เมือง...ตามยถากรรม มุม'อริยา อรุณินท์'

เมือง...ตามยถากรรม
มุม'อริยา อรุณินท์'

เป็นภูมิสถาปนิกที่ไม่ใช่แค่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ แต่พยายามรู้ให้ลึกและรอบด้าน เพื่อนำมาใช้กับสังคมและโยงไปถึงนโยบายการพัฒนาเมือง

คงจะมีน้อยคนที่เข้าใจทั้งภูมิสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง รวมถึงการวางแผนสิ่งแวดล้อมในเมือง ซึ่งทั้งหมดมีอยู่ใน รศ.ดร.อริยา อรุณินท์ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หากจะเรียกเธอว่า นักวางผังเมือง หรือ ภูมิสถาปนิก หรืออาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็ไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างคือ เธอเป็นจิกซอตัวเล็กๆ ในเการพัฒนาเมือง

ในช่วงหนึ่งของชีวิต เธอลงมือทำ ออกแบบสวนสาธารณะ ศูนย์ราชการให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนหลายแห่งถูกก็อปปี้ ปัจจุบันเธอเห็นว่า เมืองไทยควรมีระบบผังเมืองที่ดีเพื่อพัฒนาเมือง จึงพยายามผลักดันระดับนโยบาย ทั้งการให้ความรู้ การทำวิจัย การคัดค้านโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเอาความรู้ ประสบการณ์ทั้งชีวิตมาใช้
ระหว่างเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก เธอยังหาโอกาสเรียนคอร์สสั้นๆ โดยได้ทุนอยู่เรื่อยๆ ทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เธอเรียนเพื่อนำมาใช้กับงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเขียนบทความให้ความรู้ ตีพิมพ์ทั้งในเมืองไทย และต่างประเทศ รวมถึงเขียนในวิกีมีเดียกว่าพันชิ้น

ปัจจุบัน รศ.ดร.อริยา นอกจากเป็นอาจารย์ ยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการศึกษาและจัดทำผังเมืองประเทศ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และตำแหน่งอื่นๆ อีกเท่าที่เธอจะทำได้

เหมือนเช่นที่กล่าวมา ภูมิสถาปนิกคนนี้ มีบทบาทต่อสังคมไม่ใช่น้อย เธอเคยทำให้โครงการใหญ่ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ...ล้ม และที่สำคัญคือ การทำสิ่งที่ถูกต้อง

สิ่งที่ถูกต้องในความคิดของเธอเป็นอย่างไร....ลองตามอ่าน

ภูมิสถาปนิกเป็นอาชีพที่มีอยู่ในประเทศนี้น้อยมาก แล้วทำไมอาจารย์เลือกเรียนด้านนี้
ก่อนจะมาเรียนจุฬาฯ ย้ายโรงเรียนมาหกแห่ง พอสอบเทียบได้ ก็เลือกเรียนภูมิสถาปัตยกรรม ก็ไม่รู้ว่าเรียนอะไร ภาควิชาที่เราเรียนที่จุฬาฯ ก็เป็นรุ่นที่ 4 แต่เรียนแล้ว ก็ไม่ผิดหวัง ตอนนั้นทำวิทยานิพนธ์เรื่องการออกแบบงานผังของสวนหลวง ร. 9 จนถูกชวนไปทำงานที่มูลนิธิสวนหลวง ร.9 เพราะวิทยานิพนธ์ และตอนนั้นเป็นภูมิสถาปนิกคนเดียวที่ได้รับเงินเดือนจากมูลนิธิ ทำงานได้ปีหนึ่งก็ไปเรียนต่อที่อเมริกาและทำงานด้านภูมิสถาปนิกที่นั่นปีหนึ่ง ตอนนั้นได้ฝึกงานหลายอย่าง ใช้การคำนวณโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ทำได้เร็วพอๆ กับคอมพิวเตอร์ ก็เลยคิดว่า อาชีพนี้จำเป็นสำหรับเมืองไทย เพราะส่วนใหญ่คนที่เรียนด้านนี้จะทำงานด้านการออกแบบให้วงการอสิงหาริมทรัพย์ งานราชการไม่ค่อยมีคนทำ เนื่องจากยุคนั้นคนจบปริญญาโทสมองไหล เราก็เลือกทำงานที่กรมโยธาธิการ

