สิงห์อมควันมีสิทธิ์ฟันร่วงมากกว่าคนทั่วไป

สิงห์อมควันมีสิทธิ์ฟันร่วงมากกว่าคนทั่วไป

กรมอนามัยเผยสิงห์อมควันเสี่ยงฟันหมดปากก่อนคนทั่วไป 2 เท่า แนะกินของขบเคี้ยว และออกกำลังกายแทน

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลสำรวจของกรมอนามัย ปี 2555 พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟันมากกว่าคนไม่เคยสูบบุหรี่ถึง 2 เท่า และแม้จะเลิกสูบบุหรี่แล้วต้องใช้เวลานาน 10-12 ปี ความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันจึงจะลดลงเท่าคนปกติ รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่นมีคราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนตัวฟันและวัสดุอุดฟันมีการเปลี่ยนสี รวมถึงช่องปากสกปรก และมีกลิ่นปากที่รุนแรง

“คราบบุหรี่ที่เหนียวเหมือนน้ำมันดินจะติดแน่นบนตัวฟัน การขัดออกเพื่อทำความสะอาดฟันต้องใช้เวลามาก ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคปริทันต์จะรักษา ไม่หายขาด อีกทั้งโรคยังจะลุกลามมากขึ้นจนต้องสูญเสียฟันไป ในผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก ถ้าไม่ยอมหยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่เบ้ากระดูกได้ง่าย การใส่รากฟันเทียมเป็นข้อห้ามในคนสูบบุหรี่ เนื่องจากโอกาสประสบความสำเร็จน้อยมาก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายซึ่งสูงมากโดยเปล่าประโยชน์” นพ.พรเทพกล่าว

ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทันตแพทย์มีวิธีการ 4 ขั้นตอนช่วยให้สามารถเลิกบุหรี่ ได้แก่ 1.ซักถามประวัติการสูบบุหรี่ ระยะเวลาที่ใช้บุหรี่เพื่อประเมินความยากง่ายในการเลิก 2.เป็นการจูงใจให้เลิกสูบบุหรี่ตามความพร้อมของแต่ละบุคคล ทันตแพทย์จะให้ผู้ป่วยได้เห็นผลของบุหรี่ต่อสภาพในช่องปากของตนเอง 3.เป็นการกำหนดวันเลิกบุหรี่ของผู้ที่พร้อมจะเลิก ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำวิธีเลิก การบำบัดอาการที่เกิดในระยะแรกของการเลิกบุหรี่ ผู้สูบจะมีอาการหงุดหงิด ซึ่งสามารถแก้ได้โดยการดื่มน้ำเย็นบ่อย ๆ ครั้งละ 1-2 แก้ว จะช่วยให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น นิโคตินจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว

“ในช่วงแรกของการเลิกสูบบุหรี่หากรู้สึกปากว่างให้กินของขบเคี้ยวที่ไม่ทำให้ฟันผุ เช่น มะนาวชิ้นเล็ก ๆ หมากฝรั่ง ยาเม็ดสมุนไพร กานพลู เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และงดดื่มสุรา ชา กาแฟ ซึ่งในช่วง 7 วันแรกควรมีการออกกำลังเพื่อทำให้ร่างกายผู้เลิกบุหรี่ฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะปอดจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เกิดจากความอยากสูบบุหรี่ได้” ทพ.สุธากล่าว