันถึงได้ขี้ประจบอย่างนี้ คือไร้สาระมาก แล้วไปด่าหมาแมว นี่คือความจิตของเราอย่างหนึ่ง ทีนี้พอเราศึกษาไปเรื่อยๆ เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าที่มาของความอิจฉาคืออะไร คือเราไม่ได้ถามแบบคนทั่ว ไปว่า โอเคอิจฉา อยากเลิกอิจฉา ก็ไม่ผิด ดีที่ถามแบบนั้น ยังดีกว่าปล่อยให้ตัวเองอิจฉาไปเรื่อยๆ แต่ผมอาจจะถามมากขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็คือมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ที่มาในสมองมันเป็นอย่างไร ทำไมคนอื่นไม่เป็นแล้วเราเป็น

ทีนี้เราก็ได้ค้นพบครับว่าสุดท้ายแล้วมันเกิดขึ้นมาจากการที่เรากลัว กลัวไม่ได้รับความรัก เราไม่ได้โทษพ่อแม่นะครับ เขาไม่ได้ผิด แต่มันเป็นที่มา คือพอเขาทะเลาะกันตอนเราเด็กๆ บางครั้งเราต้องอยู่บ้านคนเดียว คือเขาก็ทำดีที่สุดแล้วล่ะ แต่จะมีบางจังหวะที่...เรานั่งแล้วฝนตก คือโคตรเหงา แล้วรู้สึกว่าอย่าทิ้งเราไปนะ เราเป็นเด็กนะ เรากลัวนะ เราเหงา เราทุกข์ แล้วความรู้สึกนี้มันเป็นหมอกที่อยู่ในหัวสมองในใจเรามาตลอด หลังจากนั้นจำได้เลยว่าเป็นคนที่กลัวการถูกทิ้ง กลัวการไม่ได้รับความรัก กลัวเขารักคนอื่นมากกว่าเรา เสร็จแล้วพอมาถึงจุดนึงก็รู้แล้วว่ามันไม่ใช่ เราต้องเปลี่ยนมัน ถามว่าตอนนี้หายรึยัง อิจฉาน้อยกว่าเดิมไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเท่า แต่ยังไม่หมดเสียสนิท นี่คือคำตอบว่าทำไมคนที่เรียนจิตวิทยามักจะมีความจิต เพราะเขาอยากรู้ไงว่าปัญหาของตัวเองต้องแก้ยังไง นี่คือคนที่เรียนเพราะชอบและรักมันจริงๆ นะ

พอไปเรียนแล้วมองโลกมองตัวเองเปลี่ยนไปไหม

เยอะครับ มีความสุขมากทุกวันนี้ เพราะความจริงในชีวิตมันคืออย่างนี้ครับ เราจะเกลียดในสิ่งที่เรากลัว และเราจะกลัวในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ มันจะมาเป็นทอดๆ อย่างนี้ครับ กลัว โกรธ โทษ ทุกข์ เกลียด เพราะฉะนั้นถามว่าเราจะขจัดความกลัวได้ดีที่สุดอย่างไร นี่เลยครับ เข้าใจ เมื่อเราเข้าใจมากขึ้น เราจะกลัวตัวเองน้อยลง เมื่อเรากลัวตัวเองน้อยลง เราจะเกลียดตัวเองน้อยลง แค่นั้นเอง การเรียนจิตวิทยาทำให้เราเข้าใจว่ามันมีที่มา อย่างที่บอก...เพราะตอนเด็กๆ เราเผชิญสิ่งนี้ เราถึงได้คิดแบบนี้ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง พอเข้าใจแล้วก็เริ่มสงสาร ไม่เป็นไรหรอก ฉันเข้าใจแกนะ พูดกับใจตัวเอง แกเป็นอย่างนี้เพราะมันมีที่มา โอเคน่า เริ่มรักตัวเอง เมตตาตัวเอง เข้าใจตัวเอง

