'ปลากัดไทย' ลมหายใจในวิกฤติโควิด-19

'ปลากัดไทย' ลมหายใจในวิกฤติโควิด-19

โคโรนาไวรัสเปลี่ยนสถานะ 'ปลากัด' สัตว์น้ำประจำชาติไทย ให้กลายเป็นสุ่มเสี่ยง ทั้งคนเลี้ยง คนรักษ์ ไปจนถึงความอยู่รอดของสายพันธุ์พื้นบ้าน

กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอยู่แท้ๆ แต่เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง ให้แวดวง ปลากัดไทย ต้องสั่นคลอน ตั้งแต่หมดช่องทางการขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ มาจนถึงวิกฤติโควิด-19 ที่ถล่มคนเพาะพันธุ์ปลากัดจนแทบล้มทั้งยืน

ผลกระทบต่อวงการ 'ปลากัด' ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องขายได้-ขายไม่ได้ แต่ลุกลามไปถึงสถานภาพของปลากัด สัตว์น้ำประจำชาติ ที่อาจสูญพันธุ์!

  • โคโรนา VS ปลากัด

ตั้งแต่การปรากฏของภาพพื้นหลัง ‘ปลากัด’ บนไอโฟน 6s เมื่อประมาณสองปีก่อน กระแสความนิยมปลากัดไทยก็พุ่งสูงขึ้นจนแตะจุดพีค ปลากัดไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันให้ปลากัดเป็น ‘สัตว์น้ำประจำชาติ’ ทำให้เหนือคำว่าพีคยังมีพีคกว่า

นิภา สุพินพง ทายาทลุงอ๋า ปากน้ำ เซียนปลากัดแถวหน้าของไทย เล่าว่า ช่วงนั้นตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่วัยเกษียณหันมาเพาะปลากัดขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เด็กหลายคนขายปลาส่งตัวเองเรียนได้ เพราะตอนนั้นมีช่องทางออนไลน์มากมาย ทั้งเพจเฟซบุ๊ค, กลุ่มซื้อ-ขาย, กลุ่มประมูล ขายเป็นล่ำเป็นสัน ผสมสายพันธุ์ใหม่ๆ กันเป็นว่าเล่น ฟาร์มใหญ่ซึ่งมีลูกค้าต่างชาติส่งออกปลากัดแทบทุกวัน

กระทั่งจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ กฎของเฟซบุ๊คที่ระบุว่า ไม่อนุญาตให้ขายสัตว์ทั้งบน Marketplace และในกลุ่มซื้อขายสินค้า ซึ่งรวมถึงการโพสต์เพื่อหาผู้รับเลี้ยงสัตว์ เป็นสัญญาณอันตรายระลอกแรกที่เหมือนธานอสดีดนิ้ว ทั้งเพจ ทั้งกลุ่ม เกี่ยวกับซื้อขายและประมูลปลากัด ปลิวหายในพริบตา

“แม้แต่เฟซบุ๊คส่วนตัวที่โพสต์ภาพปลากัดก็ถูกปิด ลูกค้าก็กระจัดกระจาย เพราะเขาหาเราไม่เจอ สำหรับคนที่ทำอาชีพเสริมก็ตายไปเยอะเพราะไม่มีช่องทางการขาย พวกกลุ่ม Home Breeder (ผู้เพาะพันธุ์ที่บ้าน) จะใช้วิธีเปิดกลุ่ม พอถูกปิด ก็เปิดใหม่ สร้างเฟซใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันเหนื่อย และเฟซบุ๊คฉลาดมาก มันรู้เลยว่าเราคือคนเดิม”

เมื่อ 'โควิด-19' มาถึงก็เป็นวิกฤติที่แทบจะปิดฉาก คนที่เคยรอดจากเฟซบุ๊คหลายรายตายทันที เมื่อลูกค้าที่ต่างประเทศมาซื้อไม่ได้ จะส่งออกก็ไม่ง่ายเหมือนเก่า ในขณะที่ต้นทุนต่างๆ ยังงอกงาม ทว่ารายได้ไม่งอกเงย

