นิด้าแนะรัฐคืนข้าวชาวนา1.5เท่าเคลียร์หนี้

นิด้าแนะรัฐคืนข้าวชาวนา1.5เท่าเคลียร์หนี้

ผ่าทางตันปัญหาจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แนะคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า แก้ปัญหาไม่มีเงินเคลียร์หนี้

นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยแพร่บทความ "คืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า" เนื้อหาระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงทางตันเข้ามาทุกที แต่การที่รัฐบาลต้องเสียหน้าเพราะไม่มีเงินจ่ายชาวนาก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่ชาวนาต้องทนทุกข์จากการจำนำข้าวในโครงการของรัฐบาลแล้วไม่ได้เงิน ขณะนี้ มีข้อเสนอหลายทางในการช่วยเหลือชาวนา แต่ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอใดก็ดูเหมือนจะติดขัดเจอปัญหาไปซะหมด ผมขออาสาเสนอทางออกซึ่งมีบางท่านได้เคยพูดไว้บ้างแล้ว

แต่อยากแนะนำว่าเพิ่มเติมว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ข้อเสนอการ "คืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า" ถึงแม้จะมีจุดอ่อนบ้างแต่แทบจะเป็นทางออกเดียวที่ทำได้ในตอนนี้

การคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่านั้นหมายถึง การคืนข้าวในเชิงมูลค่า 1.5 เท่าของมูลค่าที่ชาวนาเอามาจำนำไว้ วิธีนี้ยืนอยู่บนหลักการสำคัญสองประการคือ ประการที่หนึ่ง เป็นการช่วยเหลือชาวนาบน “พื้นฐานเดียวกันกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล” เพราะโครงการจำนำข้าวนั้น รัฐบาลรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดประมาณ 50% เพราะฉะนั้นเพื่อให้ชาวนาได้รับผลตอบแทนประมาณเท่ากันกับชาวนาอื่นๆ ที่ได้รับเงินไปแล้ว การคืนข้าวให้ชาวนาก็ต้องคืนข้าวในมูลค่าเดิมที่ชาวนาเอามาจำนำไว้แล้วรัฐบาลบวกเพิ่มข้าวให้ชาวนาไปอีกคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 50% เมื่อชาวนาเอาข้าวทั้งหมดไปขายในราคาตลาดปกติก็น่าจะได้เงินกลับมาประมาณใกล้เคียงกันกับชาวนา

ก่อนหน้านี้ที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวแล้วรับเงินไปในราคาประมาณตันละ 12,000-13,000 บาท

ประการที่สอง การคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการเปลี่ยนสภาพ "ความเป็นเจ้าของข้าว" จากที่ปัจจุบันรัฐบาลเป็นเจ้าของข้าวแต่ฝากเก็บไว้ในโกดังของโรงสี กลายเป็นชาวนาเป็นเจ้าของข้าวของตัวเองแต่ก็ยังฝากเก็บไว้ในโกดังของโรงสีเช่นเดิม การกระทำเช่นนี้เป็นการพลิกผันที่สำคัญเพราะ

จะทำให้อำนาจการสั่งซื้อสั่งขายข้าวหลุดพ้นจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวมาโดยตลอด แล้วกลับเข้ามาอยู่ภายใต้กลไกตลาดเช่นเดิมซึ่งจะสามารถระบายข้าวได้ดีกว่ารัฐบาลทำ

การคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า จึงแทบเป็นทางออกเดียวที่จะทำได้ในขณะนี้ เพราะแนวทางอื่นนั้นเป็นการเดินเข้าสู่ทางตันทั้งสิ้นด้วยเหตุผลต่อไปนี้ การแก้ปัญหาไม่มีเงินจ่ายให้ชาวนาที่ผ่านมาเน้นกลไกทางการเงินเป็นหลัก โดยพ่อมดทางการเงินทั้งหลายพยายามหาวิธีหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาให้ได้ แต่การพลิกแพลงวิธีการทางการเงินเพื่อช่วยชาวนานั้นน่าจะมีปัญหาพื้นฐานสี่ข้อด้วยกัน ได้แก่ หนึ่ง ติดกรอบเพดานวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทเดิม ทำให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีกไม่ได้ สอง จากการเป็นรัฐบาลรักษาการ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถสร้างภาระหนี้ผูกพันเพิ่มเติมได้ สาม มีความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะยังคงดำเนินนโยบายจำนำข้าวอยู่หรือไม่ (หวังว่าไม่) และ สี่ รัฐบาล

ยิ่งลักษณ์ระบายข้าวได้ช้า ไม่มีจีทูจีจริง ไม่มีงบประมาณมาใช้เป็นเงินหมุนเวียน จึงทำให้ขาดสภาพคล่องเพื่อจ่ายเงินให้ชาวนา