ภูมิสถาปนิกขาดแคลนอย่างไรคะ
ดูอย่างสวนสาธารณะในเมืองไทย ก็ทำตามยถากรรม ไม่ได้คำนึงถึงหลักวิชาการ ต่างจากในเมืองนอก มีภูมิสถาปนิกทำ เมืองไทยขาดคนที่ทำงานอาชีพนี้ ลองมองใต้ทางด่วนก็ไม่มีการออกแบบ ศูนย์ราชการ ศาลากลางก็มีแต่การออกแบบสถาปัตยกรรม แต่ไม่มีพื้นที่สีเขียว นายช่างโยธาหรือเทศบาลก็ทำไป พื้นที่ริมน้ำก็ไม่สวยงาม

20-30 ปีที่แล้ว เมืองกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง
แย่มาก ไม่มีภูมิสถาปนิกในระบบราชการ พื้นที่สาธารณะก็เลยดูแย่ เราก็คิดว่าคนที่ทำอาชีพนี้ น่าจะเข้าไปทำงานในระบบราชการบ้าง ตัวเราเองก็อยากลงมือทำ ตอนทำงานกรมโยธาธิการก็ได้ทำหลายอย่าง ได้วางผังศูนย์ราชการจ.พระนครศรีอยุธยา พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ,ศูนย์ราชการเชียงใหม่ ,กรมบังคับคดี ,สวนสาธารณะปราจีนวนารมย์ ฯลฯ

ทำไมศูนย์ราชการเมืองไทยต้องเหมือนกันทั้งประเทศ ?
เพราะศูนย์ราชการไม่มีการออกแบบเฉพาะ ไม่ได้คำนึงถึงมุมมองและฟังชั่นการใช้งาน ปกติสร้างศาลากลางเสร็จ ก็มีถนนวนล้อมรอบ เราก็คิดว่าต้องมีการออกแบบ อย่างพระนครศรีอยุธยามีข้อจำกัด ก็เลยทำได้ไม่เต็มที่ ที่โด่งดังที่สุดคือ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ออกแบบปี 2535 ผ่านไป 20 ปี ในช่วงปี 2555 ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเพิ่งมีคนมาสัมภาษณ์ และมีคนจัดทัวร์มาที่ทุ่งมะขามหย่อง ตอนที่ไปทำงานที่เชียงใหม่ เคยมีผู้ว่าราชการจังหวัดฯ คนหนึ่งบอกว่า มีศาลากลางแล้ว ให้พวกภูมิสถาปนิกมาปลูกต้นไม้ เราก็บอกว่า ไม่ใช่นะ ต้องทำตั้งแต่ต้น ต้องปรับปรุงจัดวางผังใหม่ เราก็ช่วยทำ พอทำงานได้สักพัก ก็คิดว่า ควรเรียนเพิ่ม และได้ทุนตลอด จากเนเธอร์แลนด์ไปเรียนด้านการวางแผนสิ่งแวดล้อม และไปเรียนฝรั่งเศส รวมถึงไปญี่ปุ่น เรื่องการวางผังเมือง

เรียนเยอะขนาดนั้น เพื่ออะไร
ถ้าเรามีประสบการณ์มากขึ้นการบริหารประสานกับคนอื่น ก็จำเป็นต้องรู้ ตอนเรียนปริญญาเอกเรื่องการจัดการบริหารเมืองและทำเรื่องภูมิสถาปนิก ก็เลยกลายเป็นภูมิสถาปนิกที่ทำเรื่องผังเมืองด้วย จากเดิมที่คิดวางผังในพื้นที่ ตอนนี้เริ่มทำนโยบายวางผังเมือง เราก็หวังว่าสักวันหนึ่งคงจะทำให้ผังเมืองในเมืองไทยดีขึ้น งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้หน้าบ้านแล้วจบ...ต้องมีระบบมากกว่านั้น