“พูดถึงภาพรวมต้องบอกว่า “แย่” แต่ละเจ้าแต่ละร้านมีกลุ่มลูกค้าต่างกัน ฟาร์มใหญ่ที่ทำเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัว ลูกค้าคือต่างชาติ พอล็อคดาวน์ปุ๊บ รายได้หลักของเขาหายไป แต่ต้นทุนคงที่ยังเกิดขึ้น ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติแล้ว เป็นสิ่งที่ดีมาก มันกำลังไปได้สวยเลย แต่มาเจอเฟซบุ๊คแล้วต่อโควิด ตายสนิท”

นิภา อธิบายเพิ่มเติมว่าต้นทุนของธุรกิจเพาะเลี้ยงปลากัดขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในกลุ่มใด Home Breeder ที่คัดเฉพาะปลาสวยๆ เน้นแต่หัวๆ จะใช้พื้นที่ไม่เยอะ ต้นทุนจึงไม่มาก เน้นที่พ่อแม่พันธุ์ ภาชนะ น้ำ ไฟ อาหารปลา ส่วนฟาร์มใหญ่ก็ต้องแบกรับมากขึ้นตามสัดส่วน

1_0

  • รักษ์ไว้ก่อนจะสาย

มรสุมจากโควิด-19 ไม่ได้ทิ้งร่องรอยแค่ในแง่ธุรกิจเท่านั้น แต่กลายเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์เลวร้ายเกินคาด บางคนได้เห็นภาพที่แชร์ต่อกันบนโซเชียลมีเดียเป็นภาพคนปล่อยปลากัดจำนวนมหาศาลลงแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมกับแคปชั่นทำนองว่า ฟาร์มแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงปลากัดไม่ไหว ต้องเทปลาทิ้งเพื่อความอยู่รอด

ความดราม่าไม่ได้เกิดขึ้นเพียงที่เห็นในภาพ แต่หลังจากปลากัดเหล่านั้นลงไปในคูคลอง มหากาพย์ความวายป่วงก็บังเกิด

ชาญชัย สุนันท์กิ่งเพชร ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน เล่าเรื่องน่าตกใจว่าหลังจากระบบเศรษฐกิจถูกปิดเพราะโควิด-19 จากการส่งออกที่กำลังจะเกิดขึ้นประมาณ 20 ล้านตัว หรือมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท กลับตาลปัตรเป็นยอดสั่งซื้อและส่งออกหายเกลี้ยง ภายในประเทศก็ขายไม่ได้ เพราะตลาดหลักปิด อาทิ ตลาดนัดสวนจตุจักร, ตลาดสนามหลวง 2 ฯลฯ ผู้คนไปซื้อไม่ได้

ปลากัดเป็นสัตว์ที่ออกลูกเยอะ และเปอร์เซ็นต์การรอดสูงมาก แถมยังโตไว ทำให้แต่ละฟาร์มมีปลากัดในมือเยอะมาก ขายไม่ได้ก็หลุดไซส์ที่ขายได้ บางรายจึงเลือกวิธีเททิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ ชาญชัยบอกว่าเป็นอันตรายที่สุดสำหรับปลากัดพื้นบ้าน หรือที่เรียกกันว่า ‘ปลากัดป่า’

“ถ้าปลากัดเลี้ยงถูกปล่อย แล้วปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้แล้ว ระบบนิเวศจะปรับเปลี่ยนไป ถ้าไปเจริญเติบโตได้ในธรรมชาติ แล้วผสมกับปลาท้องถิ่น มันจะกลายเป็นตัวอะไร”

สำหรับปลากัดพื้นบ้านของไทยที่เคยลงทะเบียนไว้ ได้แก่ 1.betta splendens ปลากัดพื้นบ้านภาคกลางและเหนือ 2.betta smaragdina ปลากัดพื้นบ้านภาคอีสาน 3.betta imbeIIis ปลากัดพื้นบ้านภาคใต้ 4.betta mahachaiensis ปลากัดพื้นบ้านมหาชัย และ 5.betta siamorientalis ปลากัดพื้นบ้านภาคตะวันออก

