ปลอดภัยในไร่ส้ม

ปลอดภัยในไร่ส้ม

ปอกเปลือกรูปแบบการปลูกส้ม ผลไม้ที่อุดมด้วยสารเคมี แล้วนำงานวิจัยมาเปลี่ยนให้ Juicy แบบปลอดภัย

“ไม่มีแมลงบินผ่าน”

“ห้ามจับผลส้มด้วยมือเปล่า”

“เอาไปฝากคนที่ไม่ชอบสิ จะได้ตายไวๆ”

ประโยคหยอกเย้าเหล่านี้แม้จะคล้ายพูดเล่น แต่กลายเป็นสิ่งที่กำลังตอกย้ำความจริงของสวนส้มเกือบทั้งประเทศ เพราะในทุกกระบวนการเพาะปลูกและดูแลล้วนเต็มไปด้วยสารเคมีที่ประโคมใช้เพื่อให้ได้ผลผลิต ‘มาก’ และ ‘สวย’ เพียงพอต่อการส่งขายจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ทว่าภายใต้เปลือกเงาวับหรือแม้กระทั่งรสชาติแสนอร่อย คือสารตกค้างที่ส่งผลสุขภาพผู้บริโภคชนิดเต็มปากเต็มคำ

 

  • ต้นส้มแสนร้าย

“30-40 ที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมยังดีมาก ป่ายังอุดมสมบูรณ์ การผลิตส้มของผมก็ไม่มีอะไรมาก ปลูกปุ๊บไม่ต้องดูแลมาก สารเคมีไม่ต้องใช้ ส้มแข็งแรง ส่วนศัตรูพืชก็อยู่ในป่าปกติของเขา แต่พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยน อย่างที่เราทราบว่าโลกร้อน แห้งแล้ง อุณหภูมิเปลี่ยน ศัตรูพืชมีหลากหลายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น เกษตรกรก็ใช้สารเคมีแก้ปัญหา พอใช้เยอะเข้าก็เกิดผลกระทบทั้งระบบนิเวศ เพราะส้มปรับตัวไม่ได้” เจษฎา ศศานนท์ เจ้าของสวนส้มปางเสี้ยว กล่าว

เขาอธิบายต่อว่าเหตุที่ส้มปรับสภาพไม่ได้เพราะธรรมชาติของส้มเป็นพืชที่ต้องอยู่ในอากาศราว 20 กว่าองศาเซลเซียส ความชื้นพอเหมาะ แต่สารเคมีในกระบวนการผลิตมาทำลายทั้งระบบ จากที่คิดกันว่าจะเพิ่มผลผลิตกลายเป็นได้ผลผลิตน้อยลง ขณะที่ใช้ต้นทุนสูงขึ้นเท่าตัว ซ้ำร้ายยังได้ส้มที่คุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ส่งออก ต่อสู้กับส้มต่างประเทศซึ่งไหลบ่าเข้ามามากมายในแต่ละปี เพราะเกษตรกรสวนส้มในต่างประเทศมีระบบการจัดการที่ดี สถานการณ์สวนส้มในไทยจึงคล้ายเป็น ‘วิกฤตการณ์’ เพราะจากข้อมูลการผลิตส้มทั่วประเทศในปี 2562 ที่ผ่านมาตัวเลขเหมือนจะน่าพอใจ ทว่าปริมาณผลผลิตหายไปเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพส้มที่คนไทยบริโภคกันก็ถือว่าไม่ดี แม้กระทั่งพ่อค้าคนกลางก็ระบายส้มที่รับซื้อมาไม่ได้ เรียกว่าตีบตันกันทุกฝ่าย

