คาร์บ็อกซี่ สวยทนได้

คาร์บ็อกซี่ สวยทนได้

คาร์บ็อกซี่ หนึ่งในเทคโนโลยีพิฆาตไขมันส่วนเกิน เอาใจหนุ่มสาวที่อยากมีรูปร่างกระชับ แต่ประเด็นสำคัญคือ คุณรู้จักคาร์บ็อกซี่แค่ไหน

คาร์บ็อกซี่ (Carboxy Therapy) เทคนิคขจัดเซลลูไลต์หรือลดไขมันส่วนเกินในบริเวณที่ไม่ต้องการ เช่น บริเวณ หน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง ต้นขา ฯลฯ เป็นการฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าใต้ชั้นผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก เพื่อสลายเซลล์ไขมันให้เป็นอณูขนาดเล็กและขับออกจากร่างกาย

แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่กระแสความนิยมไม่จางหายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผลพวงจากการมีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลต์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่หารู้ไม่ว่าคาร์บ็อกซีกำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ

นี่คือประสบการณ์ของลูกค้าคาร์บ็อกซี่ ที่ผู้ให้บริการหรือเนื้อหาที่โฆษณาชวนเชื่อไม่ได้นำเสนอ...

"เราไปทำมาแล้วอยากบอกว่า ตอนเข็มทิ่มลงไปที่ขาก็เจ็บนิดเดียวเหมือนมดกัด แต่พอหลังจากนั้นเหมือนขาจะระเบิด ทรมานมากจนแทบร้องไห้ พอทำเสร็จปวดขามาก วันที่สองก็ปวดอยู่ อีกห้าเข็มที่เหลือไม่ยอมไปฉีดค่ะ เสียดายเหมือนกันจ่ายไปตั้งแพง"

"ทำมาแล้วที่น่องครบคอร์ส 10 ครั้ง เจ็บพอทนกัดฟันเอาจนฟันจะเยินแล้วแต่ต้องทน เพราะเสียดายเงินที่จ่ายไปเกือบหมื่น แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยนะสำหรับความคิดตัวเอง แต่น้องสาวบอกว่าดุแล้วกระชับขึ้น"

ส่วนวิธีการนั้น แพทย์จะทำความสะอาดผิวบริเวณที่จะฉีดด้วยแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับการฉีดยาทั่วไป จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กมาก(เบอร์ 30) จิ้มเข้าไปที่ชั้นผิว โดยปลายเข็มจะเป็นท่อสำหรับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ซึ่งอัตราการปล่อยก๊าซจะอยู่ที่ 60-80 CC ต่อนาที กระทั่งถึงสูงสุดคือ 150 CC ขึ้นกับความสามารถทนต่อความเจ็บปวดของแต่ละคน

แต่อย่าคิดว่ารอบเดียวแล้วสามารถลดไขมันได้ทั่วทั้งพุง เพราะคุณหมอจะปล่อยก๊าซดักไขมันเป็นระยะ เช่น ถ้าต้องการลดช่วงเอว อาจต้องแทงเข็มที่เอวด้านซ้ายและขวา ส่วนถ้าต้องการลดต้นขาอาจต้องแทงเข็มสามด้าน ต้นขาด้านหน้า ต้นขาด้านหลังและต้นขาด้านใน

รศ.นพ.นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำคาร์บ็อกซีสามารถใช้ได้ผลในการสลายไขมันเฉพาะที่ ลดเฉพาะจุด แต่ไม่สามารถใช้ลดน้ำหนัก ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น ในส่วนความคงทนในการรักษาขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย เตือนว่า คาร์บ็อกซี่กระชับไขมันส่วนเกินยังเป็นการทดลอง ไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซีได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย

"หลังจากที่ฉีดคาร์บ็อกซี่ไปแล้ว ในส่วนความคงทนในการรักษาขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ไขมันก็จะกลับมาเหมือนเดิม" คุณหมอกล่าวและว่า อีกหนึ่งข้อจำกัดของวิธีนี้คือ หากผู้ที่มีดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอเกิน 40 จะไม่ได้ผล เพราะมีจำนวนไขมันและเซลลูไลต์มากเกินไป