นักล่า"นัมเบอร์วัน" ฝ่าพงหนามบุกพม่า

นักล่า"นัมเบอร์วัน" ฝ่าพงหนามบุกพม่า

พม่าดินแดนที่รอFirst Moverกอดโอกาสสดใหม่มหาศาล ทว่ารอบทิศ360องศาเต็มไปด้วยเส้นทางวิบากร่วมไขวิถีรุกธุรกิจพม่า

นาทีนี้ใครไม่ไปพม่า ถือว่าตกขบวนรถไฟความเร็วสูง !!

นักลงทุนจากทุกมุมโลกแห่แหน ห้อมล้อมตักตวงโอกาส หลังการเปิดประเทศ

ทำให้สาวน้อยประแป้งทานาคา ชายหนุ่มนุ่งโสร่ง วันนี้เริ่มมีฐานะ และรู้จักการบริโภคสิ่งแปลกใหม่ กลายเป็น "จุดเปลี่ยน" สำคัญของดินแดนที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แห่งนี้

สำทับด้วยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ศึกษาร่วมกับศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า โครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจในพม่าจะทำให้พม่าเปลี่ยนจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม ภายใน 20-30 ปีจากนี้ จากปัจจุบันสัดส่วนคนในภาคเกษตรมีถึง 70%

ขณะเดียวกัน ยังคาดว่า รายได้ประชากรพม่าจะเพิ่มเป็น "เท่าตัว" ภายใน 10 ปี จากที่ไม่ถึง 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี (ราว 49,000 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) จะขึ้นไปแตะ 2,000-3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี (66,000-99,000 บาท)

นั่นเท่ากับว่า อัตราการบริโภคจะเร่งตัวขึ้นมหาศาล

หลังจากคาดการณ์ว่าการถาโถมของทุนเข้าสู่พม่าจะดันผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8 %

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดการณ์ว่าในปี 2573 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศพม่าจะขยายตัวขึ้นมามีมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อจะเพิ่มจากกลุ่มย่อย 2.5 ล้านคน ขยายเป็น 19 ล้านคนในปีเดียวกัน

ส่องดูมูลค่าการซื้อสื่อโฆษณาในพม่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2550-2555 ) พบว่า เติบโตขึ้นมาถึง "6 เท่า" จากมูลค่า 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับขึ้นมาถึง 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี 2555

เห็นแต่ทิศทางการพัฒนาในเชิงบวกในพม่า ทว่าปัญหาหลากหลายยังซ่อนไว้ใต้พรม จากความโหดหินนานัปการ จนพม่าถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศ ที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจรั้งอับดับท้ายของโลก อยู่ที่อันดับ 182 จาก 189 ประเทศ (Ease of doing business index by World Bank 2013 )

ยากแต่ก็ต้องไปดักโอกาส !!

การย่างเท้ายึดหัวหาดพม่า จึงต้องไปพร้อมกับแผน "บริหารความเสี่ยง" ที่เข้มข้น จากข้อจำกัดที่มาพร้อมโอกาส (Threat & Opportunity) กูรูหลายท่านบอกเลยว่า จงไปอย่ารีรอ แต่ต้องไปอย่างสุขุม มีสติ ใจเย็น อดทน พิจารณาให้ถ้วนถี่กับโจทย์หินที่ยุ่งยากกว่าเมืองไทยหลายเท่านัก

ศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการระดับสูง กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ ) วิเคราะห์ว่า แม้ว่าที่ผ่านมาทุนไทยจะเป็นทุนต่างชาติที่มีมูลค่าการลงทุนสะสมในพม่า มากเป็นอันดับ 2 ทว่าในขณะนี้อันดับการลงทุนไทยกลับถอยร่นมาอยู่ใน "อันดับ 6" เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นสองชาติที่สาวเท้าเข้าไปลงทุนในพม่ากันยกใหญ่ ขณะที่สหรัฐ อังกฤษ และอีกหลายชาติในยุโรป ก็ไม่ยอมตกขบวนรถไฟฟ้าความเร็วสูง เช่นกัน

อันดับ 1 ยังเป็นจีน อันดับ 2 สิงคโปร์ อันดับ 3 เกาหลี อันดับ 4 เวียดนาม และอันดับ 5 คือ อังกฤษ

ทว่า "สวยเลือกได้" อย่างพม่า ไส้ในยังเต็มไปด้วยความไร้เดียงสา ความซับซ้อนของกฎระเบียบหยุ่มหยิม จิปาถะ