วกกลับมาที่สาเหตุ...สารเคมีตัวดีคือเหตุผลที่ทำให้สวนส้มกลายเป็นตัวร้าย เพราะที่ผ่านมาสวนส้มกับโรคพืชมักมาเป็นของคู่กัน อย่างเช่น โรคกรีนนิ่งส้ม (Citrus Greening หรือ โรคฮวงลงบิง), โรครากเน่าโคนเน่า และอีกสารพัดโรค เจ้าของสวนส้มปางเสี้ยวบอกว่ายาป้องกันใช้ไม่ได้ผล ไม่ว่ายาจะแพงแค่ไหน เพียงสามครั้งโรคก็ดื้อยา ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าป้องกันไม่ได้แต่เกษตรกรไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องพ่นยาไปอย่างนั้น จนถึงที่สุด ส้มไม่ไหว ร่วงหล่น เกษตรกรต้องจำใจตัดขายก่อนเวลาอันควร

จากข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน (Thai-PAN) ระบุว่าจากการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2562 ซึ่งเก็บตัวอย่างตั้งแต่ 25 มีนาคม – 5 เมษายน 2562 ณ ห้างโมเดิร์นเทรดชั้นนำ รวมไปถึงตลาดสดทั่วประเทศ 15 แห่ง พบว่า ส้มเป็นผลไม้ที่มีสารตกค้างมากที่สุดจากในทุกตัวอย่าง

“การใช้สารเคมีนี้ตกทอดกันมาแบบพ่อสู่ลูก จากพี่สู่น้อง สมัยก่อนสวนใหญ่ๆ เขาทำกันมาแล้วสำเร็จเป็นหมื่นไร่เพราะสภาพแวดล้อมดี ศัตรูพืชอยู่ในป่า เชื้อโรคเหมือนโดนแช่แข็งไว้ แต่ต่อมาอุณหภูมิเปลี่ยน เชื้อโรคที่ถูกแช่แข็งก็กลับมา แมลงที่เคยอยู่ในป่าก็ต้องออกมา พอเจอสารเคมีที่เราพ่นให้ส้มมันก็สร้างภูมิต้านทานจนกระทั่งรักษาไม่ได้” เจษฎา กล่าว

ขณะที่สวนส้มในไทยส่วนมากยังชุ่มฉ่ำด้วยสารพิษจนหลายคนขาดความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ในหลายประเทศรวมถึงประเทศมหาอำนาจด้านการเกษตรอย่างจีน กำลังเดินหน้าส่งออกพืชผักผลไม้ เพียงหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยนำเข้าพืชผลทางการเกษตรจากจีนมากกว่า 1 ล้านตัน ด้วยภาษี 0 เปอร์เซ็นต์จาก FTA ไทย-จีน แน่นอนว่ากระทบเกษตรกรไทยมิใช่น้อย และ ส้ม คือผลไม้ที่ถูกนำเข้ามามากที่สุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาล เช่น ตรุษจีน

แรงกระเพื่อมนี้จะกลายเป็นแรงกระแทกอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากสวนส้มในบ้านเรายังเดินอยู่กับที่บนเส้นทางสารเคมี ที่รังแต่จะสร้างความเสียหายทั้งเรื่องคุณภาพ ปริมาณการผลิต ระบบนิเวศ รวมทั้งสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค

 

  • วิจัยในไร่ส้ม

ก่อนที่สถานการณ์สารเคมีในสวนส้มจะเลยเถิดไปกว่านี้ เกิดงานวิจัยมากมายภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) อาทิ งานวิจัยการจัดการโรคต้นโทรมของส้มเขียวหวานอย่างแม่นยำและยั่งยืนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ศาตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ โตอนันต์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเริ่มทำวิจัยตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่สภาพแวดล้อมยังดี โรคในส้มยังมีแค่โรคเดียวคือรากเน่าโคนเน่า สารเคมีเพื่อการรักษาโรคในส้มยังเป็นห่างไกลจากเกษตรกร มีเพียงการใช้ปุ๋ยเคมีบ้าง ยาฆ่าแมลงบ้าง