ทีนี้พอเข้าใจตัวเอง สุดท้ายความสุขเกิดขึ้น พอความสุขเกิดขึ้นเราพร้อมที่จะแบ่งให้คนอื่นแล้ว มันมหัศจรรย์มากครับ ทุกครั้งแต่ก่อนที่ยังไม่เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง มันเป็นความสุขแบบฝืน มันเหมือนกับฝืนทำอะไรให้ตัวเอง พยายามที่จะมี พยายามที่จะให้ แต่มันน่ารังเกียจมาก เราให้เพราะเราอยากได้ อยากให้เขามาสนใจเรา เอาของไปให้ทำอย่างดีมากเลย ถามว่าทำจากใจจริงไหม ไม่ ทำเพราะอยากให้เขารักเรา น่าสงสารมากเลย แต่พอตอนหลังเข้าใจตัวเองมากขึ้น ความสุขมันเกิด คราวนี้ถ้าเราอยากทำเราทำเพราะใจมีความสุข แล้วไม่หวังผลตอบแทน ให้...เอาไปเลย มันมาจากการที่เราเต็มเราจึงเติม ไม่ใช่ว่าเราขาดเราจึงเอาไปให้ นี่แหละครับคือความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ถึงตอนนี้นิยามความสุขของคุณคืออะไร

คือสิ่งนี้ครับ สงวนลิขสิทธิ์ด้วย (หัวเราะ) ไม่หรอกครับ แต่กำลังจะเขียนเป็นหนังสือ ผมเชื่อว่าความสุขเกิดจาก 3G, Gain Grow Give ความสุขต้องเกิดจากสมดุลของสามสิ่งนี้ เมื่อไหร่ที่เรา Gain มากเกินไป คือเรารับมากเกินไป แล้วเราไม่ได้ให้ เราจะทุกข์ เมื่อไหร่ที่เรารับมากเกินไปแล้วเราให้ แต่เราไม่ได้โต คือเราไม่ได้พัฒนาตัวเอง ไม่ ได้ออกไปเที่ยว ไม่ได้เจอคนใหม่ๆ ไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้ดูหนัง ลืมเติบโตทางจิตวิญญาณ ก็ทุกข์เหมือนกัน ถ้าเกิดเราเติบโตแล้วเราให้ทุกอย่าง พ่อพระแม่พระสุดๆ แต่เราลืมรับ คือเราไม่ยอมเปิดใจรับความรักจากคนอื่นบ้าง ไม่ยอมเปิดใจรับความสุขจากคนอื่น รับความช่วยเหลือ คือให้อย่างเดียว เรียนรู้ แล้วส่งออกๆๆ ทุกข์ครับ รับรอง ผมมองเห็นความสุขของทุกคนบนโลกใบนี้เกิดจากสามสิ่งนี้ที่สมดุลเหมือนกับขาตั้งกล้องที่ตั้งอยู่ได้

แล้วผมอยากให้ดูตัวอย่างจากต้นไม้ ต้นไม้เนี่ยสามสิ่งนี้มันจะพอดี มันจะ Gain คาร์บอนได้ออกไซด์ตอนกลางวัน น้ำ อากาศ แล้วก็ปุ๋ย แล้วมันก็ Grow ออกดอกออกผลสวยงามผลิบาน แล้วมันก็ Give ส่งออกซิเจนออกมา แล้วก็ให้ดอกให้ผลอะไรมากมาย เป็นที่อยู่อาศัยให้สัตว์ต่างๆ เพราะฉะนั้นต้นไม้จะเป็นสิ่งที่เรามองเห็นแล้วมีความสุขเสมอ เพราะว่ามันสมดุล คนก็ไม่ต่างจากต้นไม้ครับ เราเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ถ้า 3G ของเราครบนี่แหละคือนิยามความสุขของผม ณ ปัจจุบัน

ขณะเดียวกันโลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ทำให้คนเชื่อว่าวัตถุเงินทองต่างหากที่ทำให้เรามีความสุข มองเรื่องนี้อย่างไรคะ

