วีล-โก-ราวด์ พื้นที่เล็กๆ คนใช้วีลแชร์

วีล-โก-ราวด์ พื้นที่เล็กๆ คนใช้วีลแชร์

ในสังคมที่รีบเร่งประกอบด้วยหลายปัจจัยลบ ปัจจัยบวกค่อยเร่งเร้า คงไม่ง่ายนักหากทุกคนจะสามารถมีพื้นที่สำหรับยืนที่เท่าเทียมกัน


โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสเช่น คนสูงอายุ หรือ ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายบางประการด้วยแล้ว แค่คำว่า "ลำบาก" อาจไม่เพียงพอต่อการอธิบายสภาพความเป็นจริง

เพิ่มพื้นที่ชิวิต
​ "นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า จากปัญหาที่พบต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย บริษัทร่วมมือกับ 2 พันธมิตรคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดตัวเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น “วีล-โก-ราวด์ (Wheel-go-round)” หวังเพิ่มพื้นที่ชีวิตด้วยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้รถเข็น(วีลแชร์)
ทั้งนี้มีนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากโครงการ "Microsoft Student Partners" ร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ขณะที่เจ้าของโปรเจ็คตัวจริงคือ กลุ่ม Wheel-go-round คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ "Innovate For Good" ภายใต้โครงการยูธสปาร์ค ของไมโครซอฟท์
โดยเฟสแรกสำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะบนระบบปฏิบัติการวินโดว์สโฟน ซึ่งจะพร้อมให้ดาวน์โหลดอย่างเป็นทางการราวกลางเดือน ต.ค.ปีนี้
พร้อมกันนี้ได้อัพเดทเว็บไซต์ www.wheelgoround.in.th เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถรับทราบและเข้าถึงข้อมูลการใช้รถเข็นและสามารถเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ได้สะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้น
สำหรับการสนันสนุนตัวเครื่องสมาร์ทโฟน ยังไม่มีโครงการ ทว่าหลังจากนี้อาจมีการพูดคุยกับทีมเพื่อดูว่าจะทำอะไรได้อีกบ้าง
ต่อเชิงลึก-หัวเมืองใหญ่
ด้าน "นางสาวลิปดา จารุเธียร" ตัวแทนเยาวชนกลุ่ม Wheel-go-round เจ้าของโครงการ กล่าวถึงที่มาของแอพพลิเคชั่นว่า ที่ผ่านมามีญาติที่ใช้วีลแชร์พบปัญหาเรื่องการเดินทางอยู่บ่อยครั้ง จนได้มีโอกาสร่วมกับเพื่อน คิดค้นและต่อยอดปัญหาดังกล่าว พร้อมออกไปเรียนรู้ และลงสำรวจปัญหาจริง
เธอเล่าว่า ได้ไปคุยกับกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ที่อยู่ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระ กลุ่มนักกีฬาวีลแชร์ และกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ที่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นประจำ ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง พบว่าส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้มักจะเดินทางไปในที่เดิมๆ ที่เคยไปมาแล้ว หรือการจะไปที่ใหม่ๆ แต่ละครั้งก็มักจะสอบถามเพื่อนๆ มนุษย์ล้อกันเอง ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะออกไปเจอกับสภาพที่ไม่แน่นอนของสถานที่
"เมื่อต้องออกไปข้างนอกพวกเขาจะลำบากมากต้องคอยให้คนอื่นช่วย ติดขัด และรู้สึกเป็นภาระของสังคม"
อย่างไรก็ตามกว่าจะมาเป็นแอพพลิเคชั่น “วีล-โก-ราวด์" ครั้งนี้ได้พัฒนาต่อยอดมาจากจุดอ่อนที่พบจากการทดลองจากเฟซบุ๊ค (www.fb.com/wheelgoround) จุดเริ่มต้นช่วงแรก ที่การหาและส่งต่อข้อมูลการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ยังไม่มีประสิทธิภาพ จากนั้นมีโอกาสพบน้องๆ ที่ร่วมโครงการของไมโครซอฟท์ จนเกิดเป็นแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์อย่างที่เห็นในที่สุด
ทั้งนี้การรวบรวมข้อมูลใช้เวลาราว 1 ปี ปัจจุบันมีฐานข้อมูล 300 สถานที่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพ และพัทยาบางส่วน
สำหรับเฟสต่อไปจะเริ่มตั้งแต่ต้นปีหน้ามีแผนลงพื้นที่แบบเชิงลึกแบบลงรายละเอียดลักษณะสถานที่ พื้นที่ใช้สอย พร้อมขยายฐานการเก็บข้อมูลไปตามหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด เพื่อพัฒนาให้การใช้งานแต่ละสถานที่สะดวกขึ้น
เสิร์ฟทุกโอเอส
นายเกรียงไกร พิพัฒน์วิไลกุล หัวหน้าทีมนักพัฒนาแอพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ให้ข้อมูลเสริมว่า แอพพลิเคชั่นต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จุดเด่นมีการนำเทคโนโลยีอ็อกเมนเต็ด เรียลลิตี้ หรือ "เออาร์" มาเสริม ให้ง่ายและน่าสนใจขึ้น ข้อมูลที่ลงแล้วมีอยู่กว่า 200 จุด ประกอบด้วยป้ายรถประจำทาง รถไฟฟ้า ใต้ดิน ร้านอาหาร และที่สำคัญทั้งหมด
นอกจากนี้ เชื่อว่าหลังเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ฐานข้อมูลจะยิ่งมีคุณภาพมากขึ้น เพราะได้เปิดช่องให้ผู้ใช้เพิ่มรายระเอียดปลีกย่อยของสถานที่ รวมถึงรวบรวมข้อเสนอแนะน่าสนใจเข้ามา เพื่อนำมาคัดกรองและเสริมลงต่อๆ ไป
สำหรับเวอร์ชั่นที่ออกพร้อมให้ดาวน์โหลดมีภาษาไทยรองรับเรียบร้อย อนาคตจะทำให้ใช้ได้กับทั้งแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ และไอโอเอส ขณะเดียวกัน เสริมฟีเจอร์ใหม่ให้คนตาบอดสามารถใช้ได้ด้วย
สู่ความเท่าเทียม
"ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์" ผู้จัดการ สสส. เสริมว่า ปัจจุบันสังคมไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม การให้บริการ รวมทั้งการปรับด้านความเชื่อและทัศนคติ เรื่องความแตกต่างในกลุ่มประชากร มากขึ้นแล้ว
ดังนั้นทุกภาคส่วนเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเปิดพื้นที่การให้บริการในด้านต่างๆ อย่างเสมอภาคในทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งทุกคนต่างต้องการความมีอิสระในการเดินทางและการใช้ชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งนั้น
"เราเองหวังมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อลดช่องว่างและเสริมสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพและการใช้ชีวิต เพื่อให้มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและสามารถเข้าถึงสิทธิในการดำรงชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม เท่าเทียม พร้อมเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล"
สำหรับ โครงการดังกล่าว สสส.เล็งเห็นว่าจะมีส่วนสำคัญช่วยจุดประกายให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ต่างๆ อย่างเหมาะสมกับ รวมถึงสร้างความตระหนักแก่สังคมให้เห็นถึงความสำคัญของการมีพื้นที่ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรค