'นายพล'ทะลักกองทัพ

'นายพล'ทะลักกองทัพ

"นายพล" ทะลักกองทัพ ได้เวลาปฏิรูปความมั่นคง

ดูเหมือนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้เร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศเกือบทุกด้าน แม้จนถึงขณะนี้ยังยากที่จะมองเห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะรายชื่อว่าที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่หลุดออกมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทว่า คสช.และรัฐบาลก็สร้างฝันให้กับประชาชนคนไทยทั่วประเทศว่า บ้านเมืองจะดีขึ้น กลับมาสงบและสันติสุขเหมือนเก่าหลังการปฏิรูปเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อพลิกดูรายละเอียดการปฏิรูป กลับไม่พบประเด็น "ปฏิรูปกองทัพ" หรือเรียกรวมๆ ว่าการ "ปฏิรูปงานด้านความมั่นคง" อยู่ในแผนการหรือพิมพ์เขียวการปฏิรูปฉบับใดๆ ทั้งที่การ "ปฏิรูปนโยบายความมั่นคง" เป็นสิ่งจำเป็นมากในการสร้างความปรองดองให้กับประเทศ หลังจากเกิดความขัดแย้งถึงขั้นเลือดตกยางออกกันกลางเมือง

เพราะ "ทหาร" หรือ "กองทัพ" มักมีส่วนร่วมอยู่ในวงขัดแย้ง หรือไม่ก็เป็นคู่ขัดแย้งเสียเองในหลายๆ กรณี ประสบการณ์จากต่างประเทศก็ปรากฏเป็นบทเรียนอยู่

ทว่าบ้านเรากลับไม่พูดถึงประเด็นนี้เลย ทั้งๆ ที่มีปัญหามากมายปูดออกมาให้เห็น ที่ชัดๆ ก็คือ จำนวนนายพลในกองทัพที่มีมากขึ้นอย่างน่าตกใจ

บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลวาระประจำปี 2557 มีชื่ออยู่ในบัญชีถึง 1,092 คน นั่นคือนายพลเก่าและนายพลใหม่ (ขยับจากระดับพันเอกพิเศษขึ้นมา) รวมกัน แต่ยังไม่นับรวมนายพลที่ไม่ได้ขยับย้ายไปไหน ประเมินกันว่ารวมๆ แล้วน่าจะมีนายพลจากทุกเหล่าทัพมากถึง1,500-2,000 คน

ขณะที่ "พลเอก" น่าจะมีร่วมร้อย!

ย้อนดูจำนวนนายทหารชั้นนายพลในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายวาระประจำปีย้อนหลัง 5-6 ปีก็จะเห็นความผิดปกติ โดยในปี 2552 มีนายพลในบัญชีรายชื่อ จำนวน 568 คน ปี 2553 ลดลงเล็กน้อยเหลือ 530 คน ปี 2554 ขยับขึ้นเป็น 584 คน จากนั้นปี 2555 ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 811 คนตามด้วย 861 คนในปี 2556 และพราวขึ้นถึงหลักพันในปี 2557 ที่จำนวน 1,092 คน

นับจากปี 2554-2557 มีนายพลในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว!

แน่นอนว่านายทหารยศ "พลเอก" ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของ พล.ต.ธวัชชัย นาควานิช บิดาของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) นั้น พล.ต.ธวัชชัย เมื่อครั้งยังมีชีวิต ได้เขียนบันทึกอัตชีวประวัติของตนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า "ปี 2518 ผมได้รับพระราชทานยศเป็นพลตรี ตอนนั้นมีพลเอกแค่ 5 ท่านเท่านั้นที่เรียกกันว่า 5 เสือ แต่ถ้ารวมที่แต่งสีเขียวแล้วไปสังกัดในหน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวงกลาโหมก็ไม่น่าจะเข้าแถวแล้วเกิน 1หมู่ปืนเล็ก

พ.ศ.2538 ผ่านมา 20 ปี เอกสารที่ศูนย์ประสานงานฯ แจ้งรายชื่อนายพลที่เกษียณมาให้ทราบ มีพลเอกเกษียณเกือบ 2 หมู่ปืนเล็กแล้วไม่นับเหล่าทัพอื่น ถ้านับด้วยก็คงจะเข้าแถวได้ 1 หมวดแล้ว"

ข้อความในบันทึกนี้สะท้อนการเติบโตของกองทัพเอาไว้อย่างเห็นภาพ พูดง่ายๆ คือปี 2518 กองทัพบกไทยมี "พลเอก" แค่ 5 คน แล้ววันนี้เกิดอะไรขึ้น?