ทำไมคนมากมายที่มีอะไรเยอะมากแต่ฆ่าตัวตาย ฆ่าคนอื่น เพราะว่า G แรกโตเกิน คือรับอย่างเดียว เข้ามาจนพุงจะแตก ทรัพย์สินเงินทองความรักอะไรก็แล้วแต่ แต่เชื่อผม...ใครที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้ลองถามตัวเองว่าจริงหรือไม่ที่เวลาเรามีความสุขอย่างแท้จริง มันไม่ใช่แค่ตอนที่เราได้แต่เป็นตอนที่เราให้ แล้วเป็นตอนที่เราโต ตอนที่เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ตอนที่เราฟินมากๆ คือตอนที่ทั้งสามอย่างมันมาพร้อมๆ กัน มันถึงได้งดงาม การที่เราไปโฟกัสกับทุนนิยม หรือการรับอย่างเดียวมันได้ได้ผิดครับ มันดี เพราะว่ามันคือการ gain เยอะ แต่สังคมของการ gain อย่างเดียวมันจะเป็นโปลิโอ

ทำไมบิล เกตส์ กับวอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงเป็นเศรษฐีที่ดูมีความสุขมาก เพราะรายได้ครึ่งหนึ่งเขาเอาเข้ามูลนิธิที่บริจาคให้กับคนยากไร้ แต่เศรษฐีขี้งก ผมเห็นเยอะเลย รวยแต่หน้าโคตรหงุดหงิด คือเหมือนกับเขารับมาแล้วเขาลืมให้ พอเขารับเยอะๆ มันอาจจะได้ความสะดวกสบายแต่ไม่ได้ความสุข สองสิ่งนี้ต่างกันนะ ความสะดวกสบายมันทำให้เราได้อะไรเร็วขึ้น แต่ถ้าเรามีความสะดวกสบายมากความทุกข์ก็เข้ามาเร็วเช่นกัน อย่างเช่น ถ้าเรามีโทรศัพท์รุ่นใหม่ล่าสุด ด้วยความเร็วของอินเตอร์เนตหรืออะไรก็แล้วแต่ทำให้เราติดต่อครอบครัวหรือลูกของเราได้เร็ว สมมติลูกว่าอะไรมาความทุกข์ก็มาถึงเราเร็ว คือเทคโนโลยีมันไม่ได้มีเครื่องกรองความทุกข์ เงินก็ไม่ได้มาพร้อมกับตำราที่จะสอนความสุขกับเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือหมด

ทุนนิยมมันเหมือนกับเป็นไฟ ไฟเนี่ยมีประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้ไฟไม่เป็นคนใช้เนี่ยตาย เพราะฉะนั้นสรุปง่ายๆ ก็คือว่า การได้มาไม่ผิด การได้มาไม่ทุกข์ ถ้าเรารู้จักเติบโตและส่งออกอย่างสมดุลด้วย

ในมุมของคุณการมีความสุขไม่ได้หมายถึงต้องตัดขาดจากโลกวัตถุหรือต้องใช้ชีวิตสมถะอย่างเดียว?

ผมอยากจะบอกว่า ความสุขมันไม่ได้มีอยู่ในโลกภายนอก มันมีอยู่ในโลกภายใน ถ้าเข้าใจผิด ไม่รู้สัจธรรม ต่อให้คุณบวชแล้วหนีไปอยู่ถ้ำในหิมาลัย หรือที่ไหนก็ แล้วแต่ ก็ทุกข์ มันมีศัพท์คำหนึ่งในภาษาอังกฤษผมชอบมาก no matter where you go, there you are. ไม่ว่าคุณจะหนีไปไหน คุณก็หนีใจตัวเองไม่พ้น เพราะฉะนั้นผมไม่ได้บอกเลยว่าควรจะรวยหรือควรจะจน ควรจะบวชหรือควรจะไม่บวช ผมบอกแค่อย่างเดียวครับว่า ก่อนจะทำทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ลองจูนใจให้ตรงกับความจริงก่อน

จูนใจให้ตรงกับความจริง คือใช้ชีวิตโดยไม่ขัดกับธรรมชาติ ธรรมมะคืออะไร ธรรมมะคือกฎของธรรมชาติครับ อย่างเช่น กฎของอนิจจังคือการเปลี่ยนแปลง สมมติมีคนอยู่สองคน คนหนึ่งเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก อีกคนเป็นพระที่สละทุกอย่าง คนแรกเป็นเศรษฐีรวยคือคุณได้ทุกอย่างแล้ว ถามว่าคุณจะเป็นอมตะหรือเปล่า ก็ไม่ ลูกเมียคุณจะไม่มีวันตายหรือเปล่า ก็ไม่ เพราะฉะนั้นการที่คนคนหนึ่งเขารวยมีทุกอย่าง แต่เขาคิดว่าทุกอย่างจะต้องเป็นนิรันดร์ ของทุกอย่างเป็นของฉัน นี่คือไม่รู้กฎอนัตตา ทุกข์อยู่ดี ต่อให้มีล้านๆๆๆ ถ้าเข้าใจสัจธรรมผิด ใช้ชีวิตขัดกับกฎธรรมชาติ ทุกข์ครับ