“ต้องดีลกับหลายหน่วยงานไม่พม่าไม่ต่ำกว่า 7-8 หน่วยงาน เพราะพม่าไม่ทันสมัยแบบตั้งศูนย์รับลงทุนเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งกิจการ อาทิ กฎหมายสิ่งแวดล้อม แรงงาน และการจดทะเบียน ก็ต้องไปว่ากันไปเป็นเรื่องๆ"

++ฝ่าด่านอรหันต์กม.50ฉบับล้าสมัย

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้า ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ข้อมูลด้านการลงทุนในต่างประเทศ ฝังตัววิจัยในพม่าไม่ต่ำกว่า 7 ปี เล่าให้ฟังถึงความซับซ้อนของกฎหมายที่ล้าสมัยของพม่าว่า พม่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลงทุนถึง 50 ฉบับ โดยแต่ละกิจการที่เข้าไปลงทุนต้องใช้เวลาศึกษากฎหมายทุกฉบับให้ละเอียด หากไปลงทุนด้านอาหารทะเล ก็ต้องเข้าใจกฎหมายด้านการประมง สิ่งแวดล้อม แรงงาน ฯลฯ

หลายกิจการเข้าไปทำธุรกิจในพม่า จึงต้องใช้บริการ "ที่ปรึกษาการลงทุน" เขายังระบุว่า อัตราค่าจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในพม่าสูงถึง 50,000 -60,000 บาท หรืออาจสูงถึง 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับแต่ละกิจการ

“หากใครไม่ต้องการเสียเวลาเป็นปีกว่าจะไปขึ้นทะเบียนขอจัดตั้งกิจการตามกฎหมายแต่ละฉบับได้หมด ขอแนะนำให้จ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำเรื่องพวกนี้ให้ แต่มีข้อเสียตรงที่เราไม่รู้กฎหมายพม่าอาจจะเป็นปัญหาในภายหลังได้" ดร.อัทธ์ แนะ

++สารพัดดงหนามปลุกปั้นธุรกิจ

ดร.อัทธ์ ยังเล่าว่า การทำธุรกิจในพม่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แค่การ "หาข้อมูล" ก็ยิ่งกว่า "งมเข็มในทะเลทวาย" หลายข้อมูลที่อยู่บนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานราชการในพม่าส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ไม่ทันสมัย ส่วนกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ที่อยู่ภายในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ใช้กฎหมายคนละฉบับ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ได้เอื้ออำนวย ต้นทุนการเริ่มต้นแพงไปทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟ ค่าน้ำประปา ราคาที่ดิน เรียกว่า "แพงทั้งแผ่นดิน"

ส่วนนักลงทุนที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ที่หวังจะไปหาตลาดใหม่กับประชากรกว่า 60 ล้านคนในพม่า ก็พบอุปสรรคตรงที่ขาด "ข้อมูลการตลาด" ที่ชัดเจน ตั้งแต่ราคาสินค้า ค่าขนส่ง จนถึงกำลังซื้อ ที่ไม่มีมาตรฐานอ้างอิงราคาไว้เลย ไม่นับอุปสรรคในการกระจายสินค้าตั้งแต่โรงงานกว่าจะถึงมือผู้บริโภค

ดังนั้น สิ่งที่ทุนใหม่จะ "ติดปีก" ธุรกิจ จึงอยู่ที่การศึกษาข้อมูลจาก "ผู้บุกเบิก" ถอดประสบการณ์จากผู้ลุยก่อน เป็นบทเรียน

นอกจากนี้ วิธีสะเดาะกลอนประตูพม่าอย่างรวดเร็ว คือการอาศัย "พันธมิตรร่วมทุน" เพื่อนคู่คิดชาวพม่าไปตะลุยตลาด

ทว่า “พูดง่าย แต่ทำยาก” ที่จะเจอคนที่ใช่ !!