การที่ปลากัดสวยๆ งามๆ กลายเป็น ‘เอเลี่ยน สปีชีส์’ สำหรับระบบนิเวศ เขาอธิบายว่าแม้จะไม่ใช่ปลากัดเลี้ยงทั้งหมดจะรอดในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ แต่จะลืมไม่ได้เด็ดขาดว่าในจำนวนนั้นต้องมีปลาที่แกร่งพอ และปลากัดเลี้ยงเหล่านั้นได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จนไม่ใช่สายพันธุ์ตามธรรมชาติ สีสันต่างๆ ถูกสรรสร้างด้วยน้ำมือมนุษย์

“สมมติเราเอาปลากัดสีๆ ลายแปลกๆ ไปปล่อยแถวชานเมืองซึ่งมีปลากัด splendens สายพันธุ์โบราณอยู่ พวกนี้รัดทีเดียวก็ติดลูกได้เลย เพราะเป็นสายเลือดเดียวกัน หลังจากนั้นพ่อมันอาจตายทีหลังด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม แต่ลูกมันเต็มไปหมดแล้ว

สำหรับคนที่อนุรักษ์จริงๆ ขนาดช้อนปลาจากแหล่งนี้มาเพาะ เอาไปปล่อยที่อื่นยังไม่ได้เลยนะ ต้องเอามาปล่อยที่แหล่งเดิม”

ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้านจึงเก็บรักษาปลากัดพื้นบ้านทุกสายพันธุ์ที่มีในประเทศไทยเอาไว้ ซึ่งพวกเขานิยามว่าปลากัดที่หลายคนเข้าใจว่ามนุษย์เป็นผู้เพาะพันธุ์ขึ้นมา แท้จริงแล้วปลากัดมีอยู่ในธรรมชาติมาแสนนาน เพียงแต่ธรรมชาติถูกทำลายและการผสมข้ามสายพันธุ์ในแหล่งธรรมชาติ ทำให้ปลากัดพื้นบ้านสูญพันธุ์ไปจากหลายแหล่ง

“ความเสี่ยงสูญพันธุ์ไม่ได้เพิ่งเกิด เมื่อก่อนปลาพื้นบ้านในกรุงเทพมีหลายแหล่ง ปัจจุบันเป็น 0 แล้ว ยิ่งสายพันธุ์มหาชัยเคยเป็นปลาที่อยู่สามสมุทร ปัจจุบันเหลือแค่ที่สมุทรสาครที่เดียว ถ้าสมุทรสาครหมด สายพันธุ์มหาชัยจะหมดจากโลกนี้ เพราะมีแค่ที่นี่ และเฉพาะอำเภอเมืองที่เดียว

ถึงชมรมจะมีสายพันธุ์พวกนี้อยู่ แต่ผมภาวนาอย่าให้ปลากัดหมดไปจากแหล่งธรรมชาติเลย เพราะปลากัดในแหล่งธรรมชาติมีเสน่ห์มากที่สุด ไม่ใช่ปลาในมือเรา ไม่ใช่ปลาที่มนุษย์เพาะขึ้นมา เพราะมันอยู่ด้วยตัวมันเอง มันสวยงามตามสายพันธุ์และสิ่งแวดล้อม”

สำหรับผู้เพาะพันธุ์ปลากัดพื้นบ้าน เป้าหมายหลักคือเพื่อลดการล่าในแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการอนุรักษ์ปลากัดป่า หลายรายขายไม่ได้ต้องเลิกกิจการไป สิ่งที่น่าห่วงต่อมาคือเมื่อพ้นช่วงโควิด-19 สถานการณ์ดีขึ้น การล่าปลากัดป่าจากธรรมชาติจะกลับมา เพราะพวกเขาไม่มีปลาในมือ จำนวนที่น้อยลงอยู่แล้วน่าจะแย่ลงอีก

