ตามรอยอดีตอียิปต์ จากเมมฟิสถึงซักคารา (Advertorial)

ตามรอยอดีตอียิปต์ จากเมมฟิสถึงซักคารา (Advertorial)

มาเยือนถึงถิ่นปิระมิดทั้งที ถ้าไม่ได้ดูต้นแบบของปิระมิด ก็เท่ากับเสียเที่ยว ซัคคาราเป็นปิระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในอียิปต์

แค่มหาปิระมิดที่กิซา อาจจะทำให้หลายคนยังไม่จุใจกับการตามรอยอดีตของอียิปต์

ยังมีอีกมุม ที่จะช่วยคุณแกะรอยอดีตของอียิตป์ได้ ที่นั่นคือเมมฟิสและซัคคารา

เมมฟิสเป็นเมืองหลวงแห่งแรกในยุคอียิปต์โบราณ เรื่องอายุจึงแทบไม่ต้องพูดถึงว่าเก่าแก่แค่ไหน

แรกเริ่มเดิมที อียิปต์แบ่งเป็นสองอาณาจักร คือหุบเขาไนล์ และสามเหลี่ยมไนล์ แต่ราว 3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช กษัตริย์แห่งหุบเขาไนล์ได้ชัยชนะเหนือกษัตริย์แห่งสามเหลี่ยมไนล์ และเพื่อให้สะดวกแก่การปกครองทั้ง 2 แห่ง จึงสถาปนาเมมฟิสเป็นเมืองหลวง เพราะเห็นว่าเป็นจุดเชื่อมระหว่างหุบเขากับสามเหลี่ยม

นับจากนั้นมา เมมฟิสก็เป็นเมืองที่ได้รับการบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์ ว่ามีความสำคัญในการเป็นเมืองที่รวมอียิปต์บนและอียิปต์ล่างให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยกษัตริย์เมเนส ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่ 1

สำหรับบางคนเมมฟิสอาจดูธรรมดาเมื่อเทียบกับมหาปิระมิด แต่จะไม่ธรรมดาก็ตรงที่ทุกคนจะได้เห็นหน้าตาของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ไม่ใช่ตัวเป็นๆ นะ แต่เป็นรูปแกะสลักขนาดยักษ์จากหินอลาบาสเตอร์ โชคดีที่รามเสสที่ 2 นอนราบกับพื้น เพราะส่วนสูง 13 เมตรของฟาโรห์องค์นี้ ถ้าขืนยืนคงแหงนคอดูกันเมื่อย

ด้านนอกเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ที่ดึงดูดสายตามากที่สุดเห็นจะเป็นรีเซฟชั่นอย่างสฟิงซ์ขนาดย่อม สูง 4 เมตรกว่า ถึงใหญ่ไม่เท่าสฟิงซ์ยักษ์หน้าปิระมิดเคเฟร แต่ตัวนี้พิเศษตรงที่แกะจากหินอลาบาสเตอร์

อย่าเพิ่งขลุกอยู่ในเมืองหลวงเก่านานเกินไป เพราะยังมีปิระมิดซัคคาราที่น่าค้นหาอย่างยิ่ง

ตลอดระยะทางเข้าซัคคาราเกือบ 10 กิโลเมตรเป็นทุ่งแล้งและมีสุสานกษัตริย์กว่า 20 แห่ง รวมถึงมีสุสานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่แทรกตัวอยู่ด้วย นั่นจึงทำให้ซัคคาราถูกเรียกว่าเป็นสุสานโบราณที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

จะว่าไปแล้ว มาเยือนถึงถิ่นปิระมิดทั้งที ถ้าไม่ได้ดูต้นแบบของปิระมิด ก็เท่ากับเสียเที่ยว ซัคคาราเป็นปิระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในอียิปต์ สร้างขึ้นเมื่อ 2,660 ปี ก่อนคริสต์ศักราช นับเป็นปิระมิดขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ที่ใช้เป็นสถานที่ฝังศพของกษัตริย์ซอเซอร์

ใครๆก็เรียกซัคคาราว่าเป็น Stepped Pyramid เพราะมีลักษณะเป็นขั้นบันได ตามข้อมูลบอกทั้งหมด 6 ขั้น แต่บางคนที่ไปบอกว่าเหมือนมีแค่ 5 ขั้น อาจจะเป็นเพราะแตกหักผุกร่อนไปบ้าง เพราะเป็นปิระมิดที่เก่ามาก

