‘น่านน้ำสีคราม' กลยุทธ์ห้าม (ใจ) ไม่ให้ท้องในวัยเรียน

‘น่านน้ำสีคราม' กลยุทธ์ห้าม (ใจ) ไม่ให้ท้องในวัยเรียน

การค้นหาแนวทางใหม่ๆ แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ที่ไม่ได้จบแค่ทำแท้งหรือทิ้งลูก

เด็กหญิงวัยราวๆ 12 ปี มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่แตกเนื้อสาว ท้องแรกเมื่อยังใช้คำนำหน้าว่า 'เด็กหญิง' แฟนทิ้งเมื่อรู้เรื่อง กลายเป็นคุณแม่วัยมัธยมฯที่ก้าวข้ามบันไดชีวิตไปสู่วัยผู้ใหญ่กับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง นอกจากจะเพิ่มภาระให้ตัวเองและครอบครัว ยังเพิ่มจำนวนประชากรที่ด้อยคุณภาพให้สังคม เพราะจินตนาการไม่ออกเลยว่า เด็กคนหนึ่งจะเลี้ยงเด็กอีกคนในฐานะแม่ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร ...นี่ไม่ใช่ถ้อยคำถากถาง หรือดูถูกกลุ่มคุณแม่วัยใส แต่มันคือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าอวดว่า "ท้องได้ก็เลี้ยงได้"

หากดูจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก จะเห็นว่าสถานการณ์การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรในบ้านเรายังคงน่าเป็นห่วงเสมอ เมื่อปี 2556 เราพบการตั้งครรภ์ในหญิงไทยที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยช่วงอายุ 10-19 ปี ที่ตั้งครรภ์อยู่ที่ 74 คน ต่อวัยรุ่น 1,000 คน แต่จากสถิติในปี 2560 มีแนวโน้มว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้นลดลง หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูก จำนวน 84,578 คน หรือราวๆ 12.8 เปอร์เซ็นต์ของการคลอดในหญิงไทยทั้งหมด

 แม้การแก้ไขปัญหาในเชิงปริมาณจะลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ปัญหาเด็กด้อยคุณภาพจากการท้องไม่พร้อมยังคงต้องได้รับการดูแล และยังมีอีกหลายประเด็นที่รอคอยการแก้ไขอย่างมีความหวัง

 

preg2

 

กันไว้ดีกว่าแก้ไม่ตก

จากสถานการณ์ท้องไม่พร้อมหรือท้องก่อนวัยอันควร มีทางเลือกไม่มากนักสำหรับเด็กสาวที่เผชิญกับปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้งทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ไปจนถึงการประกาศขายทารกออนไลน์หรือหาคนรับอุปการะ แต่ทั้งหมดเป็นทางเลือกที่ล้วนแล้วแต่สร้างความทุกข์ต่อเนื่อง ผศ.ดร.ธัญญภัสร์ ศิรธัชนราโรจน์ สาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ หนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยโครงการ ‘การใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์’ เสนอแนวทางที่เรียกว่า ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ พร้อมอธิบายว่า 

แท้จริงแล้วกลยุทธ์ที่ว่านี้มาจากแนวคิดในวงการธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขันฟาดฟันกัน เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ นำไปสู่การต่อสู้นองเลือดหรือที่เรียกว่า ‘น่านน้ำสีแดง’ แต่การฟาดฟันกันเช่นนั้นดูท่าจะไม่ยั่งยืนนัก เจ้าของแนวคิดเองจึงเบนเข็มไม่ห้ำหั่นกันเช่นที่ผ่านมา แต่จะแหวกว่ายไปหาพื้นที่ที่ไม่มีการต่อสู้ พายเรือออกไปสู่น่านน้ำสีคราม เป็นที่มาของการหาวิธีการและแนวคิดใหม่ๆ กลยุทธ์น่านน้ำสีครามจึงเป็นไกด์ในการศึกษาสาเหตุของปัญหา เพื่อนำไปสู่การป้องกันที่ถูกทาง โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยที่พบเจอปัญหาการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น สอดคล้องกับแนวโน้มการตั้งครรภ์ในไทย

