Art for War 'ต่อสู้’ ด้วย ‘ศิลป์’

Art for War 'ต่อสู้’ ด้วย ‘ศิลป์’

หากความรุนแรงและความขัดแย้งสร้างบาดแผลให้แดนใต้ ศิลปะจะเป็นยารักษาให้เอง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กลายเป็นภาพจำของหลายคนไปแล้ว ทำนองว่าถ้าเอ่ยถึง ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส (รวมไปถึงสงขลาและสตูล) ประเด็นต่อท้ายคงเป็นเสียงปืน เสียงระเบิด การฆ่าฟัน แต่ท่ามกลางเสียงดังและความเข้าใจเหล่านั้น ยังมีความพยายาม ‘สู้’ โดยปราศจากอาวุธ โดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่ใช้พลังของ ‘ศิลปะ’

  • ศิลป์ผ่านศึก

“ในพื้นที่เต็มไปด้วยทหาร ในความรู้สึกของรัฐบาลคือต้องการสร้างพื้นที่คุ้มครอง ปลอดภัย แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็มีความรู้สึกสองอย่างคือไม่รู้ว่าปลอดภัยจริงไหมหรือมันปลอดภัยจริงๆ เช่น กรณีด่านเยอะแยะมากมาย บางทีก็สร้างความรู้สึกประสาทเสียเหมือนกันนะที่เราขับรถผ่านด่านแล้วต้องถูกตรวจค้น มันทำให้เรารู้สึกว่าตกลงมาคุ้มครองหรือมาคุกคาม ถ้ามองในมุมรัฐบาลคือสร้างความปลอดภัย ถ้ามองมุมชาวบ้านเป็นอีกมิติหนึ่ง งานศิลปะต้องให้คนตีความ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อธิบายถึงแนวคิดของผลงานศิลปะที่อยู่ตรงหน้า ในนั้นมีทั้งรถถัง มีทั้งบ้าน ซึ่งเขาอยู่ท่ามกลางไฟใต้มาตลอด 15 ปี จนเกิดคำถามที่ยังไม่รู้คำตอบจากฝ่ายปกครองว่าสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร

กลางโถงของ Patani Artspace ผศ.เจะอับดุลเลาะ ชี้ชวนให้ดูที่ภาพผีเสื้อ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายผลงานที่จัดแสดงอยู่ทั่วทุกด้านของผนังอาคาร เขาเล่าว่าผีเสื้อหลากสีสันเป็นตัวแทนความงดงามของชีวิตคนในพื้นที่ซึ่งเป็นอย่างนั้นเสมอมา จนกระทั่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบความงามกลับอายุสั้นลง เหมือนผีเสื้อที่เปราะบาง อายุสั้น

“ที่ผมทำงานพวกนี้เพราะอยากให้คนช่วยกันตั้งคำถามว่าอะไรเป็นอะไรแล้วจะนำไปสู่สันติภาพได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย”

64557022_2349718801753585_6623904726616375296_o

8 ปีที่อัดอั้นและเต็มไปด้วยข้อสงสัย เกิดเป็น Patani Artspace แห่งนี้ ตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่เล่าเรื่องต่างๆ ในพื้นที่ผ่านศิลปะ รวมถึงเป็นเวทีโชว์พลังของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เขาต้องการให้ออกมาในเชิงบวก สวนทางกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเรื่อยมา และการเปิด Artspace แบบนี้ทำให้เขาได้เห็นทัศนคติของศิลปินคนอื่นด้วยว่าไม่ค่อยแตกต่างกัน

“ศิลปินส่วนมากคิดเป็นเชิงบวกอยู่แล้วเพราะฉะนั้นการตั้งคำถามเชิงลบจึงต้องสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาผ่านงานศิลปะ จริงๆ แล้วก็เป็นสัญลักษณ์สากลที่พยายามสะท้อนสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละช่วงเวลา ส่วนมากศิลปินนำเรื่องราวต่างๆ มาแทนค่าสัญลักษณ์ในงานศิลปะของเขา”

รองศาสตราจารย์ ดร. พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น อาจารย์ประจำสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เป็นศิลปินอีกคนที่หวังจะเห็นบ้านของเขากลับมาดีดังเดิม ถึงขั้นปรับพื้นที่บางส่วนของบ้านให้เป็น Pattani Garden Artspace เปลี่ยนสวนมะพร้าวเป็นสถานที่แสดงผลงาน

“จุดประสงค์แรกเราต้องการให้เป็นลานประลองของศิลปินและนักศึกษาที่มีโจทย์ มีคอนเซปต์ ในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะเป็นสื่อที่กว้างเพื่อใช้แสดงออกโดยเราไม่จับอาวุธไปส่งเสียงหรือไปสร้างสถานการณ์ แต่เราใช้ศิลปะซึ่งเป็นตัวแทนของปัญญา ความคิดเราอาจแตกต่างกัน เราอาจมีแง่มุมที่สะท้อนเรื่องชีวิต การเมือง สังคม วัฒนธรรมโดยสันติวิธี และพื้นที่ตรงนี้เป็นธรรมชาติบำบัด คือมนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ มนุษย์แสดงออกซึ่งความคิดของตัวเองผ่านศิลปะเรื่องสันติภาพออกไปแก่ผู้คนได้ชื่นชมและตีความ”

