สืบสาน รักษา ต่อยอด : พระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปาชีพ

สืบสาน รักษา ต่อยอด : พระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปาชีพ

การเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ‘ศูนย์ศิลปาชีพ’ ทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างถ่องแท้ถึงพระราชกรณียกิจด้านงานศิลปาชีพ และความจำเป็นของการส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพและสร้างรายได้เลี้ยงตนเอง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ

รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ศูนย์ศิลปาชีพ ทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอ

ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างถ่องแท้ถึงพระราชกรณียกิจด้านงานศิลปาชีพ และความจำเป็นของการส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพและสร้างรายได้เลี้ยงตนเอง 

การใส่พระราชหฤทัยในทุกข์สุขของราษฎรและพระราชจริยวัตรที่อ่อนน้อมงดงามของพระองค์ สร้างความปลื้มปิติแก่สมาชิกศิลปาชีพเป็นอย่างยิ่ง

20190218135057204

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว   (ภาพ : สำนักพระราชวัง)

A (21)

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ ประทับเคียงข้าง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงช่วยจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผ้า ผู้ทอ และตรวจรับผ้าทอจากสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อการวิเคราะห์และให้ความช่วยเหลือราษฎรได้อย่างถูกวิธี

D

ครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานและเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวงสืบไป

ตามที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ความว่า

“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

C

ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ไต่ถามเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และทุกข์สุขของราษฎร เพื่อประกอบพระราชวินิจฉัยในการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน ณ บ้านหนองแคน หมู่ที่ 6 ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2542

I

ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 67 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เชิญภาพพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปาชีพในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร’ เมื่อครั้งโดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทอดพระเนตรงานศูนย์ศิลปาชีพหลายแห่งทั่วประเทศ มาจัดแสดงในการจัดงานนิทรรศการ SACICT Mobile Gallery 2019 ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง

E

พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้แทนสมาคมไหมโลก เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล หลุยส์ ปาสเตอร์ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเทิดพระเกียรติในพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตไหมไทย จนเป็นที่รู้จักของทั่วโลก รวมทั้งช่วยให้ราษฎรผู้ผลิตไหมไทยมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2545

H

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและสมาชิกศิลปาชีพกลุ่มปักผ้า ณ บ้านไทยสุข หมู่ที่ 8 ตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2545

G

ปกติแล้ว ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เชิญภาพพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมศิลปาชีพในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าวถ่ายทอดไว้ใน ‘หอศิลปาชีพ’ ภายใต้นิทรรศการชื่อ ‘คู่พระบารมี’ ณ ชั้น 1 อาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การทำงานของ SACICT อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ภารกิจหลักจึงเป็นการทำให้งานหัตถศิลป์ไทยต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้รายได้สวนกลับไปที่ต้นทาง เพื่อให้ช่างฝีมือทุกคนยังอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นองค์กรของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์ สืบสานคุณค่าแห่งหัตถศิลป์ไทย และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนให้งานหัตถศิลป์ไทยมีความร่วมสมัย สามารถประยุกต์เป็นหนึ่งเดียวก้บการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมไทย ภายใต้แนวคิด today life’s craft ตลอดจนยกระดับคุณค่าแห่งงานหัตถศิลป์ไทย ให้ได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่ตลาดระดับสากล ภายใต้กลไกการทำงานเชิงรุก และปรากฏผลตอบแทนอย่างเป็นรูปธรรม” อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าว

นิทรรศการ SACICT Mobile Gallery 2019 เป็นการจำลองหอนิทรรศการผลงานศิลปหัตถกรรมของ SACICT ออกสู่สาธารณะ ภายใต้แนวคิด ‘Sense of Siam : สืบสานมรดกแห่งภูมิปัญญา สัมผัสงานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของแผ่นดิน’ สะท้อนคุณค่าแห่งภูมิปัญญาของ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ผ่านงานหัตถศิลป์และนวัตศิลป์หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ผู้สนใจและรักงานด้านนี้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้สัมผัสองค์ความรู้แห่งภูมิปัญญาไทย

20190719180130760

ผลงานปักโบราณ (ชุดโขน-ละคร) โดย สมคิด หลาวทอง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปีพ.ศ.2560 ในชุด ‘ยืนเครื่องนาง’ ตามแบบฉบับของกรมศิลปากร  (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)