ประเทศไทยให้การศึกษาเด็กไทยอย่างไรบ้างในเรื่องเพศ อาจารย์ธัญญภัสร์ตั้งคำถาม และศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่งในกลุ่มภาคตะวันออก เพื่อให้รู้ถึงสาเหตุการเป็นคุณแม่วัยใส โดยสร้างแบบประเมินที่จะเป็นเครื่องมือในการประเมินและวัดผล เพื่อวัดว่าพวกเขาและเธอมีความรู้ในด้านการรับมือกับปัญหามากแค่ไหน ผลปรากฏว่าเด็กมีความรู้ในระดับที่ดีทีเดียว ซึ่งไม่เพียงในเด็กระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ในระดับมัธยมที่ลองประเมินดูก็ยังได้ผลที่ใกล้เคียงกัน

 

heart-31120664

 

“ไม่ใช่เขาไม่มีความรู้ แต่จากที่ได้พูดคุยเชิงลึกกับเด็ก ส่วนหนึ่งเขาจะท้องกับเพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้องกัน ซึ่งมักท้องตั้งแต่มัธยม และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จากการพบเจอเป็นการท้องซ้ำ นอกจากปัจจัยแวดล้อมรอบข้างแล้ว การไม่มีเป้าหมายในชีวิตก็มีส่วนอย่างมากในการก้าวพลาดของเขา และที่มากไปกว่านั้นคือการเห็นคุณค่าในตัวเองที่ไม่มากพอให้ผ่านจุดพลาดพลั้งในชีวิต”

ด้วยวัยและบริบทแวดล้อมต่างๆ ทำให้เด็กที่เคยก้าวพลาดเข้าสู่วังวนเดิมอีกครั้ง กลยุทธ์น่านน้ำสีครามจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหา สร้างเป้าหมายในชีวิต ที่จะดึงพวกเขาออกจากวังวนเดิมๆ

จากงานวิจัยนี้ทำให้เห็นต้นตอของปัญหาและพัฒนาไปสู่โมเดลการเรียนรู้ เพื่อสร้างเป้าหมายในชีวิตให้เขาตระหนักถึงคุณค่าและเรียนรู้ที่จะเคารพตัวเอง หากมีสามอย่างที่ว่า ความต้องการทางร่างกายหรือบริบทเดิมๆ จะเปลี่ยนไป

จากการทดลองกับเด็ก 18 คน ในกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีที่เป็นคุณแม่วัยใส ร่วมกิจกรรม 1 เดือน หลายคนมองว่าเป็นประโยชน์ แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้น ทำให้อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจนนัก แต่นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยเด็กๆ ก็เปิดใจและให้ความไว้วางใจที่จะปรึกษาปัญหาเพื่อหาทางออก

“ความสำเร็จของเราคือทำให้เขามีเป้าหมายในตัวเอง และการจะทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองมันทำไม่ได้ในสามวันหรือเจ็ดวัน แต่การที่เขามองเห็นเป้าหมายและรู้สึกว่าชีวิตมีค่าพอที่จะก้าวข้ามความผิดพลาดเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม อย่างน้อยก็เชื่อว่าจะทำให้เขามีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น”

 

ให้โอกาสเมื่อก้าวพลาด

ในบ้านเรามีกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจ ช่วยเหลือวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมอยู่มาก และ 'กลุ่มคนวัยใส' ในจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ทำงานกับเยาวชนและครอบครัว สุดาพร นาคฟัก หรือเอมมี่ ผู้ประสานงานกลุ่มคนวัยใส เล่าถึงการทำงานว่า เราช่วยให้เด็กได้เข้าถึงสวัสดิการรัฐ เข้าถึงระบบรักษาพยาบาล การฝากครรภ์ การคุมกำเนิด และได้รับคำแนะนำถึงการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย รวมไปถึงการช่วยให้เด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วย เนื่องจากว่าเมื่อเขาท้องด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่าง ทำให้เขาหลุดออกจากระบบการศึกษา หลายคนก็อยากกลับไปเรียนในโรงเรียนเช่นเดิม แต่อาจเป็นไปได้ยาก การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จึงเป็นทางออกสำหรับเรื่องการศึกษาอีกทางหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ทั้งหมด