เหมือนกับถ้าเรายังเชื่อว่าทุกครั้งที่ปล่อยของลงพื้น มันต้องลอยขึ้นในอากาศ เราก็ทุกข์ เพราะพอเราปล่อยของเสร็จ ทำไมไม่ลอยล่ะ ลอยสิ มันก็เหมือนกับ... ทำไม เธอไม่อยู่กับฉันล่ะ ทำไมเธอต้องตายด้วย ทำไมคราวนี้ล้มละลายล่ะ ...กฎธรรมชาติ อนิจจัง มันไม่ใช่ของคุณ อนัตตา ถ้าคุณยังคิดอย่างนี้นะ ทุกข์ตลอด ต่อให้คุณไปบวช ต่อให้คุณหนีไหนก็แล้วแต่ ถ้ายังไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นทำอะไรก็แล้วแต่ ผมสนับสนุนทั้งนั้น ขออย่างเดียวอย่าเบียดเบียนคนอื่น และถ้าอยากมีความสุขนะ มีสิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือ จูนใจให้ตรงกับความจริง

ตอนนี้ถ้ามีคนเดินมาบอกว่าเขารู้สึกไม่มีความสุข จะให้คำแนะนำอย่างไร

ผมจะไม่พูดอะไรเลย ผมจะฟัง คือผมอยากจะบอกอย่างนี้ คนเราไม่ใช่เครื่องจักร มันไม่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในทันที ผมว่าศาสตร์แห่งการฟังสำคัญกว่าศาสตร์แห่งการพูด เพราะคนที่พูดได้ดีคือคนที่ฟังได้ดี ทักษะของการฟังเป็นทักษะที่สำคัญมาก นอกจากผู้พูดรู้สึกดีมีกำลังใจแล้ว มันยังจะทำให้เราเป็นคนมีปัญญา ปัญญาไม่ได้เกิดจากการพูดมาก ปัญญาเกิดจากการฟังมาก พหูสูตรแปลว่าผู้ที่ได้ยินได้ฟังมาก ไม่ได้แปลว่าผู้ที่พูดมาก และข้อแรกของพหูสูตร สุ คือฟัง, จิ คือคิด, ปุ คือถาม, ริ คือ เขียน เพราะฉะนั้นข้อแรกคือฟัง เวลาที่คนมาถามผม สมัยก่อนผมก็จะพล่ามอย่างเดียว ปรากฎว่าไม่ได้ผลครับ เพราะบางคนเขาก็ไม่ได้อยากมาฟัง เขาอยากมาระบายความทุกข์ออกไปก่อน พอเราฟังแล้วเราถึงจะเข้าใจเขา ท่านติช นัท ฮันห์ พูดไว้ดีมากว่า เมื่อเราฟังใครสักคน เขาจะบานเหมือนดอกไม้ คือเราค่อยๆ ฟัง เขาจะค่อยๆ คลี่ตัวเองออกมา คลี่คลาย เบ่งบาน สวยงาม แล้วเราถึงจะสามารถช่วยเขาได้

คิดอย่างไรกับมุมมองความสุขแบบไทยๆ

ความสุขแบบคนไทยที่ว่า..สบายๆ ผมว่าก็เหมือนกับคนทั่วโลกแหละครับ แต่ว่าเราจะหนักหน่อย ถามว่าทำไม ผมวิเคราะห์ว่า เพราะเราค่อนข้างสบายในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีภัยพิบัติน้อย เราก็เลยชิลล์ไงฮะ ชิลล์เนี่ยมีข้อเสียก็คือทำให้เราพัฒนาช้า เพราะว่าปัญญาไม่ได้เกิดจากความสุขเสมอไป ปัญญาจริงๆ มันเกิดจากความทุกข์ ยิ่งทุกข์มากแล้วเรารู้จักเรียนรู้ ปัญญาจะมาก พระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้ได้ ไม่ใช่เพราะว่าท่านนั่งกินไก่งวงอยู่ในวังพร้อมนางสนม แต่เพราะท่านออกไปเจอทุกข์ เหมือนที่อินเดียเคยมีคนพูดไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้เพราะอยู่ที่อินเดีย ถ้าท่านอยู่ประเทศอื่น ทุกข์น้อยกว่านั้นก็ไม่มีสิทธิ

