ถึงเวลาทบทวน! สิทธิแรงงาน (ข้ามชาติ)

ถึงเวลาทบทวน! สิทธิแรงงาน (ข้ามชาติ)

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและความท้าทายของรัฐบาลในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ

ไม่ว่าจะเป็น แรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานไทย พวกเขาคือฟันเฟืองเล็กๆ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตและสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติทั้งจากเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอื่นๆ กว่า 4 ล้านคน พวกเขาเหล่านี้ยังถูกละเมิดสิทธิและไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งจากนายจ้าง การเลือกปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเท่ียม

เนื่องในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrants Day)18 ธันวาคม อันเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน ตลอดจนได้การปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ องค์กรด้านแรงงานได้ร่วมกันบอกเล่าสถานการณ์สิทธิของแรงงานกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศไทยปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติด้วย

  5

แรงงานต่างด้าว

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก กระทั่งอาจกล่าวได้ว่า แรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

“แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญมาก ทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า เพราะงานหนักงานลำบากคนไทยส่วนมากไม่ทำ รัฐบาลควรจะดูแลอย่างเป็นธรรม เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี 2518 ใช้มา 44 ปีแล้ว ยังไม่มีการแก้ไข กลุ่มแรงงานเองก็ผลักดันขับเคลื่อนมาตลอด โดยเฉพาะสิทธิการรวมตัว การเจรจาต่อรอง แต่รัฐบาลไม่สนใจจะรับรอง ขณะที่ในอาเซียนเขารับรองกันหมดแล้ว เขาแซงเราไปหมดแล้ว แม้ว่าประเทศไทยเป็นผู้ก่อตั้ง ILO องค์กรแรงงานระหว่างประเทศมาแล้วร้อยปี แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิแรงงาน ทำให้นายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติมาตลอด

ไทยเป็นประเทศที่มีสมาชิกสหภาพน้อยที่สุดในโลก ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ จาก 70 ล้านคน สะท้อนว่านี่คือ อุปสรรคขวางกั้น ทำให้ไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ ประเทศไทยถูกเตือนหลายครั้ง ใบเหลือง ใบแดง เขาส่งสัญญาณตลอดว่าคุณต้องดูแลแรงงาน ถ้าคุณไม่ดูแลคุณจะถูกตัดสิทธิ ก่อนหน้านั้นเราถูก EU ยุโรปกีดกันสินค้าหลายรายการ อเมริกาก็ตัดสิทธิพิเศษ ในอนาคต ถ้าไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ประเทศที่ทำการค้ากับเราจะตัดสิทธิเรามากขึ้นเรื่อยๆ” 

สมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าว ในงานเสวนา ‘สถานการณ์แรงงานไทยแรงงานข้ามชาติ ต่อสิทธิการร่วมตัวเจรจาต่อรอง’ ที่จัดโดย เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN), คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย และสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.62 ซึ่งแรงงานข้ามชาติเองได้รวมกลุ่มกันตั้งเป็น เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) มาแล้ว 10 ปี แต่ปัญหาการไม่รับรองสิทธิแรงงานก็ยังคงอยู่

“องค์กร MWRN ก่อตั้งขึ้นมา 10 ปีแล้ว ในอาเซียนตกลงกันที่จะใช้อนุสัญญา 87 และ 98 นี้ทั้งหมด ยกเว้นประเทศไทย องค์กรเราร่วมกับภาคีหน่วยงานแรงงานสมานฉันท์ และแรงงานไทยองค์กรต่างๆ ผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการบังคับใช้มาตลอด เราเป็นองค์กรเล็กๆ เป็นกระบอกเสียงให้กับแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองกับภาครัฐ นายจ้าง บริษัทต่างๆ ที่มีแรงงานต่างด้าวทำงาน ถ้ารัฐบาลอนุมัติใช้มันจะเป็นผลดีกับแรงงานข้ามชาติ เขาจะได้สิทธิต่างๆ นานา ชีวิตของเราจะได้ดีขึ้น 