  • สังเวียนที่เปลี่ยนไป

จากเส้นทางธุรกิจกำลังโชติช่วง เจอวิกฤติจนร่วงไปหลายราย ยังมีผู้อยู่รอดในสังเวียนนี้ เคล็ดลับไม่มีอะไรมากไปกว่าคำว่า ‘ปรับตัว’

Golden Betta คือแบรนด์ฟาร์มปลากัดของ 'ลุงอ๋า ปากน้ำ' ที่ปัจจุบันพูดได้เต็มปากว่ายังรอด เพราะปรับตัวได้ทัน ซึ่ง นิภา สุพินพง ผู้เป็นลูกสาวบอกว่าตั้งแต่เฟซบุ๊คไล่รื้อแผงปลากัดออนไลน์จวบจนวิกฤติโควิด-19 พวกเขาได้วางทางหนีทีไล่เอาไว้แล้ว

“ทางออกของคนอื่นอาจเป็นการเปิดกลุ่ม พอถูกปิดก็หนีไปเปิดใหม่ หรือเลิกกิจการ แต่เราเลือกที่จะสร้างช่องทางของเราขึ้นเองเลยโดยการสร้างแอพพลิเคชั่น Golden Betta เป็น Business Unit ของเราทั้งหมด”

ในแอพพลิเคชั่นประกอบด้วย ตลาดปลา, ผลิตภัณฑ์, บทความ, นิตยสาร, คลิปวิดีโอ และการ์ตูน ซึ่งการ์ตูนที่ว่าไม่ใช่การ์ตูนไก่กา แต่สร้างขึ้นอย่างจริงจัง ใช้นักวาดมืออาชีพ มีเรื่องราวน่าติดตาม แบบเดียวกับการ์ตูนที่วางขาย แต่เรื่องนี้มีให้อ่านฟรีในแอพ

betta war

สมพงศ์ คงทวีกุล สามีของนิภาและเป็นเจ้าโปรเจคการ์ตูน Betta War เล่าว่าก่อนหน้านี้ได้ใช้สื่อดิจิทัลในธุรกิจปลากัดอยู่แล้ว ทั้งเฟซบุ๊ค เว็บไซต์ ยูทูบ จนเริ่มมองว่ากลุ่มที่น่าสนใจคือเยาวชน ซึ่งเขาเพาะปลากันได้ตั้งแต่อายุ 11-12 ปี สื่อที่เข้าถึงมากที่สุดคือการ์ตูน

“ผมแต่งเรื่อง แล้วให้นักวาดระดับต้นๆ ของประเทศมาวาด แล้วออกตอนที่หนึ่งพร้อมกับแอพพลิเคชั่นในช่วงเฟซบุ๊คปิดกั้น ก็โชคดีที่ตอนนั้นเราออกงานที่ห้างแห่งหนึ่ง เราก็เอาสแตนดี้ไปตั้ง กระแสก็ดี จนตอนนี้เนื้อเรื่องแต่งจนจบซีซั่นแล้ว ส่วนการ์ตูนก็ทำมาถึงตอนที่ 8 แล้ว ซึ่งซีซั่นแรกจะมี 30 ตอน”

การเกิดขึ้นของ Betta War ทำให้นี่เป็นการ์ตูนที่เกี่ยวกับปลากัดเรื่องแรกของประเทศไทย และเขานิยามว่าทั้งแอพและการ์ตูนคืออนาคตของธุรกิจนี้ เพราะจะแทรกซึมไปในจิตใจของเด็ก ถึงขั้นมีคนมาตามหาซื้อปลากัดแบบเดียวกับคาแรคเตอร์ในการ์ตูนเลยทีเดียว

...

ทั้งคนทำธุรกิจและกลุ่มคนอนุรักษ์ปลากัด คงเปรียบได้กับปลากัดที่กำลังเจอความท้าทายครั้งใหญ่ โรคภัยที่เป็นศัตรูอันแข็งแกร่ง อุปสรรคปัญหาที่เสมือนสังเวียนประลองซึ่งไม่คุ้นเคย แต่ปลากัดก็คือปลากัด เป็นนักสู้วันยังค่ำ