จากเหตุผลทั้งสี่ประการนี้ จึงทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือและนำไปสู่ปัญหาการที่ไม่มีสถาบันการเงินใดประสงค์เข้าร่วมวิบากกรรมกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นใน

3-6 เดือนข้างหน้า เช่น หากสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้ ธกส. แล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้จะได้เงินคืนหรือไม่ เพราะสัญญาเงินกู้นั้นอาจถูกศาลตีความเป็นโมฆะ เพราะเป็นการทำสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการให้โรงสีรับจำนำใบประทวนในอัตราร้อยละ 50 แล้วรัฐบาลจะมาชำระเงินคืนให้ภายหลังก็เป็นเงื่อนไขที่ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีรัฐบาลใหม่ที่จะมาชำระหนี้ให้ แล้วดอกเบี้ยงวดต่อๆ ไปใครจะรับผิดชอบหากต้องรอไปนานเป็นปีๆ

อย่างลืมนะครับว่า สถาบันการเงินเหล่านี้ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ ของนักธุรกิจคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นบริษัทมหาชนที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ถึงแม้ผู้บริหารสถาบันการเงินบางคนอาจเป็นคนของรัฐบาลที่แต่งตั้งไปเพื่อให้ดูแลผลประโยชน์ต่างๆ แต่หากสถาบันการเงินเหล่านี้มีการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและส่อเค้าการทุจริตก็จะมีผลกระทบต่อลูกค้า ราคาหุ้น และผู้ถือหุ้นในตลาดได้ ดังนั้นผมจึงคิดว่าการแสวงหาวิธีการทางการเงินเพื่อช่วยชาวนาจึงไม่น่าจะกระทำได้ในสภาวะเช่นนี้ และยังจะเป็นการผลักภาระจากรัฐบาลไปให้สถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งก็หมายถึงลูกค้าและผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินนั้นๆ ด้วยที่ต้องรับภาระความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวแทนรัฐบาล

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์แทบจะหมดหนทางจริงๆ ในการจ่ายเงินให้ชาวนา แต่ภายใต้ข้อจำกัดทางการเงินทั้งหลาย เราลืมไปแล้วหรือครับว่ารัฐบาลยังเหลือทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่รัฐบาลสามารถนำมาแปรสภาพให้เป็นทุนได้และสามารถนำเงินไปชำระให้ชาวนาได้ นั่นคือ "ข้าวในสต็อกจำนวน 17 ล้านตัน" ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์รับจำนำจากชาวนาเอาไว้ตั้งแต่สองปีที่ผ่านมาและยังระบายไม่หมด

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากลไกของรัฐไม่สามารถระบายข้าวได้เร็วพอ การขายข้าวโดยกลไกของกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวได้ไม่กี่แสนตันต่อเดือน ซึ่งต้องใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะขายข้าวได้หมด และการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐก็ไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นกลไกของรัฐในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนคงจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น รัฐบาลควรวางมือจากการเป็นผู้ขายข้าวได้แล้วและปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ระบายข้าวแทน แต่ก่อนที่กลไกตลาดจะทำหน้าที่ระบายข้าวได้นั้น สถานะความเป็นเจ้าของข้าวจะต้องเปลี่ยนจากข้าวของรัฐบาลมาเป็นข้าวของชาวนาก่อน เพื่อให้โรงสีสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้โดยตรง ไม่ต้องติดขัดกับกฎระเบียบการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ระบายข้าวได้ช้ามาก และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้แนวทางการคืนข้าวให้ชาวนาเป็นทางออกทางเดียวที่จะระบายข้าวและทำให้ชาวนาได้เงิน

การคืนข้าวให้ชาวนามิได้เป็นทางออกแบบกำปั้นทุบดินนะครับ ผมไม่ได้หมายความว่าให้โรงสีขนข้าวออกจากโกดังมาเป็นกระสอบๆ แล้วมาดูว่าข้าวของใครเป็นของใครก็มารับใส่รถกระบะเอาคืนกันไปนะครับ แต่การคืนข้าวให้ชาวนานั้นข้าวทุกกระสอบยังคงอยู่ในโกดังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนความเป็นเจ้าของข้าวจากรัฐบาลเป็นเจ้าของมาเป็นชาวนาเป็นเจ้าของข้าวเท่านั้นเอง และที่สำคัญคือ ถ้าชาวนารายหนึ่งเอาข้าวมาจำนำไว้ 10 ตัน ชาวนาก็จะได้ข้าว 10 ตันเดิมคืนไปและบวกอีก 5 ตันที่รัฐบาลจะเพิ่มเติมให้รวมทั้งสิ้นเป็น 15 ตันที่รับคืนทั้งหมด หลังจากนั้นชาวนาก็สามารถขายข้าวให้โรงสีได้ในราคาตลาดปกติ เช่น ขายข้าวเปลือกให้โรงสีประมาณตันละ 8,000-9,000 บาท หลังจากนั้นโรงสีก็สามารถขายข้าวให้ผู้ส่งออกข้าวได้ต่อไป