เคยมีเป้าหมายว่า อยากวางผังสาธารณะ อยากทำสิ่งที่ขาดในเรื่องภูมิสถาปัตยกรรมในเมืองไทย เราก็ได้ทำหลายแห่ง อย่างรั้วกรมบังคับคดีที่เราทำก็ถูกก็อปปี้ ทางปปช.ก็ขอใช้แบบด้วย หรือโรงแรมฝึกหัดในมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ส่งคนไปสเก็ตภาพรั้ว ตอนนั้นกลับจากงานศพ เราเห็นและจำได้ว่า นี่มันรั้วที่เราออกแบบ ทำไมมาโผล่ตรงนี้ นี่มันเป็นลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา หลายแห่งก็อปปี้งานของเรา ซึ่งคนไทยก็เป็นอย่างนี้ รูปถ่ายที่เราลงในวิกีมีเดีย คนทำงานหนังสือพิมพ์เอาไปใช้ ก็ไม่ค่อยให้เครดิต แต่เราก็ใส่ไว้ เพื่อให้สาธารณะใช้ เพราะถ่ายรูปเยอะ และเคยไปเป็นกรรมการตัดสินการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์ ก็ได้เห็นว่างานคล้ายๆของเรา ถ้าก็อปปี้แล้วทำให้บ้านเมืองสวยขึ้น ก็โอเค ถ้าจะเอาเรื่องจริงๆ ก็คงเยอะ

เห็นบอกว่า ชอบเดินทาง แล้วนำประสบการณ์มาใช้กับชีวิตอย่างไร
เราก็ไม่ใช่คนเขียวจ๋า ไม่ใช่คนสุดโต่ง เราพยายามให้ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบกันอย่างสมดุล ในยุคปัจจุบัน ถ้าเราจะพูดกับนักบริหารก็ต้องรู้ ไม่ใช่ว่ามีหัวคิดในเรื่องการออกแบบอย่างเดียว ก็เลยต้องเรียนนั่นนี่ ส่วนเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวไปในหลายประเทศ เพราะชอบใช้ชีวิต ตอนเรียนต่างประเทศ พ่อบอกว่าไม่ให้กลับบ้าน ให้ใช้ชีวิตเที่ยว ในอเมริกาไปมาเกือบทุกรัฐ เราก็ทำตั้งแต่เดินถ่ายรูปสุนัขไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ ไปดูสถาบันการศึกษา ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ แค่นั่งเรือไปนั่นนี่ก็รื่นรมย์แล้ว ในวันที่พระจันทร์ยิ้ม เราก็เป็นคนเแรกๆ ที่เห็น เป็นวันที่พันธมิตรปิดสนามบิน มีดาวศุกร์กับดาวอังคารและพระจันทร์ ตอนนั้นขับรถกลับบ้าน เราก็สังเกตไปเรื่อยๆ อย่างไปญี่ปุ่นพักโฮมสเตย์ก็ไปตลาดปลา กินข้าวหน้าปลาดิบ ก็ได้เรียนรู้

เขียนบทความลงในวิกีมีเดียในแง่มุมไหน
ชอบเขียนบทความวิกีมีเดีย มีพันๆ บทความ ส่วนใหญ่เขียนภาษาไทย มีภาษาอังกฤษบ้าง แต่น้อย เราชอบถ่ายภาพ ก็ลงภาพ เขียนทั้งเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะท่องเที่ยว ภูมิสถาปัตยกรรม เรารู้อะไรก็เขียนไว้ ตอนทำงานกรมโยธาธิการ หลายคนรู้ดีว่า เราทำงานเร็วเหมือนจรวด งานเร่งๆ ถ้าไม่มีใครทำทัน เราทำได้ เคยออกแบบให้งานเฉลิมฉลองในหลวงครบห้ารอบ เมื่อส่งถวาย ก็โปรด เพราะเราคิดว่า ถ้าเราไม่ทำ งานก็ไม่เกิด