ภายในบริเวณซัคคารายังมีสุสานของพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ดูภายนอกไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่ด้านในสมบูรณ์มาก ระเบียงเชื่อมห้องต่างๆทำให้เดินง่าย ส่วนภาพตามฝาผนังและเพดานเป็นหินแกะสลักนูนต่ำ ภาพส่วนใหญ่เน้นเรื่องราวชีวิตหลังความตาย ฉากชีวิตในสังคมและวิถีความเป็นอยู่ของผู้คน ที่ไม่เพียงละเอียดปราณีตแต่ยังงดงามติดตา

นี่คือ 2 มุมสำคัญของอียิตป์ที่น่าสนใจไม่แพ้ปิระมิดกิซา แต่บนเส้นทางที่เชื่อมระหว่างไคโร ซัคคารา และเมมฟิส ยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าแวะ หนึ่งในนั้นคือสถาบันปาปิรัสที่เขาสาธิตการทำกระดาษปาปิรัส (Papyrus)
อย่างที่รู้กันว่า อียิปต์รู้จักการบันทึกด้วยอักษรภาพบนแผ่นกระดาษที่ทำมาจากปาปิรัสมานานนับหลายพันปี และคำว่า Papyrus นี่เองที่ว่ากันว่า ได้กลายเป็นที่มาของคำว่า Paper ในเวลาต่อมา

แม้ในยุคสมัยฟาโรห์กระดาษ Papyrus จะถูกนำมาใช้ แต่การทำกระดาษปาปิรัสได้สาปสูญเป็นเวลานาน แต่ต่อมาได้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

จริงๆแล้ว ปาปิรัสเป็นหญ้าอายุยืนชนิดหนึ่ง(Perennial Grass) อยู่ในตระกูลต้นอ้อและกก ชอบดินชื้นแฉะ ลำต้นสีเขียว สูงราวๆ 1-5 เมตร

ด้านในพนักงานจะลงมือสาธิตด้วยการตัดลำต้นปาปิรัสที่แก่จัดออกเป็นท่อน ๆ จากนั้นหยิบมีดมาปลอกเปลือกสีเขียวทิ้ง จนเผยให้เห็นเยื่อไม้สีเหลืองอ่อน

จากนั้นฝานตามความยาวเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำไปแช่น้ำไว้ 6 – 7 วัน พอผ่านไปร่วม 1 สัปดาห์แผ่นบางนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จากนั้นนำมาวางแล้วเอาลูกกลิ้งยาง รีดไปรีดมาจนแห้ง คราวนี้ก็นำมาสานเรียงตั้งและขวางอย่างละหนึ่ง

พอสานเสร็จ จึงนำไปวางไว้ในเครื่องอัด ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เมื่อออกจากเครื่องอัดแล้วนำไปตากแดดอีก 1 วัน จึงจะได้แผ่นกระดาษตามต้องการ เวลาแห้งสนิทจะเป็นสีนวลแก่ ๆ ออกไปทางสีเหลืองครีม

ใครจะซื้อเป็นของที่ระลึกหิ้วกลับบ้านก็เลือกได้ตามอัธาศัย มีให้เลือกตั้งแต่แผ่นเล็กๆ ไปยันแผ่นเท่าฝาบ้าน เรื่องราคาไม่ต้องพูดถึง บางชิ้นแพงชนิดขนหน้าแข้งอาจร่วงกราวได้

ถ้าอยากได้ราคาเป็นมิตร แนะว่าไปซื้อที่ตลาดข่าน เอล คาลิลี ในตัวเมืองไคโรจะดีกว่า หรือไม่ก็แถวหน้าอียิปต์ มิวเซียม จะถูกกว่ากันเยอะ

นอกจากกระดาษปาปิรัสแล้ว ระหว่างทาง ยังมีโรงงานผลิตหัวน้ำหอมเปิดรอนักท่องเที่ยวอยู่ ซึ่งน้ำหอมเหล่านี้ ทำมาจากสูตรดั้งเดิมแบบที่พระนางคลีโอพัตราเคยใช้ว่ากันว่า หัวน้ำหอมเหล่านี้นี่เองที่กลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำเป็นนํ้าหอมของแบรนด์ดังอย่าง ดิออร์ อารามิส และโปโลสปอร์ต

อียิตป์คือหนึ่งในอู่อารยธรรมของโลกที่รอการเยี่ยมเยือนของนักเดินทางเสมอ ไม่ใช่แค่ปิระมิด สฟิงซ์ หรือฟาโรต์เท่านั้นที่ช่วยบอกเล่าอดีต แม้แต่น้ำหอมและกระดาษ ยังบอกเล่าอดีตได้เป็นคุ้วเป็นแคว