ศาลยกฟ้อง'2นปช.'ไม่ผิดเผาเซ็นทรัลเวิลด์

ศาลยกฟ้อง'2นปช.'ไม่ผิดเผาเซ็นทรัลเวิลด์

ศาลพิพากษายกฟ้อง"2 นปช."ไม่ผิดเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ศาลชี้พยานอัยการ ยังไม่ชัด ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ แต่ไม่สั่งขังระหว่างอุทธรณ์

ศาลอ่านคำพิพากษาวางเพลิงเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ คดีหมายเลขดำ ด. 2478/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสายชล แพบัว อายุ 31 ปี ชาว จ. ชัยนาท การ์ดนปช.และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 29 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนที่เก็บสินค้า เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

โดยอัยการ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 1 ก.ย.53 บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุมกัน บริเวณสี่แยกราชประสงค์ กทม. ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และได้เข้าไปในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ใช้กำลังทำลายบานกระจก ผนังอาคารบานกระจกประตู อาคารเซ็นทาวเวอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าว จนแตกเสียหายเป็นการกีดขวางการจราจร ขัดขวางต่อการประกอบกิจการของห้าง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเข้าไปภายในบริเวณอาคารเซ็นทาวเวอร์ และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เป็นทรัพย์โรงเรือนที่เก็บสินค้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ ลุกลามเผาอาคารเซ็นทาวเวอร์ และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เสียหาย ที่มี 270 ราย รวมค่าเสียหาย 8,890,578,649.61 บาท และเป็นเหตุให้ นายกิติพงษ์ หรือกิตติพงษ์ สมสุข ที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่แขวง- เขตปทุมวัน กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83,91,217,218,224 และ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 4,5,9,11,18 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 7 เม.ย.53 และประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เม.ย.53 ชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

โจทก์นำสืบว่า ระหว่างเดือน มี.ค.- พ.ค.53 กลุ่ม นปช.ได้จัดชุมนุมทางการเมือง ที่แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กทม. ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปซื้อสินค้าและบริการภายในห้างสรรพสินค้าเซนและเซ็นทรัลเวิล์ดได้จึงปิดบริการชั่วคราวแต่ยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชม.เพื่อดูแลความเรียบร้อยรวมทั้งป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และหลังจากที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้วได้มีกลุ่มคนร้ายใช้ไม้และเหล็กทุบกระจกเข้าไปในห้างเซน และใช้ขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่บรรจุน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟแล้วโยนเข้าไปในบริเวณชั้น 1 ของห้างซึ่งเป็นแผนกเครื่องสำอางน้ำหอมและเสื้อผ้าทำให้เพลิงไหม้อย่างรวดเร็ว ทำให้ รปภ.ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ เป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ หรือกิตติพงษ์ สมสุข ถึงแก่ความตาย ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์พบว่าสำลักควันและขาดอากาศหายใจ โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ รปภ.ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคนร้าย 5-6 คนใช้ไม้ทุบกระจกบุกเข้ามาในวันที่ 19 พ.ค.53 เวลา 14.00 น.ซึ่งพยานเกิดความหวาดกลัวจึงได้หลบไปอยู่ชั้น 3 ระหว่างนั้นก็ถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ขณะถือถังดับเพลิงสีเขียวของห้างไว้ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม พยานโจทก์ ก็เบิกความ หลังเกิดเหตุได้นำหมายจับของศาล ไปติดตามจับกุมตัวจำเลยที่ 1 ได้ที่สนามหลวง ซึ่งก็ไม่ได้มีการขัดขืนการจับกุมและยอมให้การแต่โดยดีว่าเป็นคนเดียวกันกับบุคคลตามหมายจับของศาล ขณะที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เจ้าของสำนวน เบิกความว่า ภายหลัง ตร.สน.ชนะสงคราม ส่งตัวจำเลยที่ 1 มา ก็ให้ รปภ.ของห้างที่เป็นพยานได้ชี้ตัวอย่างถูกต้องถึง 2 ครั้ง โดยชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ไม่ใช้ผู้กระทำผิด และมีพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เบิกความว่า หลังจากรับคดีนี้มาเป็นคดีพิเศษ ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การใหม่ว่า ขณะเกิดเหตุขายซีดีอยู่ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ และจำเลยอ่าน - เขียนหนังสือไม่ได้ เขียนได้เฉพาะชื่อตนเอง

ศาลเห็นว่า แม้โจทก์มีพยานเป็นรปภ. ซึ่งถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ได้ในที่เกิดเหตุ แต่ตามคำเบิกความของรปภ. พยานโจทก์ ระบุว่าอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 30 เมตร โดยเห็นเพียงว่าจำเลยที่ 1 ถือถังดับเพลิงเท่านั้นแต่ถังดับเพลิงดังกล่าวก็ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะใช้ในการวางเพลิง แม้จะอนุมานไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 จะเข้าไปช่วยดับเพลิงหรือไม่ ประกอบกับพยานโจทก์ก็ไม่สามารถตอบทนายจำเลยได้ว่าเห็นจำเลยที่ 1 เป็นผู้วางเพลิงหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังไม่มีพยานปากอื่นที่จะมาเบิกความชี้ชัดถึงพฤติการณ์จำเลยที่ 1 ในการวางเพลิงหรือสนับสนุนการวางเพลิงแต่อย่างใด นอกจากมีภาพถ่ายเพียงใบเดียวที่พยานได้ถ่ายไว้ซึ่งแสดงให้เห็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นแต่ก็ไม่มีใครเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะทำอย่างไรต่อไป พยานโจทก์จึงยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมทำผิดในคดีนี้หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

สำหรับจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะมีพนักงานห้างที่อยู่ที่เกิดเหตุ 4 คน เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเกิดเหตุเห็นคนร้ายประมาณ 40-50 คน ที่มีชาย 4-5 คน เดินนำหน้าแล้วใช้หนังสติ๊กยิงใส่ต่อเนื่องระยะ กลุ่มพนักงานจึงหลบหาที่กำบัง ขณะนั้นก็เห็นชายชุดดำลายพรางสวมหมวกปีก ใช้ระเบิดโยนใส่มีคนเจ็บ 9 คน ด้วย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้พากลุ่มพนักงานมาออกมารวมตัวที่ชั้นลานจอดรถ และสามารถจับกุมคนร้ายภายในห้างได้ 9 คนที่มีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย ศาลเห็นว่า มีข้อน่าสงสัยที่ตามคำเบิกความของพยานโจทก์กลุ่มนี้สามารถจดจำ รูปพรรณสัณฐานจำเลยที่ 2 ได้ตรงกันหมด ทั้งที่พยานเบิกความระหว่างนั้นต้องคอยหลบลูกหินที่กลุ่มคนร้ายยิงเข้าใส่เป็นระยะ ๆ อีกทั้งพยานอยู่ห่างไปกว่า 30 เมตร จึงยังน่าสงสัยว่าพยานสามารถจำคนร้ายได้จริงหรือไม่

นอกจากนี้โจทก์ยังไม่นำเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมจำเลยที่ 2 มาเบิกความถึงการจับกุมจับจำเลยว่าจับกุมได้ที่ชั้นไหน มีวัสดุหรืออุปกรณ์ หรือมีร่องรอยหลักฐานตามตัวในการวางเพลิงหรือไม่อย่างไร พยานโจทก์ที่นำสืบมานั้นยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะกระทำผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนที่เก็บสินค้า เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ส่วนความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะให้การปฏิเสธชั้นพิจารณาว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่จากคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุม ซึ่งให้การไม่นานหลังเกิดเหตุเชื่อว่าไม่น่าจะมีเวลาปรุงแต่ง ระบุว่าเข้าไปในห้างที่เกิดเหตุจริง แต่เนื่องจากได้รับคำสั่งจากหัวหน้าการ์ดนปช.ให้เข้าไประงับเหตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามชุมนุม ขณะที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ไม่ได้ให้ร้ายจำเลยเพื่อให้รับโทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 1 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกเป็นเวลา 9 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเนื่องจากพนักงานอัยการได้เคยยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 คดีหมายเลขดำ ด.2235/2553 ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ มาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 ซึ่งพฤติการณ์ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุคดีนั้นเกี่ยวพันกับคดีนี้ ถือเป็นความผิดกรรมเดียวจึงไม่สามารถนำคดีมาฟ้องให้ศาลลงโทษได้อีก ให้พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วได้อธิบายให้จำเลยฟังว่า จำเลยถูกคุมขังมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่ศาลลงโทษจำคุกแล้ว และศาลไม่ได้มีคำสั่งขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ จึงจะออกหมายปล่อยจำเลยจากเรือนจำภายในวันนี้ ขณะที่ศาลชี้แจงด้วยคดีนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุด โดยอัยการโจทก์ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้

ภายหลังนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ที่มาร่วมฟังคำพิพากษา กล่าวว่า เมื่อศาลยกฟ้องคดีนี้แล้วว่า จำเลยไม่ผิดที่ถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมืองแล้ว ที่ผ่านมาที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยนำรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตผู้สมัครผู้ว่า ฯ กทม. ไปโฆษณาโจมตีช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า กลุ่ม นปช. เผาบ้านเผาเมือง แล้วเมื่อ กกต. ต้องรับรองผลการเลือกตั้งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ต้องวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่
ขณะที่ น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวด้วยว่า เมื่อศาลยกฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วโดยที่ผ่านมาจำเลยถูกคุมขังในเรือนจำมานานเกินกว่าโทษที่ศาลให้จำคุก รัฐบาลก็ควรเร่งให้การเยียวยา ขณะที่ตนขอฝากไปยังพี่น้องว่า หากต่อไปนี้ได้ยินหรือได้ฟังกลุ่มประชาธิปัตย์กล่าวหาว่าเราเผาบ้านเผาเมืองอีก ทั้งที่ศาลยกฟ้องแล้ว ขอให้ไปแจ้งความจับตัวดำเนินคดีเลย