คนไทยเห็นความทุกข์มากมั้ย ก็มากในระดับหนึ่งแต่ยังไม่มากถึงขนาดที่จะทำให้เราเข้ามาถามใจตัวเองจริงๆ คำถามก็คือแล้วเราต้องหาความทุกข์เพิ่มมั้ย ผมว่าไม่จำเป็น ปัญญาที่แท้จริงไม่ได้งอกจากความทุกข์แบบทันที มันงอกจากคำถาม พอทุกข์แล้วถึงถาม ถามแล้วปัญญาเลยเกิด ผมยกตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้เห็นทุกข์แล้วตรัสรู้ ท่านเห็นทุกข์ปุ๊บท่านถามก่อน ทุกข์มายังไง สมุทัยมาอย่างนี้ นิโรธมันมีทางดับนะ ดับยังไงก็มรรค คำถามที่พระพุทธเจ้าถามจึงเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็มีเรื่องศิลปะการถามของพระพุทธเจ้าด้วย เช่น ถ้าโดนธนูยิงใส่หัวใจในป่า เราจะหาวิธีดึงธนูออกหรือหาคนยิงก่อน เราต้องหาวิธีดึงออกก่อน ทุกข์มันมาแล้ว

เพราะฉะนั้นอยากจะบอกว่ามันไม่ต้องไปหาทุกข์มาก แล้วก็ไม่ต้องไปหาสุข คือไม่ต้องไปบังคับอะไรเลย ขออย่างเดียวตั้งคำถามให้ถูก และตั้งคำถามให้มากขึ้น ไม่ ใช่แบบใครพูดอะไรก็เชื่อไปหมด เห็นอะไรในทีวีก็ตามไปหมด ตั้งคำถามแล้วปัญญาจะเกิด หาข้อมูลเพิ่มเติม ใช้หลักกาลามสูตร ไม่ใช่เชื่อทันที เพราะเชื่อทันทีนี่มันเสียสมอง สมองมีไว้เพื่อถาม ไม่ได้มีไว้ให้คนเอาอะไรมาเทใส่ โดยสรุปคนไทยเราก็สุขจากความสบายเหมือนกับคนทั่วโลกนั่นแหละครับ เพียงแต่ว่าถ้าเราอยากจะสุขแบบยั่งยืนมากกว่านี้ก็ขอให้ตั้งคำถามมากกว่านี้ เพราะเราจะมีทั้งความสุขและปัญญา

เคยมีคนทำการศึกษามุมมองความสุขของคนไทย ส่วนใหญ่บอกว่าคนที่มีความสุขคือคนที่ไม่คิดอะไร?

ผมอยากจะฝากไว้อย่างนี้ครับ การไม่คิดอะไรน่ะสุขชั่วคราวแต่ทุกข์นาน สมมติหัวหน้ามาว่าผมว่า ไอ้ขุนเขาแกนี่เป็นคนที่ทำงานได้ห่วยแตกมากเลยนะ ถามว่าวิธีที่ผมจะไม่ทุกข์ทำได้ยังไง ก็ไม่ต้องคิด ช่างมัน ปล่อยๆๆ ถามว่าความสุขเกิดทันทีมั้ย ก็เกิดนะ เพราะว่าเราปล่อยได้เลย แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ครับ ปัญหาอยู่ที่มันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะเราก็ห่วยเหมือนเดิม หัวหน้าก็แย่เหมือนเดิม แล้วเราก็จะโดนด่าอีก การปัดปัญหามันเหมือนเอาหินทับหญ้า เปิดมาหญ้าก็ยังโต จนวันหนึ่งหญ้ามันเต็มสนามไปหมด คราวนี้ยากละ