ลองทำการคำนวณกันดูนะครับ ชาวนารายหนึ่งนำข้าวปริมาณ 10 ตัน มาเข้าโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลและหลังจากหักความชื้นแล้วได้เงินราคาตันละ 13,000 บาท รวมได้เงินกลับบ้านทั้งสิ้น 130,000 บาท แต่ภายใต้กลไกการคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่าในเชิงมูลค่า ดังที่ผมเสนอข้างต้น ชาวนาที่มีใบประทวนข้าวปริมาณ 10 ตันจะได้ข้าวคืนไปรวมเป็น 15 ตัน (ในคุณภาพข้าวเทียบเท่าเดิม) หากเอาข้าวจำนวน 15 ตันนี้ไปขายให้โรงสีในราคาตลาดประมาณตันละ 8,800 บาท ชาวนาก็จะได้เงินกลับบ้านทั้งสิ้น 132,000 บาท ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินใกล้เคียงกับการขายข้าวภายใต้โครงการจำนำข้าวในราคาตันละ 13,000 บาท

การคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า มีข้อดีอะไรบ้าง ประการที่หนึ่ง การคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการระบายข้าวที่เร็วที่สุด ทำให้สต๊อกข้าวของรัฐบาลลดลงอย่างเร็ว จึงเป็นการตัดโอกาสในการทุจริตเวียนข้าว ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการจ้างโรงสีเก็บข้าว ทำให้คุณภาพข้าวไม่แย่ลงไปมากกว่านี้ ฯลฯ ประการที่สอง การคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการใช้ทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่รัฐบาลยังมีอยู่ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ต้องไปติดกับดักของกลไกทางการเงินต่างๆ ไม่เป็นการสร้างภาระผูกพันไปยังรัฐบาลในอนาคต และไม่เป็นการผลักภาระให้สถาบันการเงินหรือผู้ฝากเงิน ประการที่สาม เป็นการเปิดโอกาสให้มีการซื้อข้าวขายข้าวระหว่างชาวนาและโรงสีโดยตรง ทำให้สามารถขายข้าวในราคาที่เป็นธรรม ไม่ถูกกดราคาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงทำให้การขาดทุนของโครงการจำนำข้าวลดลง หากเปรียบกับการที่รัฐบาลต้องขายข้าวเอง ประการที่สี่ เป็นการเริ่มกลไกตลาดปกติในการค้าขายข้าวและนำไปสู่การส่งออกข้าวอย่างแท้จริง และประการที่ห้า เป็นล้างสต๊อกข้าวของรัฐบาลและปิดฉากโครงการจำนำข้าวอย่างสิ้นเชิง

แนวทางการคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า จึงเป็นทางออกที่น่าพิจารณาต่อไป สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ทำการสำรวจปริมาณข้าวทั้งหมดที่รัฐบาลฝากโรงสีแต่ละแห่งเก็บอยู่ ทำการประเมินประมาณข้าวของแต่ละโรงสี ประเมินคุณภาพข้าวของแต่ละโรงสี และตีมูลค่าข้าวของแต่ละโรงสีออกมา ซึ่งข้อมูลข้าวเหล่านี้ส่วนราชการมีอยู่แล้ว ต่อมาก็ให้ชาวนานำใบประทวนไปขึ้นเงินที่โรงสีที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงสีที่นำข้าวไปจำนำ และเมื่อได้รับเงินแล้ว ข้าวของชาวนาก็กลายเป็นข้าวของโรงสี

