รับมืออย่างไร...เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานไม่ปกติ

หากชะล่าใจปล่อยอาการทิ้งไว้ไม่รีบรักษา ก็อาจเสี่ยงถึงขั้นหัวใจล้มเหลว หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หิวบ่อย ทานจุ น้ำหนักลดฮวบแม้ทานอาหารมากขึ้น ขี้ร้อน หงุดหงิดง่าย ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง คอมีขนาดโตขึ้น ตาโปน หากใครกำลังมีอาการดังกล่าวมาพึงระวัง เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกให้รู้ว่าตอนนี้ต่อมไทรอยด์ของเรากำลังทำงานผิดปกติ ซึ่งหากตรวจพบแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากชะล่าใจปล่อยอาการทิ้งไว้ไม่รีบรักษา ก็อาจเสี่ยงถึงขั้นหัวใจล้มเหลว หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

นายแพทย์ณัฐนนท์ มณีเสถียร อายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า “ไทรอยด์” เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากต่อมไทรอยด์ซึ่งเป็นต่อมที่มีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่บริเวณด้านหน้าหลอดลม ใต้ลูกกระเดือก มีขนาดประมาณ 15-30 กรัม เคลื่อนที่ขึ้นลงตามการกลืน โดยฮอร์โมนไทรอยด์นั้นจะทำหน้าที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย และมีผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งสภาพอารมณ์ จิตใจ การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ รวมทั้งการเจริญเติบโต สติปัญญา และพัฒนาการในเด็ก ฃ

หากไทรอยด์ฮอร์โมนมีการทำงานมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญพลังงานเร็วมากผิดปกติซึ่งส่งผลให้คนไข้มีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว หิวง่ายทานจุแต่น้ำหนักลดเร็ว โดยเราจะเรียกภาวะการทำงานผิดปกติชนิดนี้ว่า “ โรคไทรอยด์เป็นพิษ” สำหรับสาเหตุหลักของโรคนี้ก็เกิดจากร่างกายของคนเราสร้างภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานมากขึ้นหรือที่เรียกว่าโรค Grave’s Disease ส่วนสาเหตุอื่นๆ ก็อาจเกิดจาก การอักเสบของต่อมไทรอยด์ หรือการได้รับฮอร์โมนไทรอยด์จากแหล่งอื่น เช่น รับประทานยา หรืออาหารที่มีฮอร์โมนไทรอยด์เป็นองค์ประกอบ หรือจากเนื้องอกไทรอยด์ชนิดเป็นพิษ( Toxic nodular goiter) เป็นต้น ในปัจจุบันพบว่าคนไทยร้อยละ1 – 3 คนป่วยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าชาย

สำหรับวิธีการรักษาโดยทั่วไปทำได้ 3 วิธี คือ การรับประทานยา เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งผู้ป่วยมักต้องทานยาต่อเนื่องประมาณ 24-36เดือน วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยอายุน้อย เป็นโรคมาไม่นาน ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตไม่มาก หรือผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการผ่าตัด เช่น มีโรคประจำตัวหลายโรค การรับประทานน้ำแร่รังสีไอโอดีน เป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เป็นโรคมานาน ผู้ป่วยที่กลับมาเป็นซ้ำหลังรับประทานยาครบตามกำหนด ผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านไทรอยด์แบบรุนแรง การผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมาก มีการกดเบียดอวัยวะข้างเคียงจากต่อมไทรอยด์ เช่น กลืนลำบาก หายใจลำบาก หรือผู้ป่วยที่สงสัยอาจมีมะเร็งต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย

รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการทางตาจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นรุนแรง (Severe Grave’s Ophthalmopathy) สำหรับภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ จะมีอาการไทรอยด์เป็นพิษเพียงชั่วคราว จึงไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านฮอร์โมน การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การรับประทานยาลดอาการใจสั่น กรณีที่มีใจสั่น มือสั่น หรือยาลดอาการปวดถ้ามีอาการปวดบริเวณต่อมไทรอยด์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีภาวะการทำงานผิดปกติอีกชนิดหนึ่งของต่อมไทรอยด์ที่พบว่ามีอาการตรงกันข้ามกับโรคไทรอยด์เป็นพิษก็คือ “ไทรอยด์ทำงานต่ำเกินไป” ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาได้น้อยกว่าปกติทำให้มีการเผาผลาญในร่างกายน้อยลงผิดปกติ ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย อ่อนเพลีย เชื่องช้า รู้สึกง่วงนอน เฉื่อยชาไม่กระฉับกระเฉง ขี้ลืม ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เสียงแหบ ผิวแห้ง ใบหน้าเปลือกตา หรือมือเท้าบวม ซึมเศร้า ชีพจรเต้นช้า ถ้าเป็นมากอาจพบภาวะหัวใจวาย น้ำท่วมปอด และช่องเยื่อหุ้มหัวใจส่วนในเด็กเล็กจะมีพัฒนาการช้า ตัวเตี้ย และสติปัญญาต่ำได้

สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากร่างกายสร้างสารขึ้นมายับยั้งการทำงานของไทรอยด์ทำให้ไทรอยด์ทำงานน้อยลง สาเหตุอื่นที่พบ ได้แก่ การขาดสารไอโอดีน การอักเสบเรื้อรังของต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไป การกลืนน้ำแร่รังสีไอโอดีน และโรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า

คุณหมอแนะนำว่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์ทำงานผิดปกตินั้นควรงดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะทำให้อาการทางตารุนแรงมากขึ้น เช่น ตาโปนขึ้น ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มบำรุงกำลังหรือคาเฟอีน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น ควรงดออกกำลังกายหนักในช่วงแรกของการรักษา โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาและทำให้รักษาหายยากขึ้น ในกรณีที่รักษาหายขาดแล้วควรมีการติดตามระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากอาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำหรือเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำได้

ผู้ป่วยที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากการได้รับยาต้านฮอร์โมนไทรอยด์บางชนิด (Methimazole) ในหญิงตั้งครรภ์ครั้งแรก หรือการรักษาบางวิธี เช่น รับประทานน้ำแร่รังสีไอโอดีนอาจก่อให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้ ยาต้านฮอร์โมนไทรอยด์อาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ ผื่นคัน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดข้อ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน หรือเม็ดเลือดขาวต่ำได้ ดังนั้น ถ้ามีอาการดังกล่าวหรือมีไข้เจ็บคอ ควรปรึกษาแพทย์ทันที

อย่างไรก็ตามเราควรใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นสังเกตร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และถ้าพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น กินจุแต่น้ำหนักลด ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจแต่เนิ่นๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณที่เตือนเราได้ว่าตอนนี้ต่อมไทรอยด์ของเรากำลังทำงานไม่ปกติ คุณหมอณัฐนนท์ฝากทิ้งท้าย