“ภายหลังมีโรคอื่นๆ เกิดขึ้น อย่างโรคต้นโทรมของส้ม หรือโรคกรีนนิ่งล้ม หรือ ฮวงลองบิง คืออาการต้นโทรมที่เกิดใบเหลืองแบบเขียวสลับเหลืองเป็นจ้ำๆ ตอนนั้นผมลงพื้นที่ก็ไปเจอเขาใช้สารเคมี แล้วพบว่าส้มเป็นโรคกรีนนิ่ง ซึ่งสาเหตุจากแบคทีเรีย Candidates Liberated Asiaticus แล้วเราก็พบว่าเกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อแก้ปัญหาถี่มากจนเราตกใจ

หลังจากนั้นเราพยายามหาวิธีแก้ปัญหานี้ ซึ่งระยะเวลาที่เรารับทุนมาสองปี ในการทดสอบในโรงเรือนประสบความสำเร็จ แต่พอลงพื้นที่จริง ปีแรกเราเจอน้ำท่วม พอปีสองเจอแล้งจัด แต่ผลในโรงเรือนนั้นชัดเจนมากว่าทำสำเร็จ โดยเราเพิ่มอินทรียวัตถุให้ต้นกล้าที่มีปัญหารากเน่าโคนเน่า ก็งอกงามมาก เมื่อเทียบกับการใช้สารเคมีเราบอกได้เลยว่าสู้ได้ พอดูจากที่เกษตรกรใช้สารเคมี ปริมาณรากสู้เราไม่ได้”

นอกจากการใช้ไบโอเทคนิคปรับปรุงสภาพดินแล้ว ยังมีการจับมือกับอาจารย์ผู้สันทัดด้านเภสัชศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ได้ใช้แค่สารเคมีธรรมดา ทว่าเปลี่ยนชนิดไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นใช้สารปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน (Ampicillin) ฉีดต้นส้มให้ฟื้นจากอาการต้นโทรม แต่ช่วยได้เพียงชั่วคราวเพราะแอมพิซิลลินออกฤทธิ์ 3 เดือน หลังหมดฤทธิ์ต้นส้มจะกลับมาโทรมอีก เกษตรกรจึงต้องฉีดสารนี้ทุกๆ สามเดือน ซึ่งพบว่าต้นส้มเกิดอาการดื้อยา และมีโอกาสที่สารปฏิชีวนะจะตกค้างสู่ผู้บริโภคด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ขณะนี้กำลังวิจัยและพัฒนาสารจุลินทรีย์ธรรมชาติขึ้นมาแก้ปัญหาโรคในส้ม เพื่อทดแทนการใช้ยาแอมพิซิลลิน โดยหวังจะหาสารทางเลือก เบื้องต้นเริ่มได้สูตรโครงสร้างจากสารชนิดหนึ่ง เช่น คีโตเมียม เป็นต้น จึงเริ่มเดินหน้าหาสูตรยาแบบคอกเทล 3-4 ชนิดมาอยู่ในตำรับเดียวให้เกษตรกรนำไปใช้ทดแทน ครอบคลุมทุกโรค ซึ่งคาดว่าอีก 1 ปี จะได้ยาสูตรใหม่จากธรรมชาติ

จากการศึกษาคณะวิจัยได้วางแนวทางแก้ปัญหาออกเป็น 3 แนวทาง คือ การแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุ และปรับสภาพความเป็นกรด - ด่างของดินให้มีความเหมาะสม (pH 6.5 - 7.0) และส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้ใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง, การรักษาโรครากเน่าโคนเน่า ด้วยการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ต่างๆ เพื่อควบคุมเชื้อราสาเหตุโรค การกระตุ้นภูมิต้านทานในต้นส้ม และการบำรุงต้นส้มให้มีระบบรากที่สมบูรณ์แข็งแรง และ การรักษาโรคกรีนนิ่งส้ม ด้วยการกระตุ้นด้วยสารอิลิซิเตอร์ (Elicitor) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไคติน - ไคโตซาน มีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายในของพืช กระตุ้นการทำงานของยีนต้านทานโรคที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ต้นส้มมีกลไกต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรค และลดการใช้สารปฏิชีวนะแอมพิซิลลินได้อย่างถาวร

