'เอกชัย'ยันศาลรธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแก้รธน.

'เอกชัย'ยันศาลรธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแก้รธน.

รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยามยันศาลรธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกม.291ใช้สมาชิกขององค์กรรัฐสภาโดยรวม อัดรับวินิจฉัยหมด

นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยามให้ความเห็นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญที่มาส.ว. ระบุรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ (ยกเว้นว่ามาตรา 309 ที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ) รัฐธรรมนูญกำหนดและมอบอำนาจ อธิปไตยของประเทศ ผ่าน 3 องค์กรหลัก คือ ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ แต่ประชาชนบางส่วนคิดว่า พอได้ยินคำว่า ศาล จะนึกว่า ศาลอยู่เหนือองค์กรอื่นๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะทั้ง ๓ องค์กร มีสถานะในการใช้อำนาจเท่าเทียมกัน หรือในระนาบเดียวกัน แต่ในบทบาทที่ต่างกัน

เช่นเดียวกับ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น ศาลพิเศษ ที่อำนาจเฉพาะตามที่ รัฐธรรมนูญ "มอบอำนาจให้"เท่านั้น ศาลไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะไปทึกทักขยายอำนาจของตนเอง เพราะถ้าศาลทำแบบนั้น เท่ากับ ศาล เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่าง โดยอำนาจของประชาชน แต่เป็นอำนาจศาลด้วยตัวเอง

ในกรณีแรก ต้องชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดขั้นตอนการแก้ไขชัดเจน ใน มาตรา 291 โดยสมาชิกรัฐสภา ใช้อำนาจ หน้าที่ ในฐานะสมาชิกขององค์กรรัฐสภาโดยรวม ไม่ได้ทำในนามพรรคการเมืองหนึ่งใด และมาตรา 291นี้ ไม่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้ามาตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เพราะถ้าศาล รัฐธรรมนูญ เข้ามาตรวจสอบ "อนุมัติ" หรือ"ไม่อนุมัติ" การแก้ไข เท่ากับเป็นการใช้อำนาจ เหนือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับการใช้อำนาจอย่างชัดแจ้งของศาล ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพ.ร.บ.ทั้งก่อนและหลังประกาศใช้ เพียงมีข้อห้าม 2 ข้อเท่านั้น ที่ห้ามทำคือ ห้ามแก้ไขระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ จากรัฐเดี่ยว เป็นสหพันธรัฐ อย่างนี้เป็นต้น

กรณีที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่า ส.ส. และส.ว. กระทำผิด มาตรา 68 เพราะเป็นการใช้สิทธิในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการใช้คำแทนกันไม่ได้ ระหว่าง สิทธิและเสรีภาพ (ตามมาตรา 68) และ อำนาจ และหน้าที่ (ตาม มาตรา 291) เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น ตำรวจจับผู้ร้าย อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ผู้พิพากษาตัดสินคดี การกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจ และหน้าที่ ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ตำรวจ อัยการ และ ผู้พิพากษา ไม่ได้ใช้"สิทธิ และเสรีภาพ" เช่นเดียวกับ สมาชิก รัฐสภา ที่จะต้องทำหน้าที่ที่ มาตรา 291 ระบุไว้อย่างชัดเจน และให้อำนาจในการแก้ไข "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" กรณีนี้อาจมีคนเถียงว่า ศาลตัดสินแล้วทำไม ไม่เคารพศาล ผมตั้งคำถามง่ายว่า ถ้าศาลสั่งให้นายอภิสิทธิ์ ไปกระโดดน้ำตาย หรือ เลิกเล่นการเมือง ท่านอดีต นายก จะทำไหม ดังนั้นที่ผ่านมาทุกคดีความที่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย และฝั่งของทักษิณทุกครั้ง พรรคของคุณทักษิณก็ปฏิบัติตาม คำตัดสินตลอด เพราะทุกฝ่ายยอมรับว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินได้ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ "ศาลไม่มีอำนาจ"

กรณีที่ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ "ต้อง"ขัดกับรัฐธรรมนูญเดิมอย่างชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้น จะแก้ไขไปทำไม การที่ท่าน ตุลาการ กำหนด เงื่อนไขว่า การกำหนดคุณสมบัติส.ว.จะแตะไม่ได้ แปลว่า ท่านกำลังเขียน รัฐธรรมนูญ(ใหม่)ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอ้างคำวินิจฉัย เพื่อผูกพันองค์กรอื่น และประชาชนทั้งประเทศ ทำให้เงื่อนไขนี้เป็นบทบัญญัติอันเป็นนิรันด์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ตลอดไป ซึ่งท่านต้องจำกัดตัวเองให้อยู่ในกรอบที่กฎหมายให้อำนาจท่านไว้ ไม่ใช่ว่า เรื่องใดๆที่เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ ท่านจะรับวินิจฉัยได้ทั้งหมด

รัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ มีความผิดพลาดเองที่ไปยอมรับ "คำแนะนำ"ของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ "ก็ควรจะให้"มีการทำประชามติ เสียก่อนแต่ถ้าจะแก้รายมาตราก็สามารถทำได้ ครั้นพอจะแก้รายมาตรา มาวันนี้คงเห็นแล้วว่าก็แก้ไม่ได้ เพราะนั่นคือการสร้างความชอบธรรม ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่แล้วในฐานะองค์กรตุลาการ ให้สร้างอำนาจขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการของประชาชนใดๆทั้งสิ้น

ดังนั้นผมจะคอยดูว่า สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 ท่าน จะกล้าหาญ และยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอทูลเกล้าไปแล้ว หรือท่านจะถอยและถอนร่าง แก้ไขนี้ออกจากขั้นตอนการทูลเกล้า และผมเสนอให้ท่านนำข้อเสนอของนิติราษฎร ที่ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่แทน เพราะคราวนี้องค์กรศาลรัฐธรรมนูญเอง จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เนื่องจากสถานะและตำแหน่งของท่านจะสิ้นสุดลง ตุลาการทุกท่าน จะไม่สามารถตัดสินร่างแก้ไขนี้ได้ เพราะผลประโยชน์ขัดกัน

นายเอกชัย กล่าวว่าเคยคิดกันไหมทำไมทุกครั้งที่ ผู้ถูกร้อง อ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจ และทำลายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ทำลาย สภาผู้แทน วุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศคมช. ฉบับที่ 3 ตุลาการรัฐธรรมนูญจะยึดหลักที่ว่า ถ้าผู้ยึดอำนาจได้สำเร็จถือว่าเป็นรัฐฐาธิปัตย์ ผลคือไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ก็พยายามแก้รัฐธรรมนูญคมช. มาโดยตลอด แต่ถูกยุบพรรคและนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะคำว่า ลูกจ้าง เราเคยคิดไหมว่า การแก้ในระบบตามที่ ม 291กำหนดไว้กลับกลายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เรายอมรับการรัฐประหาร โดยสดุดี เพราะเหตุใด?(โปรด อ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๕๔ หน้า3จาก 4หน้า วรรค2ว่า ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ระบุอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของนาย อภิสิทธิ์ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา291)