เราเคยประสบความสำเร็จในโรงงานแห่งหนึ่ง มีคนงาน10,000 คน เราใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานต่างด้าวมีสิทธิมีเสียง 15 เปอร์เซ็นต์ เรารวบรวมสมาชิกลงชื่อไปในกลุ่มของแรงงานสัมพันธ์ได้ 2,300 คน เข้าเจรจาต่อรองกับนายจ้างเรื่องสิทธิ 6 หัวข้อ ได้ 2 ข้อ ถือว่าประสบความสำเร็จ” อองจอ ประธานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ(MWRN) กล่าวและว่า แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงานมากที่สุด ไปจนถึงการค้ามนุษย์ แต่ก็ยังมีกฎหมายที่พอจะช่วยเหลือได้

“UN และ ILO ต้องการให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าสัญชาติไหน รัฐจะต้องออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่อยู่ใต้ร่มเงากฎหมายไทย มีอย่างน้อย 7 จังหวัด 12 เรื่อง ที่ไม่รับเรื่องกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เรื่องประกันสังคม"

สำหรับข้อจำกัดทางกฎหมายในกรณีแรงงานต่างด้าวมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1.จำกัดสิทธิ สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพได้ แต่บริหารไม่ได้ 2. ในการเจรจาต่อรองห้ามแรงงานข้ามชาติเข้าไปเป็นคณะกรรมการ แต่กฎหมายเปิดสิทธิมาให้ 2 ช่องทางคือ ผ่านทางสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิกไปเจรจาในฐานะผู้รับสิทธิได้ มีสิทธิเข้าชื่อยื่นเรียกร้องได้

"ความเจ็บปวดจริงๆ ของแรงงานข้ามชาติอยู่ที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ตำรวจ อบต. อบจ. ขูดรีดกดขี่เอารัดเอาเปรียบมากกว่า ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่คงเส้นคงวา รวมถึงแรงงานข้ามชาติคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศก็ถูกขูดรีด ขึ้นภาษี หักค่าจ้าง หักเงินเดือน มีข้อร้องเรียนทุกวัน ต้องอาศัยความแข็งแรงขององค์กรเครือข่ายมาร่วมกันช่วยกันสอดส่องดูแล การขูดรีดเอารัดเอาเปรียบต่างๆ ก็จะลดลง ไม่ได้หายไปนะ แต่มันจะดีกว่าที่เราเป็นอยู่” สุพจน์ พงษ์สุพัฒน์ ประธานสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ กล่าว

2  อองจอ 

แรงงานไทย

สำหรับแรงงานไทยเอง กลุ่มที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาคือ กลุ่มไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือทำงานประจำกับบริษัทองค์กรต่างๆ หรือ ‘แรงงานนอกระบบ’ คนเหล่านี้ถูกละเลยไร้การเหลียวแลจากภาครัฐด้วยเช่นกัน

“แรงงานนอกระบบในประเทศไทยอยู่ที่ 21,600,000 คน แต่ปัจจุบันมีมากกว่านี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ หนึ่ง กลุ่มรับงานมาทำที่บ้าน สอง อาชีพอิสระทั่วไป ค้าขาย ขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ เสริมสวย กฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบยังซับซ้อนอยู่ ยังไม่เสร็จเรียบร้อย คุยกันตั้งแต่ปี 53 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่จบ ยังออกมาปฏิบัติคุ้มครองไม่ได้ แรงงานนอกระบบไม่มีสิทธิตั้งสหภาพ เราแก้ปัญหาด้วยการรวมกลุ่มอาชีพ ยกระดับอาชีพเป็นเครือข่าย จากเครือข่ายข้ามจังหวัด เครือข่ายระดับภาค มาเป็นสมาพันธ์แรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย ผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ออกมาปฏิบัติใช้ได้จริง ผลักดันการเข้าถึงประกันสุขภาพ ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เช่น ผลกระทบจากการรักษาพยาบาล การเข้าไม่ถึงสิทธิ” สุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูล ก่อนจะยกสถานการณ์ของแรงงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือ ‘กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว’