การที่คิดว่าเออ...หัวหน้าด่า ช่างมัน เขาก็ด่าทุกคนแหละ เราก็เลยไม่ได้ปรับปรุงตัวเอง คราวนี้สมมติว่าเราโดนอีก ก็คิดแบบเดิมอีก อ๋อเขาคงเขาเกลียดเรามั้ง เราสวยกว่าเราหล่อกว่า เขาเป็นคนปากไม่ดีเอง อย่าไปคิดมาก วันหนึ่งบริษัทล้ม หัวหน้าคนนี้ออก แล้วเราต้องไปสมัครงานที่อื่น ระดับสติปัญญาของเราตอนที่บริษัทล้มกับตอนที่หัวหน้าด่าเราเมื่อสามปีก่อนก็ยังเท่าเดิม เพราะเราปัดปัญหา สิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาคือปัญหาเท่านั้น ไร้ปัญหานี่ไร้ปัญญานะครับ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราปัดปัญหาคือปัดปัญญา พอเราไปสมัครงานที่อื่นปัญญาเราอยู่ที่เดิม เขาก็ไม่รับสิ คราวนี้ทุกข์เลย งานไม่มี เงินไม่มี อาจจะเป็นหนี้อีก คราวนี้ไม่คิดไม่ได้แล้ว

คนที่ปัดปัญหาอาจจะสุขชั่วคราว แต่จะทุกข์นาน ทุกข์ยาว แต่ถ้าคนคนนั้นเปลี่ยนใหม่ หัวหน้าด่า ใช่ เขาอาจจะเป็นคนปากไม่ดี แต่เราก็ปรับปรุงตัวได้นะ ดูสิเราทำอะไรผิด ทำงานช้า ทำงานไม่เรียบร้อย ปรับๆๆ คือไม่หนีปัญหา สุดท้ายก็จะพัฒนาขึ้นฉลาดขึ้น ต่อไปหัวหน้าปากไม่ดีถูกไล่ออก แต่เราทำงานดีมีปัญญาเราก็ได้เป็นหัวหน้าแทน หรือบริษัทเกิดล้ม เราทำงานเก่งพอร์ตดี ไปทำงานที่ไหนใครก็รับ คราวนี้แหละความสุขยาวนาน เพราะฉะนั้นไม่คิดมากน่ะได้ แต่จำไว้เถอะครับคนที่ไม่คิดมาก ก็จะทุกข์มากในภายหลัง

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่แต่ต้องมาพูดเรื่องสุขทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิตพอสมควร เคยมีคนตั้งคำถามไหม

ประจำ เขาไม่พูดกับเราโดยตรง แต่เรารู้ บางคนก็บอกว่าอายุแค่นี้จะไปเข้าใจความรักได้อย่างไร เราเข้าใจแล้วก็ไม่ว่าเขา หนึ่งคือการโกรธไม่ช่วยแก้ปัญหา เราต้องรู้ว่าถ้าเราอายุ 50 แล้วมีคนอายุ 23-24 มาพูดให้ฟังเรื่องชีวิต เราก็คงรู้สึกเหมือนกัน แต่สิ่งที่ผมทำคือผมจะบอกเสมอว่า สิ่งที่ผมเอามาให้ อย่าดูแค่ว่าใครเป็นคนให้ แต่ให้ดูว่าสิ่งที่กำลังให้คืออะไร เอาไปใช้ได้จริง ช่วยได้จริงผมก็ดีใจ แต่ถ้าเอาไปใช้ไม่ได้จริง ช่วยไม่ได้จริง ต่อให้คนพูดอายุ 50 ล้านปีก็ไม่มีค่า แต่ถ้าคนพูดอายุ 15 ขวบ ถ้าเขาพูดความจริง มันก็มีค่า ผมว่าอาหารที่มีคุณค่ามันไม่ได้จำเป็นว่า คนเสิร์ฟคือคนที่ทำงานมา 50 ปี หรือ 5 วัน ถ้าอาหารมีค่า เขาเสิร์ฟ แล้วคุณกิน คุณเคี้ยว คุณกลืน คุณก็จะได้คุณค่าจากมัน ถ้าคุณไม่กิน ไม่เคี้ยว ไม่กลืน คนอายุ 500 ล้านปีมาเสิร์ฟคุณก็ไม่ได้อะไร