แม้ที่ผ่านๆ มากระทรวงกลาโหมมีนโยบายลดขนาดกองทัพมาโดยตลอด โดยเฉพาะสมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เคยมีนโยบายที่เรียกกันติดปากว่า "จิ๋วแต่แจ๋ว" แต่ไฉนกำลังพล โดยเฉพาะชั้นนายพล จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข่าวระดับสูงในกองทัพ เผยว่า ตั้งแต่หมดยุคสงครามเย็น หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไม่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์และแทบไม่มีสงครามตามแนวชายแดนเกิดขึ้นแล้ว กองทัพทั่วโลกจึงลดขนาดกำลังพลลง หรือเรียกว่า ดาวน์ไซซิ่ง (Downsizing )

เช่น เยอรมนี ต้องเร่ขายรถถัง เรือดำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์อีกหลายอย่างจนแทบไม่เหลืออยู่ในกองทัพ ส่วนประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีกำลังพลน้อยมาก คือมีประมาณ 9 พันคน จากจำนวนประชากร 4.5 ล้านคน หรืออย่างกองทัพอังกฤษ ก็ลดกำลังพลลงมากเช่นกันด้านหนึ่งก็เพื่อประหยัดงบประมาณที่หมดไปอย่างมหาศาลด้วย

แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย!

"ทำไมประเทศอื่นถึงมีนายพลไม่เยอะเหมือนไทย คำตอบง่ายๆ ก็คือในการเลื่อนขั้นหรือตำแหน่ง เขามีระบบการประเมินทั้งเรื่องงานและสมรรถภาพร่างกาย มีคณะกรรมการคัดกรองพิจารณาอย่างเป็นหลักเป็นฐาน สมมติจบจากโรงเรียนนายร้อยมา พอยศถึงร้อยเอก จะขึ้นเป็นพันตรี ก็ต้องผ่านระบบการประเมินที่เข้มข้น ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งถูกคัดออก เช่นเดียวกัน พอพันโทจะเลื่อนเป็นพันเอก ก็จะมีระบบการประเมินอีก และจะมีกำลังพลส่วนหนึ่งต้องออกไป แต่บ้านเราไม่มี"

"หากมองภาพโครงสร้างกองทัพของประเทศอื่น จะเป็นเหมือนปิระมิด ส่วนยอด หรือ นายพล จะมีอยู่น้อยที่สุด แต่ประเทศไทยไม่เป็นอย่างนั้น อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาไม่แพ้กันก็คือ กองทัพแทบไม่มีระบบจ้างงานจากหน่วยงานภาคนอก หรือ Outsourcing เลย ทั้งๆ ที่ภารกิจบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง กองทัพประเทศอื่นเขาผ่องถ่ายไปให้เอกชนทำ หรือจ้างพลเรือนเข้ามาทำงานแทนหมดแล้ว" แหล่งข่าวในกองทัพระบุ

อีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาไม่แพ้ส่วนอื่น คือ กองบัญชาการกองทัพไทย หรือกองบัญชาการทหารสูงสุดเดิม แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกว่า จัดเป็นหน่วยงานที่อุ้ยอ้ายมากที่สุด ทั้งๆ ที่หากย้อนดูประวัติศาสตร์ กองบัญชาการทหารสูงสุดก่อตั้งโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อทำหน้าที่บัญชาการรบเมื่อต้องใช้กำลังพลจาก 2 เหล่าทัพขึ้นไป ถือเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจในยามสงคราม

"สมัยก่อน บก.สส. (กองบัญชาการทหารสูงสุด) เป็นหน่วยงานเล็กๆ ใช้งบประมาณน้อยมาก จะสูบลมเข้าไปเมื่อยามศึกสงครามเท่านั้นผิดกับปัจจุบันที่หน่วยได้ขยายตัวใหญ่โต ครอบทั้ง 3 เหล่าทัพ เช่นเดียวกับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีกำลังพลเยอะมาก นายพลแทบจะเดินชนกัน ทั้งๆ ที่ภารกิจที่รับผิดชอบส่วนใหญ่ก็ซ้ำซ้อนกับกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.สส.เดิม)"

จากปัญหาหลากหลายมิติดังกล่าว ทำให้วันนี้กองทัพไทยมีนายพลมากที่สุดในเอเชีย และอาจมากที่สุดในโลก เมื่อนายพลเยอะ งบประมาณที่ใช้ก็สูงตาม เพราะงบกองทัพในภาพรวมประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเงินเดือนของข้าราชการทหารอยู่แล้ว เหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้สำหรับทำงานจริงๆ

ขณะที่นายพล 1 คน นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังมีสิทธิพิเศษเรื่องบ้านพัก ทหารติดตาม ทหารรับใช้ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิขอไปทัศนศึกษาต่างประเทศ ฉะนั้นนายพลยิ่งเยอะ งบประมาณที่ใช้ยิ่งแยะ

คำถามคือ วันนี้เราคิดจะปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระทรวงกลาโหม และปฏิรูปนโยบายความมั่นคงกันบ้างหรือยัง!