ในฐานะภูมิสถาปนิก มองว่า กรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนที่เถียงกันว่า จะเอาสถานีรถไฟฟ้าไปอยู่หน้าโรงเรียนมาแตร์เดอี หรือเซ็นทรัลชิดลม เรื่องนี้ถ้าเข้าใจทฤษฎี ก็จะรู้ว่า หลายประเทศเอาสถานีไว้ในห้างสรรพสินค้า ตอนนั้นผู้บริหารห้างฯอาจไม่มีวิสัยทัศน์ ก็เลยผลักไปไว้หน้าโรงเรียนมาแตร์ ตอนนี้สถานีรถไฟฟ้ามีที่จามจุรีสแควร์ สถานีมักกะสัน ซึ่งตรงกับหลักวิชาการ แต่แอร์พอร์ตลิงค์บ้านเรา ไม่ได้ใช้หลักการนี้ เพราะตัวสถานีหลักๆ ไม่มีการเชื่อมต่อพัฒนาสถานที่รอบๆ สถานี อาจเป็นเพราะปัญหากรรมสิทธิ์หรือการวางผังเมืองในเมืองไทย และไม่ได้มองภาพรวม

หลายฝ่ายพยายามบอกว่า ผังเมืองกรุงเทพฯ มีปัญหา อาจารย์มองอย่างไร
รูปแบบผังเมืองเป็นกฎหมายโซน ไม่ได้ใช้กฎหมายสามมิติ ใครจะก่อสร้างสิ่งใด แค่สัดส่วนการใช้พื้นที่ถูกต้อง ไม่ต้องเขียนบอกว่ารูปแบบเป็นอย่างไร ก็ผ่าน ในต่างประเทศถ้าจะก่อสร้าง ต้องทำโมเดลออกมาก่อน ในเมืองไทยไม่มีโมเดลเพื่อคาดการณ์ในอนาคต ทำให้การพัฒนาเมืองไม่มีทิศทาง ยกตัวอย่าง ถ้ากทม.อยากทำพื้นที่สาธารณะ ใครบริจาคที่ดินให้ก็ทำ ไม่มีการวางแผนว่าพื้นที่ส่วนนี้ ควรเวนคืนเพื่อทำสวนสาธารณะ ในฝรั่งเศส ถ้าอยู่ในแผนของผังเมือง สามารถบังคับใช้กับทุกคนได้ ถ้าพวกเขาอยากย้ายโรงงานอุตสาหกรรมกลางเมือง ก็สั่งย้ายได้ เพื่อทำเป็นพื้นที่สาธารณะ

แต่ในเมืองไทยในระดับนโยบายไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ แค่บอกว่า กทม.ควรมีพื้นที่สาธารณะมากกว่านี้ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดได้จริง อันนี้คือปัญหาใหญ่ของเมือง เรื่องถนน ถ้าจะวางแผนก็มีองค์กรเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน และไม่สอดประสานกันในการวางผังเมือง ทำให้ถนนบางเส้นซ้อนกัน หรือไปในที่ไม่ควรไป เติบโตตามยถากรรม ต่างคนต่างทำ

ยากที่จะควบคุมผังเมืองกรุงเทพฯ ?
กฎหมายผังเมืองก็มีปัญหาอยู่ ทางกรมโยธาธิการก็อยากรวมศูนย์ไว้ที่กระทรวงมหาดไทยเหมือนเดิม ถ้าเป็นในต่างประเทศเรื่องผังเมืองไม่ขึ้นกับกระทรวงใดเป็นระดับนโยบาย แต่นักการเมืองไทยบอกว่า ให้ก่อสร้างก่อน แล้วค่อยว่ากันเรื่องผังเมือง จึงมีหลายฝ่ายพยายามแก้ไขกฎหมาย วิทยานิพนธ์ของเราเคยนำเสนอเรื่องที่ดินรกร้างที่อยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟ กรมธนารักษ์ การทางพิเศษ ซึ่งเราก็ทำเพื่อเสนอแนะว่า พื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนควรทำอย่างไร ขณะที่การรถไฟบอกว่า ต้องสร้างตึกสูงๆ มีออฟฟิคเต็มพื้นที่ การพัฒนาเพื่อเอาเงินเข้ามา แต่ขณะเดียวกัน คนก็อยากให้เป็นพื้นที่โล่งๆ เป็นพื้นที่สีเขียว นั่นก็เขียวเกินไป แล้วความสมดุลควรอยู่ตรงไหน เราเสนอในงานวิทยานิพนธ์ว่า ควรเปิดพื้นที่ทั้งการพาณิชย์ พื้นที่ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องมีพื้นที่สีเขียวด้วย มีพิพิธภัณฑ์ ตลาด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ เราก็นำเสนอในเรื่องการใช้ที่ดินใต้ทางด่วน ซึ่งก็ทีมอาจารย์ที่จุฬาฯทำงานเรื่องนี้ แต่เราไม่ได้รับงานทำต่อ มันดูไม่ดี