 

pills-1354782

 

“เราเน้นป้องกันการท้องซ้ำ โดยให้ข้อมูลในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ให้เขาเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดได้ตามสะดวก ไม่ว่าจะเป็นบริการถุงยางอนามัย การฝังยาคุม หรือการกินยาคุม ซึ่งเราก็ประสานงานไปที่โรงพยาบาลชุมชนให้ได้เข้าถึงบริการตามสิทธิที่เขาต้องได้ และสอนวิธีกินยาคุมที่ถูกต้อง”

เธอบอกว่า พื้นฐานครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหา เยียวยา และให้โอกาสเด็กที่ก้าวพลาดได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เด็กจะฟื้นตัวได้เร็วเมื่ออยู่ในบริบทที่ครอบครัวเข้าใจ ยอมรับในความผิดพลาด และช่วยเหลือดูแลอีกหนึ่งชีวิตที่เกิดมาแล้ว แต่ถ้าเด็กอยู่ในบริบทบ้านแตกสาแหรกขาด ไร้ความอบอุ่นในครอบครัว ขาดการเอาใจใส่ หนำซ้ำยังคอยซ้ำเติม เด็กกลุ่มนี้จะล้มได้ง่าย และมีโอกาสมากที่จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม จึงจำเป็นต้องช่วยประคับประคองชีวิตเขาให้มีโอกาสทางการศึกษา มีอาชีพมีรายได้จุนเจือครอบครัว

แต่ถึงอย่างนั้นสังคมขนาดย่อมอย่างโรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ต้องให้ความรู้เรื่องเพศที่ใช้ได้จริง รวมไปถึงชุมชนและสังคมภายนอกที่ต้องให้โอกาส ไม่ตีตราความผิดพลาดให้เป็นตราบาปติดตัวเด็ก ด้านกระทรวงพัฒนาสังคมก็ต้องมีนโยบายในการดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้จริงๆ

“แม้เป้าหมายในชีวิตจะมีส่วนสำคัญ แต่อย่าลืมว่าระหว่างทางนั้นมีสิ่งยั่วยุมากมายที่จะดึงให้เขาออกนอกเส้นทาง ดังนั้นการเลี้ยงดูของครอบครัวจึงสำคัญมากๆ เด็กในโครงการหลายคนโหยหาความอบอุ่นที่ขาดหายไปจากครอบครัว บ่อยครั้งที่เราเจอเด็กที่คบๆ เลิกๆ แสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวในใจ นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยแต่ต้องผูกพันธะกันด้วยอีกชีวิตที่เกิดจากความต้องการเติมเต็มความรัก”

หลากหลายวิธีที่จะช่วยดึงเด็กที่ก้าวพลาดให้กลับสู่สภาวะปกติได้ ต่างคนต่างปัญหาต่างบริบท บางคนมาร่วมกิจกรรมเพียง 10 ครั้งก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในขณะที่บางคนต้องได้รับคำปรึกษาอยู่เรื่อยๆ เราทำหน้าที่เสมือนโค้ชในชีวิตให้เขา ไกด์เส้นทางในชีวิตว่าภายใต้คำว่า ชีวิตไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่านี้ ก็ยังมีทางออกที่ดีเสมอ แน่นอนว่าเราไม่สามารถห้ามให้เขาใช้ชีวิตตามแบบที่เคยเป็น แต่เราอธิบายด้วยเหตุด้วยผลได้ว่า มีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง และหาทางป้องกันเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงเหล่านั้น ช่วยประคับคองเขา

 

pregnant-12457034

 