“แรงงานไทยนอกระบบข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ครูอาจารย์ ลูกจ้างภาคสาธารณสุข ภาคเกษตรนอกระบบ ไม่มีสิทธิตั้งและไม่มีสิทธิเข้าถึงสหภาพแรงงาน อันนี้ถูกละเมิดหนักกว่าแรงงานข้ามชาติเสียอีก ถ้าเป็นลูกจ้างแรงงานภาครัฐ หลายรูปแบบ ไม่ใช่ข้าราชการ เป็นลูกจ้างชั่วคราว มีข้อห้ามว่าได้เกินขั้นต่ำของลูกจ้างเอกชน ได้บรรจุเงินเดือนน้อยมาก ถ้ากฎหมายในประเทศคุ้มครองไม่ได้ น่าจะต้องพึ่งพิงมาตรฐานของสากลในการคุ้มครอง” ปีย์ กฤตยากีรณ ผู้จัดการโครงการโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย (SC) กล่าว พร้อมทั้งให้ข้อมูลล่าสุดว่า มีวิธีการใหม่ที่นายจ้างใช้ในการจัดการกับผู้ที่เรียกร้องสิทธิแรงงานด้วยวิธีการฟ้องคดีปิดปาก SLAPP (strategic lawsuits against public participation) หรือการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือ

“สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการแสดงเจตน์จำนงของตัวเอง การแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่ที่ผ่านมาทุกคนที่ออกมาใช้สิทธิเรียกร้อง มักถูกคุกคาม ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ใส่ร้ายป้ายสี ถูกเลิกจ้าง ในช่วงหลังมีการคุกคามรูปแบบใหม่เกิดขึ้นคือ การใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมมาคุกคามดำเนินคดีกับคนที่ออกมาเรียกร้องใช้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น เรียกว่า การฟ้องคดีปิดปาก หรือ SLAPP คนส่วนใหญ่ที่ออกมาเรียกร้องก็เพื่อจะบอกว่าเขาถูกละเมิดอะไรบ้าง แต่หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน หรือนายจ้าง กลับใช้กระบวนการยุติธรรมคุกคาม

ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีนี้ถึง 222 คดี ทั้งประเด็นแรงงาน การเมือง สิทธิชุมชน เป็นการสร้างความกลัวให้เขายุติบทบาท ซึ่งการยุติบทบาทไม่ได้สร้างปัญหาในระดับบุคคล แต่สร้างปัญหาระดับสังคมด้วย ประเทศจะพัฒนาได้ คนต้องออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม ลูกจ้างเป็นกลุ่มเปราะบาง น้อยมากที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง ยิ่งแรงงานข้ามชาติไม่ค่อยรู้กฎหมายของไทย แต่พวกเขาก็ยังเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของเขา” ณัฐธิดา ชูมาลัยวงค์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แสดงทัศนะ

  3

สมพร ขวัญเนตร

 

รวมพลังแรงงาน

ในท้ายที่สุด ทางออกของปัญหานี้จึงไม่มีอะไรดีไปกว่า การรวมพลังเพื่อเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมของแรงงานทั้งระบบ  ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับประชาคมโลก

4

“ไทยแลนด์ 4.0 คือการพาประเทศหนีกับดักรายได้ปานกลางให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง นำพาประเทศไปสู่สากล แต่ไม่ได้เอาประชาชน เอาแรงงาน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่มาจากภาคอุตสาหกรรม 70 เปอร์เซนต์ เป็นความชอบธรรมที่กระทวงการแรงงานจะต้องดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ทุกวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นมา 5 บาท 6 บาท เท่ากับมาม่าหนึ่งห่อ นี่คือการปรับในรอบสองปี 61 และ 62 รัฐบาลคือนายทุน เมื่อนายทุนบวกรัฐบาลก็เห็นภาพชัดเจนว่า คนงานตกอยู่ในสภาวะถูกเอารัดเอาเปรียบ เราต้องสามัคคีกันร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาหลักๆ ทั้งหมด แล้วแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ไม่คุ้มครอง ไม่ส่งเสริม มีข้อจำกัด 

ต่างประเทศเขารับรองไปหมดแล้ว เขาไปไกลกว่าเราแล้ว ถ้าประเทศไทยจะเลือกถูกกีดกันทางการค้าเพื่อแลกกับการไม่รับรองสิทธิคนงาน พวกเราจะร่วมมือกันขับเคลื่อนผลักดันรัฐบาลรับรองให้ไวขึ้น ในอนาคตใกล้ๆ นี้ ผมว่ามันไม่มีทางเลือก” สมพร ขวัญเนตร  ยืนยันจุดยืน

ทั้งนี้เพราะหากประเทศไทยยังไม่ยอมรับกติกาสากล นอกจากจะไม่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกแล้ว ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการกีดกันทางการค้า อันเนื่องมาจากปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัญหาของแรงงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งในที่สุดย่อมย้อนกลับมาเป็นปัญหาของทุกคน