สองก็คือพิสูจน์ตัวเอง พิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้ว ความแก่มันไม่ได้อยู่ที่อายุ ความอาวุโสมันไม่ได้อยู่ที่คุณอยู่บนโลกใบนี้มากี่ปี แต่มันอยู่ที่คุณมีอะไรในสมองบ้าง คน อายุเยอะแต่มีอะไรในสมองน้อยก็มีเยอะ ซึ่งไม่ได้ไปว่าเขานะ มันคือ Fact ส่วนคนที่อายุน้อย แล้วฉลาด ฉลาดกว่าผมมากมายก็มีเยอะแยะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เราโตมันไม่ใช่อายุ มันคือการตั้งใจเรียนรู้จากประสบการณ์ คนเรายิ่งตั้งใจเรียนรู้จากประสบการณ์มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งโต และเมื่อเราโต เราถึงจะช่วยคนอื่นได้ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรามีรอยตีนกาอยู่บนหน้ากี่รอย

คุณวางเป้าหมายในชีวิตของตัวเองไว้อย่างไร

ผมกำหนดไว้อย่างนี้เลยครับว่าจะให้เรื่อยไป เพื่อความสุขและความรักทุกวัน เพราะว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขเช่นกัน เป้าหมายจริงๆ คืออยากทำให้คนเข้าใจตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกงานที่ผมทำไม่ว่าจะเป็นงานเขียน บรรยาย หรือว่าสัมภาษณ์ มันจะเป็นงานที่มีหัวใจหลักอยู่อันเดียวคือให้คนเข้าใจตัวเองมากขึ้น พอคนเข้าใจตัวเองเขาจะเข้าใจคนอื่น เมื่อเขาเข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่น คราวนี้ความสุขมันจะมา เราไปบังคับให้คนมีความสุขไม่ได้ ความสุขเหมือนต้นไม้ เราบังคับให้มันโตไม่ได้ ความสุขมันต้องเกิดจากการปลูก เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องให้ความจริง เราต้องให้โอกาสที่เขาจะได้เข้าใจตัวเอง แล้วพวกนี้มันจะเป็นเหมือนแสงแดด น้ำ ปุ๋ย ดิน แล้วความสุขมันจะเติบโตจากตรงนั้น

ในช่วงเวลาของการคืนความสุขส่งท้ายปลายปีอย่างนี้อยากฝากอะไรถึงผู้อ่านไหมคะ

ความสุขมันถูกคืนมาไม่ได้ครับ เพราะจริงๆ มันอยู่ในตัวเราตลอด ไม่มีใครจะคืนความสุขให้เราได้ถ้าเรายังไม่เข้าใจความจริง ไม่มีธนาคารไหนเอาความสุขเราไปเก็บไว้ ไม่มีโจรคนไหนเอาความสุขเราไปซ่อน ไม่มีอาจารย์คนไหนแอบเอาความสุขเราหนีไปอยู่ภูเขา มันอยู่กับเราเสมอ ถามว่าอะไรที่ทำให้เราหามันไม่เจอและมองมันไม่เห็น อวิชชา ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะได้รับความสุขคืนมา ไม่ต้องไปวิ่งหาที่เวนิซ หรืออินเดีย คืออยากไปก็ไปนะครับไม่ได้ว่า แต่ความจริงก็เหมือนคำพูดของเซนที่ว่า ปรัชญาเซนอันเดียวที่คุณจะเจอบนภูเขา ก็คือปรัชญาเซนที่คุณนำขึ้นไปบนภูเขาพร้อมกับตัวคุณ

เพราะฉะนั้นทุกสิ่งบนโลกมันทำได้แค่กระตุ้นให้เรามีความสุข แต่ความสุขที่ถูกกระตุ้นมันอยู่กับเราเสมอ ขอให้ถามคำถามเยอะๆ ถามให้ถูก ถามอย่างมีปัญญา อย่าหยุดที่จะศึกษา และอย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วสวรรค์มันไม่ได้อยู่ในมือของใคร มันอยู่ในมือเรา และคนเดียวที่จะคืนความสุขให้เราได้ก็คือใจที่เข้าใจความจริง