“หนองหว้า วินเลจ”กลุ่มเกษตรกรผู้มั่งคั่ง

“หนองหว้า วินเลจ”กลุ่มเกษตรกรผู้มั่งคั่ง

จากผืนดินที่เคยแห้งแล้งกันดารผ่านมา3ทศวรรษ ผืนดินเดียวกันนี้กลับกลายเป็นที่อยู่ของ“เกษตรกรผู้มั่งคั่ง"ที่พรั่งพร้อมทั้งรายได้และความสุข

ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “NONGWA VILLAGE” เรียงตัวทักทายแขกผู้มาเยือน อยู่ตรงบริเวณปากทางเข้า “หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

บนพื้นที่ 1,250 ไร่ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเกษตรกร 70 ครอบครัวในปัจจุบัน ภายในถูกแบ่งสัดส่วนเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งอาคารสำนักงาน ร้านค้า สภากาแฟของชุมชน โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โรงผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ บ้านพัก โรงเรือนสุกร ฟาร์มเพาะเห็ด ไร่สวน ฟาร์มสเตย์ ฯลฯ ไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาเพิ่งคว้ารางวัลอันดับ 1 Diamond Award จากการประกวด 5ส ระดับประเทศ และรางวัล Popular Vote จากการประกวด Thailand 5S Award 2012 ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. มาครอบครองได้สำเร็จ

แต่ใครจะคิดว่าผืนดินเดียวกันนี้ จะเคยเป็นเพียงที่ดินแห้งแล้งกันดาร จนแทบทำการเกษตรอะไรไม่ได้ พืชชนิดเดียวที่ปลูกขึ้น ก็คือมันสำปะหลัง ผลผลิตก็น้อยมากเพราะคุณภาพดินไม่ดี การเดินทางก็แสนยากลำบาก ซ้ำยังไม่ต่างจากเมืองปิด ซึ่งเต็มไปด้วยโจรและการลักขโมยในยุคนั้น

นี่คือเรื่องจริงที่ “ภักดี ไทยสยาม” ประธานกรรมการ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด บอกกับเรา และเป็นเหตุผลที่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. ร่วมกับหน่วยงานราชการ และสถาบันการเงิน ตัดสินใจดำเนินตามแนวพระราชดำริในด้านการปฏิรูปที่ดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเข้ามาที่นี่เพื่อเริ่มโมเดลในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ยากไร้ ได้มีที่ดินทำกิน และมีอาชีพดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

วิธีการของ ซี.พี. คือ รวบรวมผืนดินเสื่อมสภาพเพาะปลูกไม่ได้ผล ในเขตตำบลบ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จำนวน 1,250 ไร่ จากนั้นก็ลงทุนปรับปรุงพื้นที่ โดยประสานกับหน่วยราชการส่วนท้องถิ่น อำนวยความสะดวกทั้งด้านปฏิรูปที่ดิน การจัดระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

เติมเต็มทางด้านเงินทุน โดยดึงสถาบันการเงิน อำนวยสินเชื่อให้เกษตรกรแต่ละราย เพื่อเป็นค่าที่ดินจำนวน 24 ไร่ บ้านอยู่อาศัย 1 หลัง และโรงเรือนเลี้ยงสุกรอีก 1 หลัง พร้อมพันธุ์สุกร 30 แม่พันธุ์ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 50 ครอบครัว จัดตั้งเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ขึ้น ในปี 2520 ภายหลังอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

ชาวบ้านไม่ได้ทุกอย่างมาฟรีๆ แต่พวกเขาต้องช่วยกันทำงาน และสร้างผลผลิตที่ดี เพื่อให้มีรายได้ไปชำระเงินกู้

“ในระยะแรกทุกคนต้องกู้เงินร่วมกันที่ 17.8 ล้านบาท ฉะนั้นแต่ละคนก็มีหน้าที่ไปเลี้ยงแม่พันธุ์สุกร เพื่อผลิตลูกหมูส่งให้กับโครงการ เพื่อช่วยกันผ่อนชำระหนี้ โดยเขาจะได้รับค่าตอบแทนจากลูกหมูที่เขาผลิตได้ ซึ่งการทำเรื่องนี้ได้ ต้องอาศัยสองส่วนสำคัญคือ “ความขยัน” และ “ความซื่อสัตย์” ถ้าไม่มีสองตัวนี้โครงการก็คงสำเร็จไม่ได้”

เขาบอกความยากในยุคเริ่มต้น โดยยอมรับว่า เคยต้องตัดสมาชิกที่ไม่ซื่อสัตย์ออกไป เช่น แอบนำลูกหมูที่ผลิตได้ไปขายข้างนอก แล้วนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แน่นอนว่าถ้ามีแต่คนแบบนี้อยู่ในหมู่บ้าน โครงการฯ ก็คงม้วนเสื่อไปนานแล้ว

หน้าที่ของผู้ก่อตั้ง ไม่เพียงรับซื้อลูกหมู หรือดูแลด้านการตลาดให้ แต่ยังรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเลี้ยงสุกรในระบบโรงเรือนสู่เกษตรกร พร้อมจัดหาพันธุ์สุกรที่ดี อาหารสัตว์ที่เหมาะสม ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น องค์ความรู้ รวมถึงสัตวแพทย์ สัตวบาล คอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการสนับสนุนให้ปรับปรุงพื้นดินเพื่อปลูกพืชไร่เสริมรายได้ พร้อมส่งเสริมรายได้จากช่องทางอื่นๆ จนเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญใช้เวลาเพียง 10 ปี พวกเขาก็สามารถคืนเงินกู้ และได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้านอยู่อาศัย และโรงเรือนเลี้ยงสุกรของตนเองได้สำเร็จ

อีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจ คือการ รวมกลุ่มกันเป็น “บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด” องค์กรธุรกิจของเกษตรกร ที่เกิดขึ้นในปี 2530 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรทั้ง 50 ครอบครัวเป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้น และให้คัดเลือกตัวแทนเพื่อมาร่วมบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก ทั้งการผลิต ตลาด และสังคม พร้อมเรียนรู้ด้านการจัดการธุรกิจเกษตร กลายเป็นเกษตรกรมืออาชีพอย่างเต็มภาคภูมิ

“จากรายได้ต่อเดือนที่ครัวเรือนละ 2,000 บาท ปัจจุบันชาวหนองหว้ามีรายได้ที่ 8 หมื่นบาทต่อเดือน” เขาบอกผลสำเร็จที่มีพื้นฐานมาจากความขยันและซื่อสัตย์ และเป็นความจริงที่บางครอบครัวมีรายได้สูงถึง 3-4 แสนบาทต่อเดือน ทั้งจากการเลี้ยงสุกร การเกษตร และฟาร์มสเตย์ ที่ต่อยอดทำรายได้ให้กับชาวหนองหว้าอย่างงดงามในวันนี้

ปัจจุบันชาวบ้านหนองหว้า มีจำนวน 70 ครอบครัว โดยเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรมีเหลือเพียง 40 ครัวเรือน แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่กว่า 7,000 แม่พันธุ์ และมีอาชีพเสริมอย่าง ปลูกผัก ทำสวน ฟาร์มสเตย์ ที่มีอยู่กว่า 20 หลัง

แม้โครงการของพวกเขาประสบความสำเร็จ แต่จะยั่งยืนได้ ก็อยู่ที่ลูกหลานพร้อมสานต่อ สิ่งที่แตกต่างจากลูกหลานเกษตรกรทั่วไป คือเด็กๆ จากหนองหว้า จะถูกดึงมาทำกิจกรรมและให้บทบาทตั้งแต่เด็กๆ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรมของพ่อแม่

“ตั้งแต่พออ่านออก เราดึงเขามาร่วมกิจกรรมเลย เช่น อ่านข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นมัคคุเทศก์ ให้บทบาทเขา ให้เขามีความสำคัญ สร้างความภูมิใจให้กับเขา เขาจะมีส่วนร่วมกับชุมชน สุดท้ายก็จะรักและหวงแหนชุมชนแห่งนี้”

ภาพหนึ่งที่สะท้อนกลับมาชัดเจน คือลูกหลานของหนองหว้า เมื่อเรียนจบ ก็มักกลับมายึดอาชีพเกษตรที่หนองหว้า

“เมื่อก่อนพอพูดถึงการเลี้ยงหมู เด็กๆ จะไม่เอาเลย เหม็น สกปรก แต่เดี๋ยวนี้เป็นการเลี้ยงระบบปิด ที่ทันสมัย และเขาไม่ต้องทำเองก็ได้ แต่สามารถจ้างคนมาดูแล กลายเป็นนายจ้าง เป็นเถ้าแก่ เด็กก็เลยรู้สึกภูมิใจและเลือกมาสานต่อ” วสันต์ โปสูงเนิน อดีตพนักงานซี.พี.ที่ตัดสินใจมาเป็นพลเมืองหนองหว้า เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา บอกภาพที่เกิดขึ้นกับทัศนคติต่ออาชีพเกษตรกรรมของเด็กๆ ชาวหนองหว้า

ก่อนลาจากกัน เราได้พูดคุยกับ “เด็กหญิง พรพฤติกร จันทโชติ” ตัวแทนลูกหลานของที่นี่ และได้เห็นวินัยที่ชาวหนองหว้าปลูกฝังให้กับลูกหลานของพวกเขา ทั้งการให้ช่วยงานตั้งแต่เด็กๆ อบรมสั่งสอนให้รู้หน้าที่ตัวเอง มีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ที่โรงเรียนสอนทั้งวิชาการและหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้เด็กๆ ได้นำมาปรับใช้ที่บ้าน เด็กหญิงบอกเราว่าหลังเรียนจบจะกลับมาเป็นสัตวบาลที่หนองหว้า มาช่วยงานของครอบครัว แต่นั่นยังไม่ทำให้เราเซอร์ไพรส์ได้เท่าความคิดคมๆ ที่บอกเราว่า...

“อยากให้หนองหว้ามีความมั่นคงมากขึ้น คนในชุมชนรัก สามัคคีกัน ช่วยเหลือกันและกัน และช่วยกันสร้างโครงการต่างๆ เพื่อให้เด็กในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

การมองเห็นของคนเราอาจจะต่างกัน แต่ความเข้าใจและการเรียนรู้ จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ แม้คนหนึ่งอาจคิดต่าง อีกคนอาจคิดเหมือนกัน แต่เราก็สามารถรวมความคิดเหล่านี้ แล้วทำอะไร ให้กับชุมชนของเราได้”

คมความคิดของเด็กๆ จากหนองหว้า หมูบ้านของเกษตรกรผู้ร่ำรวย เงินทอง และความสุข