ถ้าจะให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีคุณภาพ ต้องทำอย่างไร
ต้องเริ่มจากนักการเมือง เราก็พยายามเสนอความคิด อย่างในปักกิ่งจากเมืองทรุดโทรมมาก แต่พวกเขาสามารถพัฒนาให้เมืองสวยงามได้ ในเกาหลี มีไฮเวย์ปิดลำธาร พวกเขารื้อเป็นสวนสาธารณะพัฒนาเป็นพื้นที่ริมน้ำ นักการเมืองของเขามีวิสัยทัศน์ จะพัฒนาเมืองต้องมองที่คนบริหาร ทั้งผู้ว่ากทม.และรัฐบาล อย่างในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะทำเมืองสุวรรณภูมิมหานคร ซึ่งที่นั่นไม่ใช่ที่ลุ่มที่ควรพัฒนา เพราะพัฒนาไปก็ขวางทางน้ำ และตอนนี้เห็นผลเสียแล้ว เพราะกั้นฟลัดเวย์ ต้องเปิดทางน้ำไปท่วมที่อื่น ซึ่งเราเคยพูดตั้งแต่สมัยสร้างสุวรรณภูมิ อย่างตอนนั้นรัฐบาลจะตัดถนนอ่าวไทย เราก็คัดค้าน งานนี้จุฬาฯทำ เราก็โวยวายกับอาจารย์ที่ทำ บอกว่าทำไม่ได้ ทำให้มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการโวยครั้งนั้นก็ได้ผล อย่างการสร้างสุวรรณภูมิเราก็โวย เขียนวิกีมีเดียให้ข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เราคนเดียว แต่มีหลายคนปลุกกระแส เราไม่อยากให้เกิดผลร้ายต่อเมือง

ปัญหาผังเมืองต้องแก้ที่ระบบก่อน ?
ถ้าทำเล็กๆ น้อยๆ ก็แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ต้องมีคนตัดสินระบบสูงที่เหมาะสม ต้องไม่ใช้ผลประโยชน์ในการวางผังเมือง ถ้าหน่วยงานนี้เป็นอิสระ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาก็ทำได้ อย่างตอนที่ได้ทุนในฐานะนักวิจัยอาคันตุกะ เรามีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ที่ชิคาโกได้รู้ว่า พวกเขาทำให้เมืองชิคาโกสวยงามได้อย่างไร บริหารเมืองอย่างไร สถาบันการศึกษามีส่วนร่วมในการทำวิจัยเมือง ผู้ว่ารัฐ แม้จะมีวิสัยทัศน์ แต่ก็ฟังความเห็น
ในทางกลับกัน นักการเมืองไทยอยากก่อสร้างเมืองตรงไหน ก็ประสานหน่วยงานรัฐให้ทำ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ในเชิงทฤษฎี แต่ตอนนี้เรามีมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแนวคิดเหมือนที่เกาหลี มีมหาวิทยาลัยของโซล ถ้าต้องการคนประเภทไหนมาทำงาน ก็ผลิตคนออกมา เพื่อเสริมเมือง ซึ่งกทม.ก็มีแนวคิดแบบนี้ แต่เริ่มจากการพัฒนาสาธารณสุข ในอนาคตจะขยายให้มีคณะสถาปัตยกรรมและผังเมือง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง การอัพเกรดข้าราชการปฎิบัติงานกทม.ก็จะดีขึ้น