"หากไม่รู้จักใครเลยในพม่า ก็ต้องเดินทางไปยังสมาคมการค้าพม่า เช่น จะไปลงทุนธุรกิจข้าวก็ต้องไปพบสมาคมข้าวพม่า หรือไม่ก็ไปที่สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพพม่า (UMFCCI - Republic of the Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry) เป็นต้น"

ดร.อัทธ์ ยังบอกว่า คู่ชีวิตทางธุรกิจที่เหมาะกับเราไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว ควรเริ่มดูใจกันจากส่งสินค้าไปให้พันธมิตรขายก่อนเพื่อวัดกระแส หากไปกันรอดค่อยมาคุยเพื่อยกระดับธุรกิจไปสู่ "การลงทุน"

ช่วงลงทุน หากใครกลัวพันธมิตรหลอกลวง ในช่วงที่จดทะเบียนร่วมทุนควรจะ "ทำสัญญา" โดยให้คณะกรรมการด้านการลงทุนพม่า (Myanmar Investment Committee) รู้เห็น ดีกว่าแอบตกลงกันโดยไม่มีหลักฐานหรือกลไกกฎหมายมารองรับ

ลงลึกไปถึงกิจการที่น่าลงทุน เขาแนะว่า ไม่ควรเป็นกิจการที่ไปชนทุนหนาจากต่างประเทศ แต่ต้องเป็นกิจการที่คิดว่า "เจ๋งจริง" หรือแกร่งพอที่จะนำความรู้ไปสอนพันธมิตรพม่า เช่น ไปลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารต่อยอดทรัพยากร หรือวัตถุดิบภายในประเทศพม่า เช่น ฟาร์มเฮาส์ นำเทคโนโลยีการผลิตขนมปังจากข้าว ไปเปิดตลาดที่นั่น

หรือแม้กระทั่งการออกแบบเสื้อผ้า เพราะพม่ายังไม่มีพื้นฐานการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ดีพอ ยังไม่มีดีไซน์ หรือธุรกิจที่เพิ่มฝีมือแรงงาน เช่น สถาบันการโรงแรม ของโรงแรมดุสิต หรือการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า มือถือ ล้วนเป็นโอกาสในพม่า

ดร.อัทธ์ แนะว่าธุรกิจที่ไปแล้วรุ่งแน่นอน นั่นคือ ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะพม่าเปิดประเทศทำให้ความต้องการเดินทางมีมาก รัฐบาลจึงเปิดทางให้ต่างชาติลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้ 100 % โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเข้าไปในพม่าเพิ่มขึ้นเป็น 100% จาก 3 ล้านคนเพิ่มเป็น 6 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร จนถึงภาคขนส่ง มีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

++มัณฑะเลย์เมืองแห่งการลงทุน

ดร.อัทธ์ ยังแนะนำโซนที่ควรเข้าไปลงทุนควรเป็นเมืองที่มีตลาดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต เช่น มัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ในพม่า และยังเป็นเส้นทางผ่านในการขนส่งสินค้าเชื่อมไปยังจีน

ส่วนเมืองย่างกุ้ง แนะนำให้ไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม "ทิลาวา" ที่จะสร้างเสร็จในปี 2558 รวมถึงเมืองที่ติดชายแดนไทย เช่น เมียวดี ที่อยู่ตรงกันข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก และเมาะละแหม่ง หรือ หงสาวดี ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยไม่เกิน 200 กม. ซึ่งจะประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้า

มาณพ เสงียมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ อธิบายถึงความเสี่ยงที่มีมากพอๆ กับโอกาสในพม่าว่า สำหรับผู้ที่เข้าไปทำธุรกิจในพม่า ที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2558 เขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลพม่าจะมีผลต่อนโยบายในอนาคต ที่ยังไม่มีใครตอบได้ ขณะเดียวกัน พม่ายังมีสัดส่วนชนกลุ่มน้อยอยู่ถึง 60% หากยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำของประชากรได้ ก็อาจจะกระทบมาถึงการค้าและการลงทุนในอนาคต

นอกจากนี้ที่ดินในพม่ายังมีราคาแพง เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือรัฐบาลและเศรษฐีพม่า ที่ดินยังไม่ค่อยเปลี่ยนมือเมื่อเทียบกับความต้องการที่ดินที่มีมากขึ้น โดยราคาที่ดินในพม่าบางแห่งมีราคาสูงกว่าย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ เช่น ที่ดินกลางเมืองมูลค่าสูงถึงตารางฟุตละ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ (ตกอยู่ที่ตารางวาละ 2.3-2.4 ล้านบาท) ส่วนที่ดินที่ถอยร่นจากกลางเมือง ระดับราคาจะอยู่ที่ตารางฟุตละ 1,000-1,800 ดอลลาร์สหรัฐ (ตารางวาละ 1-2 ล้านบาท) หรือหากไกลออกมาอีกก็จะตกตารางฟุตละ 400-500 ดอลลาร์สหรัฐ (ตารางวาละ 6-7 แสนบาท)