ในระยะแรกอาจต้องช่วยกันกำหนดราคาข้าวกลางขึ้นมา ที่ต้องช่วยกันกำหนดโดยอาจมีคณะกรรมการประเมินราคากลางข้าว ประกอบด้วย ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ เช่น ตัวแทนชาวนา ตัวแทนโรงสี ตัวแทน อตก. หรือตัวแทนนักวิชาการ เป็นต้น โรงสีใดมีมูลค่าข้าวในโกดังมากพอที่จะจ่ายให้ชาวนาที่เอาใบประทวนมาขึ้นเงิน ก็ให้จ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้วข้าวในโรงสีนั้นก็ตกเป็นของโรงสีเพื่อเอาไปสีเป็นข้าวสารและนำไปขายต่อให้ผู้ส่งออกหรือนำมาทำเป็นข้าวถุงต่อไป ส่วนโรงสีใดมีมูลค่าข้าวในโรงสีไม่พอที่จะจ่ายเป็นเงินให้ชาวนาก็ให้นำข้าวของรัฐจากโรงสีอื่นๆ มาชดเชยแทน เพื่อให้โรงสีมีมูลค่าข้าวในโกดังเพียงพอกับมูลค่าใบประทวนที่ชาวนานำมาขึ้นเงินออกไป นอกจากนั้น หากชาวนาพบว่า โรงสีที่ตนเอาข้าวไปจำนำให้ราคารับซื้อข้าวต่ำเกินไป ไม่เป็นธรรม ชาวนาก็สามารถเอาใบประทวนไปขายให้โรงสีอื่นที่มีข้าวของรัฐอยู่ในสต๊อกได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันในการกำหนดราคาข้าวและการซื้อข้าวขายข้าวอย่างแท้จริง ชาวนารายใดคิดว่าราคารับซื้อข้าวช่วงนี้ต่ำไปก็อาจยังไม่เอาใบประทวนไปขาย แต่รอไปอีก 1-2 เดือนเพื่อให้ราคาข้าวดีขึ้นก็สามารถกระทำได้

ในกรณีที่อดีต รมว.คลัง ท่านธีระชัย ท้วงติงว่าไม่สามารถใช้วิธีคืนข้าวให้ชาวนาได้ เพราะไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพข้าวได้นั้น ผมก็ขอชี้แจงว่าการตรวจสอบคุณภาพข้าวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าท่านจะขายข้าวแบบจีทูจี ท่านก็ต้องตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ถ้าท่านขายข้าวให้ต่างประเทศ ผู้ซื้อชาวต่างชาติก็ต้องขอดูปริมาณและคุณภาพข้าว หรือหากท่านจะประมูลข้าว คนที่เข้าประมูลก็ต้องขอทราบคุณภาพข้าว ดังนั้น การนำเรื่องการตรวจสอบคุณภาพข้าวมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธแนวทางการคืนข้าวให้ชาวนาจึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น แต่ข่าวดีประการหนึ่งคือ

รมว.พาณิชย์ ท่านนิวัฒน์ธำรง ได้ให้ไฟเขียวไว้แล้วว่า ท่านยินดีคืนข้าวให้ชาวนาซึ่งก็เป็นข่าวดี แต่ผมอยากให้ท่านกรุณาพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะใช้วิธีการคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า (ในเชิงมูลค่า) ตามที่เสนอข้างต้นได้หรือไม่

ขณะนี้มีชาวนาที่ถือใบประทวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 7 ล้านตัน ที่ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลมีข้าวที่สะสมไว้ในสต๊อกที่ฝากเก็บอยู่ตามโกดังข้าวต่างๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 17

ล้านตัน ดังนั้น รัฐบาลจึงน่าจะมีข้าวมากพอที่จะดำเนินมาตรการคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่าได้ เพราะแนวทางนี้ต้องใช้ข้าวทั้งสิ้นประมาณ 15-17 ล้านตัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวในโกดังว่าเสียหายไปมากน้อยไปแล้วเท่าไหร่เมื่อคิดทอนออกมาเป็นมูลค่า ความเสียหายนี้เป็นความเสียหายทั้งในแง่ของคุณภาพข้าวที่ด้อยลง และเสียหายในแง่ของข้าวหาย

ผมคิดว่าเหตุผลเดียวที่จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินแนวทางการคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่าได้ คือ เมื่อเปิดโกดังมาเช็คสต๊อกข้าวแล้วพบว่าไม่มีข้าว 17 ล้านตันจริง.....

นอกจากนั้น ในส่วนของภาคประชาชนผมก็อยากให้คนไทยช่วยกันซื้อข้าวมาเก็บไว้ที่บ้านให้มากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มอุปสงค์ข้าวและทำให้โรงสีสามารถระบายข้าวได้ราคาไม่ต่ำมากนัก เช่น ไปช่วยกันซื้อข้าวมาเก็บไว้ที่บ้านๆ ละ 3-5 ถัง ก็สุดแล้วแต่กำลังการซื้อของแต่ละบ้าน จะซื้อข้าวไปบริจาคก็ได้ หรืออย่างน้อยเพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวนา ผมก็คิดว่าในวันแห่งความรักที่จะถึงนี้ แทนที่

คนไทยจะเอาค่านิยมฝรั่งมาใช้โดยการให้ดอกกุหลาบกัน เรามาช่วยชาวนาโดยการมอบข้าวถุงให้

คนรักของเราไม่ดีกว่าเหรอครับ อย่างน้อยก็เป็นการให้กำลังใจชาวนาทางอ้อม