ความท้าทายของ ‘นิเซโกะ’

ความท้าทายของ ‘นิเซโกะ’

ความต่างของภาษา วัฒนธรรม คืออุปสรรคในการอยู่ร่วมกันในนิเซโกะ

หิมะขาวเนียนนุ่มเหมือนปุยนุ่นและธรรมชาติที่งดงามของนิเซโกะ แหล่งสกีชื่อดังของโลกบนเกาะฮอกไกโดเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้มาเยือนปีละหลายพันคน

แต่ตอนนี้จุดหมายปลายทางยอดนิยมของญี่ปุ่นกำลังประสบภาวะความตึงเครียดอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือน

การเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในนิเซโกะสร้างความไม่พอใจให้กับคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติก็เรียกร้องให้ทางการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบริหารจัดการและด้านการธนาคารเพื่อทำให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้น

 

ni1

หิมะขาวเนียนนุ่มที่นิเซโกะ แหล่งสกีชื่อดังของโลก (ภาพจาก http://annupuri.info/winter/)

เมืองคุตชานซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่บริเวณนี้ ปกติแล้วจะมีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยในช่วงฤดูหนาวประมาณร้อยละ 10 ของประชากร ซึ่งทางการท้องถิ่นกำลังปวดหัวกับการหาทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ร่วมกันให้ได้

ผลสำรวจความคิดเห็นที่สอบถามชาวบ้านในเมืองคุตชาน จำนวน 2,000 คนในปี 2017 พบว่าชาวต่างชาติสร้างปัญหามากมายให้เจ้าบ้าน ผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการจัดการขยะหรือมารยาทการขับขี่แย่ๆ ของผู้มาเยือน

“มันเป็นเรื่องยากที่จะอาศัยอยู่ที่นี่ในขณะที่มีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่มากขึ้น” ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งกล่าว

แม้ว่าจำนวนประชากรจะผันผวนตามฤดูกาลของการท่องเที่ยว แต่จำนวนชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในเมืองสกีรีสอร์ทก็ทุบสถิติใหม่ทุกปีนับตั้งแต่ปี 2014 โดยสถิติ ณ สิ้นเดือนมกราคมมีชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักที่คุตชานทั้งหมด จำนวน 2,048 คนหรือประมาณร้อยละ 12 ของประชากร

เพื่อเป็นการต้อนรับผู้มาเยือน ทางเมืองจึงได้จัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการแยกขยะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ไม่เป็นผล

 

ni3

นักท่องเที่ยวนั่งรถเลื่อนเทียมกวาง (ภาพจาก © 2012 Niseko Village KK)

“ที่บ้านเกิดของผม เราแยกขยะออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้น” เจย์ ทอมคินสัน ชาวออสเตรเลียวัย 39 ปี ซึ่งเป็นพนักงานร้านขายอุปกรณ์กลางแจ้งในเมืองคุตชานกล่าว

เจย์ยังแอบบ่นเรื่องเอกสารที่ธนาคารและที่ทำการไปรษณีย์ที่ส่วนใหญ่เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

จัสติน แพร์รี่ ชาวออสเตรเลียวัย 49 ปีซึ่งทำธุรกิจด้านที่พักที่นิเซโกะกำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อช่วยให้สื่อสารได้ดีขึ้น

จัสตินรู้สึกไม่สบายใจหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในฮอกไกโดเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เพราะข้อมูลหรือคำแนะนำต่างๆ มีแต่ภาษาญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ถูกส่งโดยสถานีวิทยุท้องถิ่นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์อพยพ

ถึงแม้ว่าตอนนี้ในเมืองจะไม่มีแผนป้องกันภัยพิบัติที่จัดทำเป็นภาษาอังกฤษ แต่เทศบาลเมืองก็เริ่มว่าจ้างชาวญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษเพื่อมารับมือกับความท้าทายที่มีอยู่

มาซากิ คิตาโนะ เจ้าหน้าที่จากหน่วยป้องกันภัยพิบัติของเมืองบอกว่า การสื่อสารหรือส่งผ่านข้อมูลให้กับชาวต่างชาติเป็นงานที่ยาก ทางหน่วยงานกำลังพิจารณาใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการส่งข้อมูลหลายภาษา

ห่างจากนิเซโกะไปทางตะวันออกราว 140 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชิมูคัปปุซึ่งมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด แต่ชาวต่างชาติเหล่านั้นก็มักจะอยู่แต่ในบริเวณโรงแรมหรือที่พักและไม่ค่อยมาเสวนากับคนญี่ปุ่น

“ปกติผมพูดคุยกับเพื่อนพนักงานชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ แต่ไม่คุยกับคนท้องถิ่น” มาฮาบีร์ กูรัง หนุ่มเนปาลวัย 37 ปีซึ่งเป็นพนักงานในโรงแรมแห่งหนึ่งกล่าว

ความรู้สึกเช่นว่านี้ดูจะตรงกันระหว่างคนต่างถิ่นและเจ้าบ้าน

“มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่จะไม่มีการติดต่อพูดคุยกันระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ” โฆษกของหมู่บ้านกล่าว

 

ni4

มิทเชล แลงจ์ (ซ้าย) และ จัสติน แพร์รี่ (กลาง) (ภาพจากสำนักข่าวเกียวโด)

ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงดำเนินการแก้ไขกฎหมายควบคุมการเข้าเมืองและการรับรองผู้ลี้ภัยซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กฎหมายใหม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคาดหมายว่าชาวต่างชาติก็น่าจะมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย

มิทเชล แลงจ์ ผู้ประสานงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในนิเซโกะวัย 26 ปีไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่เขาบอกว่า เขาอยากได้นักการเมืองที่สามารถหาทางจัดการให้คนต่างถิ่นและคนท้องถิ่นอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ที่มา : สำนักข่าวเกียวโด