ในมุมมองอาจารย์ เสน่ห์เมืองกรุงเทพฯ อยู่ตรงไหน
เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา มีกิจกรรมตามซอกเล็กซอกน้อยในชุมชน ซึ่งน่าสนใจ ไม่ว่างานภูเขาทอง สตรีทแฟร์ นิทรรศการ งานถนนสายเมือง งานกรุงเทพฯ 220 ปี นี่แหละคือชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ บ้านเมืองอื่นก็ทำแบบนี้ แต่เราไม่ค่อยโปรโมท ถ้าเป็นไปได้น่าจะส่งเสริม อย่างป้อมมหากาฬตรงผ่านฟ้า มีชุมชนถูกไล่ที่ดิน เราก็เข้าไปดูชุมชน เพราะมีประวัติความเป็นมา เราขอทุนจุฬาฯ พานักศึกษาลงชุมชนเรียนรู้วัฒนธรรม พาไปดูชนไก่ ปั้นดิน เห็นกิจกรรมชุมชนที่น่ารัก ดังนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปรื้อถอนชุมชน เพื่อทำสวนสาธารณะ แล้วทำให้ชีวิตชีวาหายไป

สมัยผู้ว่าฯสมัคร สุนทรเวช พยายามจะรื้อทิ้งให้เป็นที่ว่างโล่งๆ สะอาดตา ถนนราชดำเนินเคยมีความพยายามทำเป็นถนนซ็องซาลิเซ ซึ่งสุดโต่งไป เพราะอยากพัฒนาเศรษฐกิจ เราต้องสร้างเมืองที่พอดี ยกตัวอย่างเคยมีการปิดถนนให้เป็นถนนสายน้ำ มีน้ำพุอลังการ อันนั้นเกินความพอดี ถ้าถามว่าจุดที่น่าสนใจในการพัฒนาธุรกิจริมน้ำ เรามองว่า เอเชีย ทีค น่าสนใจ แทนที่จะขึ้นตึกสูงสร้างปัญหาให้เมืองมากขึ้น ก็พัฒนาริมน้ำ ได้ประโยชน์ในเชิงการค้าและดูดี บรรยากาศคล้ายสิงคโปร์ หรือชุมชนแพร่งก็น่ารัก เนื่องจากเป็นที่ดินทรัพย์สินไม่ให้มีการสร้างตึกสูง ชุมชนถนนพระอาทิตย์ ซอยบางลำพู มีบ้านไทย ตอนเช้ามีคนเล่นดนตรีไทย ก็น่ารัก เราต้องเป็นคนกรุงเทพฯที่อยู่ตรงนั้น ถ้าเราเดินแต่ห้างสรรพสินค้า ก็จะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ หรือตลาดนางเลิ้งน่ารักมาก

สิ่งใดที่ผู้ว่ากทม.คนใหม่ ควรทำ ?
เท่าที่เห็นผู้สมัครเป็นผู้ว่ากทม.ไม่ค่อยพูดถึงทีมงาน ส่วนใหญ่จะพูดว่า ตัวเองยิ่งใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ จริงๆ ไม่น่าเป็นอย่างนั้น การที่มีผู้ว่ากทม.โชว์เดียวคนเดียว ไม่น่าจะเป็นข้อดี ควรมีบุคลากรที่ทำแต่ละเรื่อง อย่างยุคผู้ว่าสุขุมพันธ์ บริพัตร ทีมงานชุดที่แล้วใช้วิศวกรในการทำงานผังเมือง แต่ชุดนี้มีนักผังเมืองมาทำงานโดยเฉพาะ ก็เป็นข้อดีที่เห็น