20190719180132156

หนึ่งในผลงานที่นำมาจัดแสดงคือ ผลงานปักโบราณ (ชุดโขน-ละคร) ของนาง สมคิด หลาวทอง หรือ ‘แม่เปี๊ยก’ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปีพ.ศ.2560 ในชุด ยืนเครื่องนาง ตามแบบฉบับของกรมศิลปากร ที่มีความสวยงามละเอียดอ่อนของลวดลายการปักผ้า อนุรักษ์ความงามตามมาตรฐานละครรำของกรมศิลปากรไว้อย่างครบถ้วน

“แม่เปี๊ยกเรียนงานปักผ้าโบราณจากโรงเรียนที่ราชดำเนิน มีฝีมืองานปัก จึงได้มีโอกาสไปรับราชการกับกรมศิลปากรตั้งแต่ปีพ.ศ.2505” ชัญญาภัค แก่นทอง บุตรสาวของแม่เปี๊ยก ย้อนอดีตจากปากคำที่แม่เคยเล่าให้ฟัง

ด้วยฝีมือและการปักชุดโขนด้วยหัวใจ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มอบความไว้วางใจให้ แม่เปี๊ยก-สมคิด หลาวทอง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปักชุดโขนเพื่อใช้จัดการแสดง ‘โขนพระราชทาน’ ตั้งแต่ตอน ‘พรหมาศ’ ซึ่งเป็นการจัดแสดงโขนพระราชทานครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2550 จนกระทั่งถึงการแสดงครั้งล่าสุด ตอน ‘พิเภกสวามิภักดิ์’ เมื่อปีพ.ศ.2561

แม่เปี๊ยก-สมคิด ยังถ่ายทอดศิลปะการปักโบราณชุดโขน-ละครให้กับผู้สนใจใน ชุมชนเขียนนิวาสน์ ชุมชนเก่าแก่ในย่านบางลำพูของกรุงเทพมหานคร สานต่อเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบนถนนพระสุเมรุแห่งนี้

20190719180258959

ชัญญาภัค แก่นทอง และ วรรณา นิ่มประเสริฐ สาธิตงานปักโบราณ ชุดโขน-ละคร (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)

ชาวชุมชนเขียนนิวาสน์ วรรณา นิ่มประเสริฐ อายุ 63 ปี หนึ่งในผู้ซึ่งได้วิชาปักชุดโขน-ละครจากแม่เปี๊ยก เล่าว่า

“ตอนนั้นอายุ 39 ปี เป็นแม่บ้าน ไม่มีอาชีพอะไร อยู่บ้านเฉยๆ ดูแลครอบครัว พอดีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านแม่สมคิด เราก็เลยไปนั่งเล่นนั่งคุยกับแก เห็นแกปัก เราก็อยากปักบ้าง เริ่มด้วยการดึงกระดาษลายออกจากผ้า ร้อยเข็ม ปักดิ้นข้อ ดิ้นโปร่ง พอแม่เปี๊ยกเห็นว่าเราตั้งใจจริง มีฝีมือ ก็ชวนเราทำ สอนไปด้วย เราเองก็สนุกที่ได้ทำ และทำมาจนวันนี้”

ชัญญาภัค แก่นทอง อายุ 54 ปี ในฐานะทายาทผู้สืบทอดงานปักโบราณ ชุดโขน-ละคร จาก ‘แม่เปี๊ยก-สมคิด’ โดยตรง ได้วิชานี้มาก็ด้วยความชอบส่วนตัวเช่นกัน

“ไม่ได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกัน เพราะโตมาก็เห็นที่บ้านทำแบบนี้อยู่แล้ว เหมือนครูพักลักจำ เราเห็นมา เราก็ชอบ แต่ตอนนั้นยังเด็ก ยังไม่ได้ใฝ่รู้มาก ทำมาตั้งแต่อายุ 13 สมัยก่อนการที่เด็กจะจับกรรไกร เข็ม ผู้ใหญ่ไม่ค่อยให้ทำ กลัวอันตราย เขาก็ลืมคิดไปว่าถ้าไม่ฝึกตั้งแต่เล็กๆ เขาก็จะไม่ได้ปลูกฝัง คราวนี้พอแม่ลุกไปกินข้าว ไปห้องน้ำ เราก็แอบมาจิ้มๆ ต่อมาก็เริ่มไปเรียนเสริม มีคนจบมาจากวิทยาลัยในวังชาย มาแนะเทคนิคให้เรา เช่น เทคนิคดูลาย ถ้าดูลายไม่เป็น เราจะวางดิ้นโปร่งไม่เป็น เทคนิคการวางผ้า เทคนิคการหันหัวดิ้นเพื่อให้ลายดูอ่อนช้อย”