นอกจากนี้ อีกปัญหาที่ทุนต่างชาติต้องเผชิญ คือ "ระบบการเงิน" ในพม่า โดยปัจจุบันธนาคารอยู่ในพม่า ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสำนักงานตัวแทน ที่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ดังนั้นธนาคารไทยทั้ง 4 แห่งที่ไปตั้งสำนักงานตัวแทน จึงทำได้เพียงที่ปรึกษาทางธุรกิจ จับคู่ธุรกิจ (Matching) และคอยประสานงานกับธนาคารในพม่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินกับธนาคารในพม่าสูงถึง 13%

อีกคำถามที่นักธุรกิจถามกันมากที่สุด คือ การโอนเงินกลับประเทศ เนื่องจากกังวลว่าประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหารมานาน จะทำให้โอนเงินกลับประเทศลำบาก คำตอบคือสามารถโอนเงินกลับประเทศได้ เพียงแต่ต้องยื่นผลประกอบการบัญชีให้เสร็จสรรพหลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่าย หากเหลือเป็นกำไร ก็สามารถโอนเงินกลับประเทศได้

+++++++++++++++++

First Mover สู่ Big Connector

ณัฐวิน พงศ์เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Tharaphu De’cor จำกัด เล่าถึงระยะเวลา 40 ปีของการเริ่มฝังตัวกับกลุ่มธุรกิจสัมปทานไม้สัก โดยรับซื้อไม้สักจากเมียนมาร์มาแปรรูปโรงงานในไทยและมาเลเซีย ดำเนินกิจการต่อเนื่องมาตลอด จนสร้างสายสัมพันธ์กับคนพม่า

“นึกถึงไทยเมื่อ 20-30 ปีก่อนว่าช่วงที่ไทยเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมเราขาดอะไรก็นำสิ่งนั้นมาเติมเต็มในพม่า" นี่คือแท็กติก

คิดได้ดังนั้น ก็แตกธุรกิจออกไปหลายขา อาทิ ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้านจากไม้ อาทิ แบรนด์ Sesia, Classic Chair, Schanadig, Pierre Philipper พร้อมกับรับตกแต่งภายใน เน้นงานโครงการที่กำลังก่อสร้างจำนวนมาก ทั้งคอนโดมิเนียม โรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ที่กำลังบูมมากในพม่า ,ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และไอที วางระบบไอที เชื่อมต่อดาวเทียม และจำหน่ายอุปกรณ์ไอที ซอฟท์แวร์

การแตกไลน์สู่ธุรกิจสื่อ เปิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อ “Myanmar Business Today” ธุรกิจครบวงจรที่รวมถึงการจัดกิจกรรมทางการตลาด และธุรกิจกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ ในกลุ่มสินค้าเคลื่อนที่เร็ว (FMCG-Fast Moving Consumer Goods) โดยร่วมทุนกับพันธมิตรพม่าและในไทย ได้แก่ บริษัท เพนส์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ ดีสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของ ดร.เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ อดีตผู้บริหารในเครือสหพัฒน์ และธุรกิจความงามโดยจับมือกับนิติพลคลินิก เปิดสาขาในพม่าแล้ว 2 แห่ง

เมื่อรุ่นลูก คือ ณัฐวิน เข้าไปสานต่อธุรกิจรุ่นพ่อเปิดทางธุรกิจในพม่า จากจุดแข็งของการเป็นที่รู้จักและไว้วางใจในพม่า จึงพัฒนาต่อยอดธุรกิจไปสู่แขนงอื่นๆ จนกระทั่งปัจจุบันพม่าเปิดประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น เป็นเวลาเดียวกับที่พม่าเริ่มห้ามส่งออกไม้สัก

สิ่งสำคัญสำหรับพม่า คือการเสริมพลังซึ่งกันและกัน ความโดดเด่นของบริษัทกับพันธมิตร บวกกับความต้องการในพม่า

เขายังบอกว่า คนพม่าจะว่าไปแล้วมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนไทย กลยุทธ์ดำเนินธุรกิจที่สำเร็จในเมืองไทย อาจใช้ไม่ได้กับคนพม่า ที่ยังยึดติดกับความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมทางสังคมและเคร่งศาสนา และยังมีลักษณะเฉพาะที่ไม่ไว้ใจใครง่ายๆ หากไม่รู้จัก