แต่การปรับมาเป็นสวนส้มปลอดภัยนั้นต้องปรับมาตั้งแต่เรื่องทัศนคติ แล้วสิ่งอื่นๆ จะตามมา อย่างสวนส้มปางเสี้ยวก็ใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะเปลี่ยนจากสวนส้มสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์มาเป็นใช้สารอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะสภาพดินและสุขภาพเจ้าของเองต่างเคยได้รับผลกระทบรุนแรง

“สวนของผมเคยมีช่วงที่ต้นส้มเป็นโรคกรีนนิ่ง ก็พยายามหาวิธีรักษา แต่รักษาไม่ได้ ส้มจะตาย พอรักษาไม่ได้ก็เลยเอายาปฏิชีวนะที่เราใช้กันมารักษา ซึ่งมันรักษาได้จริง พอใช้ไป 20 วัน ส้มแตกยอดใหม่ แต่เราไม่คิดเหมือนคนอื่นว่ายาตัวนี้จะรักษาได้เพราะเรากินยานี้อยู่แล้วเวลาเจ็บคอ แต่มันไม่หายขาด พอสองสามเดือนก็เป็นอีก พอเรามาใช้ในส้ม เดี๋ยวๆ ก็เป็นอีก เราก็เลยฟันธงได้ว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยน พอส้มไม่ติดลูกไม่เป็นไร แต่พอติดลูกแล้วต้องแบกน้ำหนัก เอาอาหารไปเลี้ยงลูก บวกกับอุณหภูมิ น้ำ อากาศไม่ดี ต้นส้มก็อ่อนแอ เชื้อตัวนี้ก็เจริญเติบโตได้”

ในแง่ผลกระทบต่อคน เจ้าของสวนส้มปางเสี้ยงเปิดเผยว่าได้รับเต็มๆ จากที่เคยกินยาแก้อีกเสบชนิดแอมมอกซี่แล้วเคยหาย เขาก็ดื้อยาตัวนี้ แม้จะฟันธงไม่ได้ว่าเป็นเพราะการใช้สารปฏิชีวนะในต้นส้มหรือเปล่า แต่การอยู่กับสารปฏิชีวนะย่อมได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในทางกลับกันเมื่อเขาหยุดใช้สารปฏิชีวนะในสวน พบว่าสุขภาพร่างกายดีขึ้นชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการบริโภคส้มจากท้องตลาดในปัจจุบันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เพราะในงานวิจัยพบว่า ถึงแม้จะพบสารตกค้างทว่าอยู่ในปริมาณที่น้อย จนอาจต้องกินส้มหลายสิบกิโลกรัมจึงจะได้รับสารปฏิชีวนะเทียบเท่าการกินยาหนึ่งเม็ด

“สวนเราโชคดีที่ได้ร่วมทดลองและวิจัย ผมสรุปให้ง่ายๆ เลยว่า เราอย่าใช้เคมีนำ แค่นั้นเอง เพราะส้มไม่ได้รู้จักเคมีหรอกครับ เขาอยู่ในป่า ก็มีแต่ซากพืชซากสัตว์ แต่เราก็ไปเรียกกันว่าปุ๋ยปลา ปุ๋ยหมัก แต่จริงๆ เขาได้กินแค่ซากใบไม้ ซากสัตว์ แค่นั้นเอง อย่างไรก็ต้องคงไว้ว่าอินทรีย์นำเคมี 60-40 แต่ถ้าสภาพแวดล้อมช่วยเรา ฝนดี อากาศดี เราก็ลดเคมีลงไป เป็น 90-10 ซึ่งตรงนี้เกษตรกรต้องปรับใช้ให้เหมาะสม” เจ้าของสวนส้มปางเสี้ยวอธิบาย

จากความไม่รู้แต่จำเป็นต้องหาทางจัดการปัญหาโรคในส้ม สู่กระบวนการหาทางออกด้วยงานวิจัย ทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ผสมผสานภูมิปัญญา นำไปสู่ทางรอดของ ‘ส้ม’ พืชเศรษฐกิจที่เคยถูกตีตราว่าแสนอันตราย แต่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วยความหมายที่เปลี่ยนไป