20190719180126256

ปักดิ้นข้อตามขอบลาย

20190719180128521

ถมลายด้วยดิ้นโปร่ง

แม่เปี๊ยกไม่คะยั้นคะยอให้ใครมาเรียน การปักโบราณชุดโขน-ละครเหมือนเลือกคนซึ่งสนใจจริงๆ

“ใครอยากเรียนปักโบราณชุดโขน-ละครกับแม่เปี๊ยก มาได้เลย แม่เปี๊ยกสอนให้ฟรี มีหลายคนมาเรียน แต่ค่อยๆ หายกันไป ยายว่างานปักแบบนี้ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัว ต้องสนใจจึงจะจำลายจำเทคนิคได้ ขึ้นเข็มตรงไหน ลงตรงไหน” วรรณา กล่าว

ปัจจุบัน แม่เปี๊ยก-สมคิด หลาวทอง อายุ 81 ปี แม้เดินเหินไม่ถนัด แต่ยังคงทำงานปักโบราณชุดโขน-ละครที่รักอย่างต่อเนื่อง และพร้อมสืบทอดวิชาให้ผู้สนใจ 

นอกจากเครื่องแต่งกายโขนพระราชทาน ยังมีหน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียน ทีมงานจัดการแสดง นำงานมาว่าจ้างให้ทำอยู่เสมอ โดยแม่สมคิดเป็นผู้รับงาน แล้วนำมากระจายงานให้คนในชุมชนที่มีฝีมือด้านนี้ สืบทอดงานฝีมือโบราณและสร้างรายได้พร้อมกัน

20190719180257944

ผลงานปักโบราณ (ชุดโขน-ละคร) โดย สมคิด หลาวทอง ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปีพ.ศ.2560 และลูกศิษย์ ในชุด ‘นางสุพรรณมัจฉา’

สำหรับผู้สนใจงานฝีมือปักโบราณ ชุดโขน-ละคร, แม่เปี๊ยก-สมคิด หลาวทอง และบุตรสาว ชัญญาภัค แก่นทอง เปิดรับสอนฟรีที่บ้านแม่เปี๊ยก โดยคิดค่าใช้จ่ายแค่เพียงค่าอุปกรณ์ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียนต้องการปักอะไร

“ที่บ้านไม่เน้นธุรกิจ ไม่มีชื่อร้าน ไม่มีชื่อป้าย สอนฟรีสำหรับผู้สนใจ เด็กป.1 ป.2 ถ้าสนใจ เราก็รับสอนค่ะ โทรศัพท์มาคุยกันก่อนได้ที่โทร.09 8671 5375” ชัญญาภัค กล่าว

นอกจากผลงานปักโบราณ(ชุดโขน-ละคร) ของ สมคิด หลาวทอง, นิทรรศการ SACICT Mobile Gallery 2019 ยังจัดแสดงผลงาน โขลง บ้านเบญจรงค์บางช้าง, ฟักทองดุนลายดอกไม้, ขันโอ งานเขียนลวดลายด้วยรักสี, ราชสีห์ แผ่นทองแดงตกแต่งศิลปะอังกอร์

งานศิลปาชีพถือเป็นงานที่หล่อเลี้ยงสังคมไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือตั้งแต่ผู้เป็นเจ้าขององค์ความรู้ ตั้งแต่กระบวนการซึ่งเป็นการถ่ายทอดวิธีการทำชิ้นงานต่างๆ จนถึงการผสมผสานให้เกิดเป็นชิ้นงานหัตถกรรม

องค์ความรู้และบุคลากรเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

S__2383883

นิทรรศการ SACICT Mobile Gallery 2019 

ครั้งทีี่ 3 จัดแสดงที่ อาคารจัตุรัสจามจุรี 5-9 สิงหาคม 2562

ครั้งที่ 4 จัดแสดงที่ บ้านนครใน จังหวัดสงขลา 14-18 สิงหาคม 2562

รายละเอียดคลิก www.sacict.or.th                             

 

#ศิลปาชีพ #พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  #โขน #สมคิดหลาวทอง #sacict