นี่คือเหตุผลที่เมียนมาร์สะดวกใจที่จะคุยกับเขาประเทศเพื่อนบ้าน มากกว่าฝั่งตะวันตก

+++++++++++++++++++++++++

แกะรอยเส้นทาง SMEs ตะลุยพม่า

นักธุรกิจไทยในสายตาพม่าที่แห่เข้าไปทำการค้าและลงทุนกันล้นหลาม จัดทริปทัวร์ธุรกิจกันกระหน่ำกันทั้งปี นั่นคือปรากฎการณ์ที่ชาวพม่าเห็นจนชินตา แต่ที่สุดแล้วกลับไม่มีอะไรในกอไผ่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังใจไม่ถึง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เว้นแต่บิ๊กธุรกินเงินหนาอย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ปตท. และเอสจีซี เป็นต้น

เหตุผลที่เอสเอ็มอีไทยส่ายหน้าก็คือ ที่ดินแพง เงินทุนไม่พอ กฎระเบียบยุ่งยาก ระบบสาธารณูปโภคไม่พร้อม กลัวถูกหลอก พร้อมกับ "มายาคติ" บนความเชื่อที่ว่า..ไม่มีเส้นสายรู้จักทหาร เข้าไปลำบาก

ในเรื่องนี้ วิชัย เข็มทองคำ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเรียลทัล ยูนิค จำกัด และที่ปรึกษาหอการค้าจ.ตาก เข้าไปทำธุรกิจในพม่ามาเกือบ 20 ปี เริ่มต้นจากการเปิดบริษัทการค้าระหว่างประเทศ(Trading) ก่อนที่พม่าจะไม่อนุญาตให้เปิดบริษัทเทรดดิ้ง แต่ช่วงวิชัยเข้าไปก่อน ทำให้มีเครือข่ายการค้า จนปัจจุบันปรับระดับสถานะบริษัทตัวเอง เป็นบริษัทรับทำตลาดประชาสัมพันธ์สินค้า สำหรับลูกค้าพม่าที่ต้องการสั่งซื้อสินค้าในไทย

“ลูกค้าพม่าในยุคนั้นสั่งซื้อสินค้าไทย และชำระเงินเป็นดอลล่าร์ เช่น วัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค ก่อนจะนำสินค้าไปจำหน่ายเป็นเงินจ๊าด นี่คือกลวิธีการตลาดในยุคพม่าปิดประเทศ” เขาเล่า

เขายังแนะนำคนที่จะเข้าไปลงทุนในพม่าว่า ต้องอดทนกับความไม่พร้อมหลายด้านในพม่า ตั้งแต่รูปแบบการปกครองที่ยังมีทัศนคติวิธีคิดในแบบทหาร เพราะคิดเรื่องความมั่นคงเป็นที่ตั้งแทนเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ต้นทุนการขนส่ง ราคาที่ดิน และสาธารณูปโภค เหล่านี้นำกลับมาคำนวณเป็นต้นทุนระยะยาว ที่ต้องนำมาคำนวณความคุ้มค่าการลงทุน

ขณะที่ ไกรเสริม โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ผลิตภัณฑ์กว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง "ปุ้มปุ้ย" และ "ปลายิ้ม" เข้าไปเปิดตลาดในพม่าในช่วงที่พม่าเปิดประเทศคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยหาพันธมิตรทางการค้า ที่รูปแบบค่อนข้างซับซ้อน โดยให้พันธมิตรเป็นผู้นำเข้าสินค้า จากนั้นบริษัทค่อยซื้อสินค้าคืน เพื่อนำจำหน่ายต่อในพม่า

กลยุทธ์การทำตลาดคือ การเข้าถึงผู้บริโภคในพม่าให้มากที่สุด ทั้งในห้าง ตลาด และร้านค้า โดยการแจกชิม เพื่อให้ชาวพม่าคุ้นเคยกับรสชาติ และเป็นการทดลองตลาด จนกระทั่งแบรนด์เริ่มคุ้นหู ติดปาก

เขายอมรับว่าการตะลุยตลาดพม่านั้นไม่ง่าย จากความไม่พร้อมทั้งที่พัก ไฟฟ้า บางครั้งต้องประชุมกันท่ามกลางความมืด หรือแม้กระทั่งการลงพื้นที่ ค่ำไหนนอนนั่น