เมืองกทม.ควรเปลี่ยนแปลงเรื่องใดก่อน
ควรประสานความร่วมมือ เพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่สมบูรณ์ แค่ถนนเส้นเดียว ก็เกี่ยงกันไปมาระหว่างกทม.กับตำรวจ เมื่อไม่ประสานก็ไม่ได้ปฎิบัติ ถ้าทุกคนประสานงานกันได้ มีวิสัยทัศน์ในทางเดียวกันก็จะดี

ดูเหมือนการประสานงานจะเป็นเรื่องยาก?
ที่อื่นก็ประสานกัน แล้วทำไมกรุงเทพฯประสานงานกันไม่ได้ เราต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ว่า ผู้บริหารเมืองทะเลาะกับชุมชน หรือไม่ก็ทะเลาะกับรัฐบาล ปกติคนไทย ถ้าไม่ใช่ธุระก็ไม่สนใจ ยกเว้นไปรบกวนสิทธิส่วนบุคคล ก็จะปกป้อง โดยไม่ได้ดูว่านี่เป็นปัญหาของส่วนรวม เราเองก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เราก็ต้องทำ เพื่อให้คนเปลี่ยนความคิด

แล้วเมืองในอุดมคติของอาจารย์เป็นอย่างไร
ว่างเมื่อไหร่ ถ้ามีโอกาสไปเมืองนอก ก็จะไปเดินป่า เล่นสกี อยู่โฮมสเตย์ ส่วนตัวชอบคนและเมืองญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นรักชาติ มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมและจิตสำนึก สิ่งที่ทำออกมาก็เลยดูดี เมืองก็เลยสวย เพราะคนเสียสละ ดูจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่น พวกเขารับผิดชอบ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า คนญี่ปุ่นเป็นมิตรมากกว่าคนอเมริกันและคนฝรั่งเศส
ปารีสก็น่ารักแบบหนึ่ง แต่คนปารีสจะมีความเป็นส่วนตัวสูง สามารถเดินคุยกับตัวเอง พูดกับตัวเอง โดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและเห็นแก่ตัวในระดับหนึ่ง แต่มีวินัยในเรื่องสาธารณะ เมืองของเขามีการวางผังดี เมืองอเมริกาเปิดกว้าง เนื่องจากมีคนหลายเชื้อชาติเข้าไปอยู่ในพื้นที่และอยู่ร่วมกันได้ แต่มีช่องว่าง บ้านเราดีกว่าในเรื่องไม่มีชนชาติที่ขัดแย้งกันมากเหมือนอเมริกา

กรุงเทพฯ จะเทียบเคียงกับเมืองไหนได้บ้าง
น่าจะเมืองเวียนนา แต่เวียนนามีความเก่ามากกว่ากรุงเทพฯ เทียบกับสวิสไม่ได้ ที่นั่นไม่มีสลัม คนฐานะการเงินดี แต่กรุงเทพฯ มีทุกรูปแบบ ซึ่งเราเทียบได้กับยุโรปตะวันออก

ถ้าให้มอง...สิ่งที่มากเกินไปสำหรับเมืองกรุงเทพฯ อาจารย์คิดเห็นอย่างไร?
ห้างสรรพสินค้ามีมากไป และห้างสรรพสินค้ามีพื้นที่สีเขียวน้อย เพราะใช้พื้นที่ให้เต็มที่เพื่อการค้า นึกถึงผลประโยชน์สูงสุด ถ้าเราลดตรงนี้สักหน่อย แทนที่จะเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ก็ทำเป็นชอปปิ้งสตรีทน่ารักๆ ไม่ใช่ใหญ่เหมือนพารากอน ถ้าเราคิดเร็วกว่านี้ เมืองเราจะดีกว่านี้ เพราะคนบริหารห้างก็คิดว่า คนอื่นทำแล้วได้เงิน ก็ทำไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็เต็มพื้นที่ ถนนย่านสยามแน่นไปด้วยห้างสรรพสินค้า และเรายังไม่รู้ตัว กระจายไปต่างจังหวัดอีก
นั่นทำให้เมืองไม่น่าอยู่หรือ