วาดฝันถึงอนาคต

ปัจจุบัน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 กำหนดให้โรงพยาบาล หรือสถานบริการ ต้องช่วยเหลือให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์กับวัยรุ่นอายุ 10-20 ปี และวัยรุ่นสามารถขอรับบริการคุมกำเนิดทุกวิธี และการใช้ยาฝังคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรชนิด 3 ปี และ 5 ปี ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดที่ฝังในใต้ผิวหนัง ป้องกันท้องซ้ำ นอกจากนี้ต้องทำงานป้องกันการท้องอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขกำลังทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยฉบับใหม่เน้นสร้างค่านิยม ทำให้ถุงยางเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้ เช่นเดียวกับผ้าอนามัย เสมือนหน้ากากป้องกันฝุ่น และจะต้องแจกจ่ายให้ทั่วถึง รวมทั้งต้องควบคุมคุณภาพของถุงยางอนามัยด้วย

“เราควรเริ่มแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตอก็คือครอบครัว การที่คนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนบทบาทจากเด็กเป็นคุณแม่ มันคือเรื่องใหญ่สำหรับเขา เมื่อเด็กถูกปลูกฝังมาว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม ซึ่งส่วนใหญ่พอท้องแล้วก็จะเก็บลูกไว้ เพราะยังมองภาพไม่ออกว่าการเลี้ยงเด็กมันเป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่กลับกันกับผู้ปกครองหลายคนบอกว่าถ้าเขารู้ว่าลูกท้องตั้งแต่แรก จะพาไปทำแท้งเลย เพราะเขาไม่สามารถแบกรับภาระการเลี้ยงเด็กอีกได้” เอมมี่กล่าว

สังคมควรเปิดใจยอมรับเด็กกลุ่มนี้ มองว่าพวกเขาก็มีโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพเหมือนเด็กปกติ เพราะพวกเขาก็อยากให้สังคมมองเช่นนั้น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือเขาอยากให้ครอบครัวเข้าใจและยอมรับ ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวจะจำยอมในการเลี้ยงเด็ก แต่บางครอบครัวเมื่อรู้ว่าลูกตัวเองท้องจะกระทำการที่ทำร้ายทั้งทางกายและสภาพจิตใจเด็กด้วยการขังลูกไว้ในบ้านจนกว่าครอบครัวฝ่ายชายจะมาสู่ขอ ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีและยั่งยืนนัก เพราะปลายทางสุดท้ายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จบลงที่การเลิกรา ทว่าจากที่ทั้งนักวิจัยและกลุ่มคนวัยใสที่ได้ติดตามปัญหานี้พบว่า ถ้าครอบครัวเขาดูแลกันดีบางคู่สามารถอยู่กันได้นาน แต่ยังเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก 

"ประมาณ 50 กว่าคนที่เราเจอ จะมีครอบครัวซับพอร์ตอย่างดีอยู่ประมาณ 10 เคส ที่เหลือก็ลุ่มๆ ดอนๆ บางทีก็ครอบครัวก็ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้วต้องทำงานหาเช้ากินค่ำเหมือนกัน พอมีเด็กเกิดมาคนหนึ่งมันต้องมีคนดูแล ซึ่งจะเป็นใครนอกจากแม่ของเขา แต่อย่างไรเด็กมันก็คือเด็ก ด้วยวุฒิภาวะและทักษะในการดูแลเด็กอีกคน จึงเป็นไปตามมีตามเกิด" 

แม้จะมีการให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งซีรีส์ปัจจุบันที่พยายามสอดแทรกแนวคิดให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อให้รู้จักการป้องกันตัวเองจากภาวะสุ่มเสี่ยง แต่จากรายงานในประเทศไทยพบว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก มีอายุระหว่าง 14-18 ปี และ 10-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากและเป็นสาเหตุให้เกิดการท้องไม่พร้อมได้ง่ายๆ

การตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเป็นการป้องกันปัญหาจากต้นทาง แต่เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมขึ้น จะต้องมีข้อมูลที่เป็นทางเลือกให้กับพวกเขาอย่างครอบคลุมและรอบด้าน