จากข้าวโพดสู่ปาล์มน้ำมัน สาเหตุเดียวกัน

จากข้าวโพดสู่ปาล์มน้ำมัน สาเหตุเดียวกัน

การบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะความต้องการปาล์มน้ำมันไม่เคยลดลง

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้คนทางตอนใต้ของประเทศ รวมถึงประชาชนในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หลายแห่ง ต่างประสบกับปัญหาหมอกควันพิษกันถ้วนหน้า

 

เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นประจำทุกปีมานานนับสิบปี เพราะเป็นฤดูกาลในการเผาป่า เปลี่ยนเป็นสวนปาล์มน้ำมัน รวมถึงการเผาซากปาล์มหลายล้านไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบต่อไป บนพื้นที่หลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเฉพาะบนเกาะสุมาตรา

ไม่ต่างจากช่วงฤดูหนาว ผู้คนทางภาคเหนือก็ประสบปัญหาหมอกควันพิษ จากการเผาซากไร่ข้าวโพด

 

เชื่อหรือไม่ หากคุณเดินไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต สินค้าที่วางขายกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนประกอบมาจาก ปาล์มน้ำมัน

 

น้ำมันพืชอเนกประสงค์ชนิดนี้ มีผสมอยู่ใน น้ำมันพืช ขนมเค้ก บิสกิต ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีม เนยเทียม ไปจนถึง สบู่ ผงซักฟอก พลาสติก เครื่องสำอางและ อาหารสัตว์

 

หากคุณไปเติมน้ำมันรถ ก็อาจได้สัมผัสน้ำมัน ไบโอดีเซล ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน

 

ปาล์มน้ำมันเป็น พืชเศรษฐกิจ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นพืชให้ผลผลิต น้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่าพืชน้ำมันทุกชนิด

 

ทุกวันนี้ทั่วโลกบริโภคปาล์มน้ำมันปีละ 62 ล้านตัน และคาดว่า อีกสามสิบปี จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เพราะความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดสินค้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ของโลก มาจากสวนปาล์มรายใหญ่ของโลกในอินโดนีเซีย มาเลเซีย

ประเทศเหล่านี้มีสวนปาล์มน้ำมันหลายสิบล้านไร่ เฉพาะอินโดนีเซียก็ผลิตน้ำมันปาล์มมากกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตทั่วโลก

 

การบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะความต้องการปาล์มน้ำมันไม่เคยลดลง

 

ไม่แปลกใจที่ทุกปี ปัญหาหมอกควันพิษจากการเผา บุกรุกป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม และการเผาซากปาล์มเพื่อปรับพื้นที่รองรับการปลูกรอบใหม่ ทำให้เกิดฝุ่นควันกระจายคลุ้งไปทั่วอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์

 

ไม่รวมถึงการบุกรุกทำลายป่า เปลี่ยนเป็นสวนป่ายูคาลิปตัส เพื่อผลิตกระดาษ อุตสาหกรรมหนึ่งในสองประเภท รองจากสวนปาล์มน้ำมัน ที่ทำลายป่าในอินโดนีเซียมากที่สุด

 

รัฐบาลอินโดนีเซียยอมรับว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของไฟป่าเกิดขึ้นในสวนปาล์มและสวนป่ายูคาลิปตัส

แม้ว่าจะมีความพยายามในการปรับพื้นที่ด้วยการใช้รถแทรกเตอร์หรือวิธีการอื่นแทนการเผาซากพืช แต่ต้นทุนการเผา ถูกกว่าวิธีอื่นหลายสิบเท่า การเผาป่า เผาซากพืชจึงยังเป็นวิธียอดนิยมไม่เคยเปลี่ยน

 

โลกมีสองด้านเสมอ

แม้ว่าปาล์มน้ำมัน จะสร้างมูลค่ามหาศาลทางการตลาด แต่อีกด้านหนึ่ง มนุษย์ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนไปมหาศาล และความสูญเสียด้านสุขภาพจากหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ทำให้มีผู้ป่วยหลายแสนคนทั่วภูมิภาค

 

การเผาป่ายังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 11.3 ล้านตัน สูงกว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรปทั้งหมด

 

ที่สำคัญคือป่าฝนเขตร้อนในประเทศเหล่านี้ อันเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า อาทิ ช้าง เสือ ลิงอุรังอุตัง แรด จึงถูกเผา ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ ทำให้สัตว์หลายชนิดใกล้สูญพันธุ์

 

ในปีพ.ศ. 2558 IUCN สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ( International Union for Conservation of Nature) ได้ประกาศว่า แรดสุมาตราได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว จากการทำลายป่าพื้นที่อาศัยเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม

 

ทำนายว่าอีก 20 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์การทำลายป่าฝนเขตร้อนยังดำเนินต่อไป ลิงอุรังอุตัง จะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

 

แม้ว่ารัฐบาลของประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย จะให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเพื่อหยุดทำลายป่าฝนเขตร้อน แต่ในความเป็นจริง ทางการก็ทำอะไรได้ไม่มาก จากปัญหาอิทธิพลท้องถิ่น อันห่างไกลปืนเที่ยงที่อำนาจรัฐก้าวไปไม่ถึง ไม่รวมปัญหาการคอรัปชั่นของข้าราชการทุกระดับ

 

ล่าสุดมีการพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก หลายบริษัท ที่เคยให้สัตยาบันสวยหรูว่า จะไม่รับซื้อวัตถุดิบที่มีส่วนในการทำลายป่า กลับมีส่วนในการทำลายป่าฝนเขตร้อนในเกาะสุมาตราทางอ้อม

 

จากการสืบทราบของ Rainforest Action Network {RAN} พบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับซื้อปาล์มน้ำมันผิดกฎหมาย ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า Sumatra’s Rawa Singkil Wildlife Reserve

 

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ป่าดิบชื้นที่ราบต่ำแห่งนี้ถูกทำลายไปมากกว่า 20,000 ไร่ เพื่อเปลี่ยนเป็นปาล์มน้ำมัน

บริษัทเหล่านี้รับซื้อปาล์มน้ำมัน จากโรงงานปาล์มในพื้นที่ที่ปลูกสวนปาล์มอย่างผิดกฎหมาย โดยผ่านบริษัทนายหน้า หลายบริษัท สัญชาติมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และโรงงานเหล่านี้มักตั้งอยู่ใกล้เขตอนุรักษ์ป่า

 

ตราบใดที่ความต้องการปาล์มน้ำมันเติบโตขึ้นไม่หยุด การทำลายป่า การเผาซากสวนปาล์มก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

เช่นเดียวกันเมื่อมนุษย์ทั่วโลก หันมากินเนื้อสัตว์มากขึ้น ความต้องการอาหารสัตว์จากข้าวโพดก็เพิ่มขึ้น อันเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการเผาซากไร่ข้าวโพดและบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น

ทางภาคเหนือเจอหมอกควันพิษ 

ทางภาคใต้ก็เจอหมอกควันพิษเช่นกัน

............................

จากคอลัมน์ สมรู้ ร่วมคิด วันอังคารที่ 15 ต.ค.62