ใช่ มันเยอะจนเกินพอดี โดยส่วนตัวไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา การพัฒนาต้องอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ อย่างสิงคโปร์ มีการวางผังเมือง แม้จะมีห้างสรรพสินค้า แต่พวกเขากำกับไว้ว่า ถ้าตรงไหนเยอะไป ต้องมีการเปิดพื้นที่สีเขียว พวกเขารักษาหน้าตาของตึกโบราณย่านไชน่าทาวน์ และรักษาได้จริงๆ ทำเป็นชอปปิ้งน่ารักๆ หรือพื้นที่เมืองในสิงคโปร์หรือปารีส จะมีการกั้นบางโซนไม่ให้คนเข้ามา ถ้าเข้ามาเขตนี้จะเสียเงิน ปิดถนนบางส่วนให้เป็นถนนคนเดิน จอดรถได้ตามหัวถนน แต่กทม.หรือเกาะรัตนโกสินทร์ไม่ทำ ถนนแคบแล้วยังเบียดทำทางจักรยาน ถ้าถนนแคบทางจักรยานก็หายไป เราไม่ได้คิดทั้งระบบ ถ้าจะมีทางจักรยานต้องคิดทั้งระบบ ไม่ใช่เบียดพื้นที่

ตอนนี้มีการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำมากขึ้น อาจารย์มองอย่างไร
พื้นที่ริมน้ำส่วนใหญ่ใช้ผลประโยชน์เต็มที่ ต่างคนต่างทำ ไม่มีระบบต่อเนื่อง ไม่มีระบบราชการวางระบบให้ จึงทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ดูไม่ดี

แบบนี้จะเรียกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือวิสัยทัศน์ผู้บริหาร
ถ้าตราบใดเราไม่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ก็เป็นแบบนี้ อย่างแคมเปญตาวิเศษ ของคุณหญิงกัลยา ทำให้คนไทยทิ้งขยะน้อยลง แก้นิสัยตรงนี้ได้ ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การมีแคมเปญดีๆ แก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่างถ้าเราเห็นแผงลอยบนทางเท้าเป็นเรื่องใหญ่ เราก็รณรงค์ให้น่ารักๆ ดูเป็นมิตร เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึก อย่างเรามีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ ได้เห็นเยอะ ดังนั้นจะให้เอากรอบของเราไปบอกว่าให้ทำแบบนี้ คาดหวังว่าคนอื่นจะทำ ก็เป็นไปไม่ได้

อาจารย์อยากได้ผู้ว่ากทม.แบบไหน
อยากได้ผู้ว่าฯที่มีทีมงานประสานประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุด ไม่อยากได้ผู้ว่าฯที่คิดว่าตัวเองเก่งทุกอย่าง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่คิดว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่ดี ไม่ว่าเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ การจัดการน้ำที่ผ่านมา เมกะโปรเจคท์ที่ทำ เห็นชัดว่าไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ออกแนวทำลายมากกว่า เมื่อจะออกแบบอะไร ทั้งสร้างบ้านและธุรกิจ ก็ต้องพัฒนาให้ดี อย่างทาวเฮ้าส์ก็มีการกำหนดว่า ต้องมีพื้นที่โล่ง แต่ส่วนใหญ่ก็จะสร้างให้เต็มพื้นที่ชนหัวชนท้าย

ในบรรดางานที่ทำ ชอบทำอะไรมากที่สุด
ชอบงานออกแบบพื้นที่ เพราะมันเกิดขึ้น ได้เห็นและได้ใช้ ถ้ามีโอกาสก็ทำ อยากทำงานที่ได้สร้างจริงๆ

เรื่องใดที่อาจารย์อยากผลักดันให้เป็นรูปธรรม

เรื่องกฎหมายผังเมืองอยากให้แก้ไข ซึ่งการแก้กฎหมายก็ต้องฝ่ายวุฒิสภา รัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน เราก็ไปช่วย เราพาคนพวกนี้ไปดูผังเมืองในต่างประเทศ และคนที่ไปดูงานก็บอกว่า ไม่ได้ไปเที่ยว แต่ไปเรียนรู้