โจทย์ของผลงานที่นำมาแสดงใน Pattani Garden Artspace จะสับเปลี่ยนไปโดยมีภัณฑารักษ์คัดสรรและจัดการ เมื่อเดือนเมษายนโจทย์คือ ‘ไล่คว้าแสง’ มีผลงานมากมายกระจายตัวสื่อความหมายทั่วอดีตสวนมะพร้าว นอกจากความงาม ทุกชิ้นมีสิ่งที่อยากบอก เช่น ผลงานที่ได้แนวคิดจากภาพโมนาลิซ่า ชื่อว่า ‘โมนาลิซ่าปัตตานี’ อย่างที่รู้กันดีว่าภาพโมนาลิซ่าของจริงได้รับการเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ประเทศฝรั่งเศส มีเครื่องป้องกันอย่างดีเพื่อไม่ให้ถูกโจรกรรมหรือถูกทำลาย แต่กับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ศิลปินต้องการสื่อถึงความหวาดระแวงซึ่งเป็นแถบกั้นเขต บวกกับแสงจากกระบองไฟของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทุกอย่างล้วนสร้างความรู้สึกหวาดระแวง

ความพยายามของศิลปินซึ่งใช้ศิลปะเยียวยาปัญหาที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงหลายอย่างในพื้นที่ อาจไม่ใช่จำนวนปลอกกระสุนที่ร่วงหล่นน้อยลง หรือเสียงระเบิดที่สร่างซา ทว่าในแง่ความรู้สึกของผู้คนมีแต่จะดีขึ้น เพราะเสียงสะท้อนที่ออกไปทำให้คนเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น หลายคนที่ติดกับดักอคติมาตลอดพอได้มาเห็นว่าศิลปะกำลังบอกอะไรก็ถึงบางอ้อว่ามีแบบนี้ที่ปลายด้ามขวาน เรียกได้ว่าความงดงามและความหมายได้เฉิดฉายทะลุควันปืน

64639717_2349719005086898_2426937486115602432_o

ส่วนในมุมของศิลปินอย่าง ผศ.เจะอับดุลเลาะ ยังยอมรับว่าศิลปะจะไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์ชนิดพลิกฝ่ามือ แต่ยังเชื่อว่าศิลปะจะเป็นปัจจัยสำคัญของการแก้ปัญหา และจิ๊กซอว์ตัวนี้จะช่วยให้ภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เคยสงบและงดงามกลับมาสมบูรณ์

“ถ้าผมไม่ทำอะไรเลยก็คงไร้ประโยชน์ ก็เลยต้องทำอะไรบางอย่างที่เป็นแง่บวก คือเราไม่ต่อต้านใครทั้งสิ้น แต่พยายามสร้างสิ่งดีๆ ให้พื้นที่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นพื้นที่แสดงออก อย่างผมถ้าถูกกระทำแล้วผมไม่ทำงานศิลปะ วันหนึ่งผมอาจจะไปจับปืนก็ได้ แต่ผมโชคดีที่ผมมีศิลปะ ผมจึงระบายกับศิลปะ”

  • ดับไฟใต้ด้วยปลายพู่กัน

เบื้องหน้าคือศิลปินที่ทั้งสร้างสรรค์ผลงาน และมอบโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมกันแสดงออก สันติภาพที่กำลังก่อตัวเริ่มต้นจากประกายไฟที่หวังใจว่าวันหนึ่ง ‘บ้าน’ ของพวกเขาจะกลับมาน่าอยู่เหมือนวันวาน ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นของการต่อสู้อย่างสงบ นั่นคือ งานวิจัยเพื่อสันติภาพ โดยมี ผศ.ดร. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง เป็นผู้ประสานงานการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ จังหวัดชายแดนใต้ (SRI13) สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (สกสว.)

“เราเริ่มต้นจากมาถามคนในพื้นที่ว่าอยากได้ความรู้ชนิดไหน คนในพื้นที่ซึ่งหมายถึงชาวบ้าน เด็กและเยาวชน ภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานรัฐที่ทำงานในพื้นที่ว่าความรู้ชนิดไหนจะช่วยส่งเสียงของเขาหรือช่วยเอื้ออำนวยการทำงานของเขาในการบรรเทาปัญหาชายแดนภาคใต้ เพราะเราคิดว่าปัญหาชายแดนภาคใต้แก้ไม่ได้ถ้าคนไทยไม่เห็นว่ามันสำคัญหรือว่าไม่มาร่วมแก้ปัญหา” ผศ.ดร.แพร เล่าถึงที่มาของโจทย์วิจัยที่จำเป็นต้องลงมาร่วมบรรเทาความรุนแรงซึ่งสั่งสมมานานกว่า 10 ปี ยิ่งเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีความภาคภูมิใจของคนพื้นถิ่น แม้จะยังไม่มีบทสรุปว่าประวัติศาสตร์บทใดถูกต้องที่สุด แต่คำที่ ดร. มาร์ค ตามไท จากมหาวิทยาลัยพายัพเคยนิยามไว้ว่า ‘คุณค่าศักดิ์สิทธิ์’ คือสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ

วิธีหนึ่งซึ่งไม่ว่าจะประเทศไหนที่มีคนเห็นต่างกับรัฐแต่ไม่เกิดความรุนแรง คือ ทำให้เรื่องทำนองนี้พูดได้ ฟังได้ แต่ในสังคมไทยยังกลายเป็นเรื่องต้องห้าม การขีด เขียน วาด ระบาย จึงเป็นการส่งเสียงโดยไม่ใช้เสียง และที่แน่ๆ คือไม่ใช้อาวุธ

65044650_2349718815086917_375967336714207232_o

ถ้าดินสอ แท่งสี หรือพู่กัน จะมาแทนมีดหรือดาบที่ใช้ประหัตประหารฆ่าฟัน กล้องกับเลนส์คงเป็นสิ่งแทนกระบอกปืน เพื่อใช้เล่าเรื่องผ่านศิลปะแขนงที่ 7 อย่างภาพยนตร์ ด้วยความเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์แนวระนาบ (คือประชาชนกับประชาชน ชุมชนกับชุมชน) ที่สั่นคลอนมาตลอด 15 ปี จะถูกซ่อมแซมฐานรากด้วยกลุ่มคนตัวเล็กๆ ซึ่งเกิดและโตมากับความรุนแรงมาตลอด แต่ใช่ว่าความรุนแรงจะกลายเป็นสารอาหารให้พวกเขา ในทางกลับกัน เด็กและเยาวชนอาจมีมุมมองมากมายอยากบอกคนภายนอก เกิดเป็นโครงการ ‘ขัดกันฉันมิตร’

“ถ้าทำงานกับเยาวชนจะให้มาเขียนงานวิจัยก็คงไม่ใช่ วิธีที่ดีที่สุดคือให้พวกเขาทำหนังสั้น เราก็มีกระบวนการอบรมทักษะต่างๆ แล้วให้เขาคิดพล็อตเรื่อง ระหว่างทางเรามีคนทำหนังมาช่วย ในปีแรกเด็กๆ ไม่เคยทำหนังเลย เราก็พาคนมาช่วยสอนเป็นเวลา 10 เดือนจนหนังเสร็จ แล้วก็ส่งเข้าประกวด ฉายที่เซ็นทรัลเวิลด์ ถามว่าทำไมต้องเซ็นทรัลเวิลด์ เพราะน้องๆ ที่ทำหนังเขาภูมิใจมาก ตอนที่หนังฉายน้องเขาน้ำตาไหลเลยนะ จะมีสักกี่ครั้งที่หนังของเราได้อยู่ในโรงระดับนี้

เรามองว่าไม่จำเป็นต้องสื่อสารผ่านงานวิจัยก็ได้ ก็มีหนังหลายเรื่องน่าสนใจ มีเรื่องหนึ่งพูดถึงการถูกตีตรา เพราะคนในสังคมไทยมักจะตีตราคนในพื้นที่ เรื่องเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ วันที่สอบสัมภาษณ์มีอาจารย์ถามว่าเอาระเบิดมาด้วยหรือเปล่า ก็เป็นประสบการณ์ที่คนในพื้นที่เจออยู่ตลอด”

64758686_2349719015086897_340005313551794176_o

นอกจากนี้ ผศ.ดร. แพร ยังยกตัวอย่างหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องอย่างง่าย พล็อตไม่ซับซ้อน คือเรื่องของเพื่อน คนหนึ่งเป็นไทยพุทธ อีกคนเป็นไทยมุสลิม คนหนึ่งหนีออกจากบ้านไปอยู่บ้านเพื่อน เกิดความเข้าใจผิด แล้วก็คลี่คลายว่าพวกเขายังรักกัน ช่วยเหลือกันจนคนหนึ่งเรียนจบศาสนา คนหนึ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย

“เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันพื้นมากๆ ดราม่าหน่อยๆ แต่สิ่งที่น้องคนสร้างหนังเล่าน่าสนใจมาก น้องเล่าว่านี่ไม่ใช่ภาพจริงนะ แต่นี่คือความฝันของผมว่าสักวันหนึ่งจะเกิดขึ้น ซึ่งประสบการณ์ของเขาแต่ต่างรุ่น อย่างรุ่นเราอยู่ในพื้นที่ นี่คือภาพจริง และมันไม่มีแล้ว แต่สำหรับน้องที่เติบโตท่ามกลางความรุนแรง นี่คือภาพฝันที่เขาไม่เคยทัน เพราะหลายคนก็อยู่ในวัฒนธรรมเดี่ยวที่ไม่มีเพื่อนต่างศาสนา เขาถึงรู้สึกว่าอยากมี”

ความทับซ้อนของปัญหาและความซ้อนทับของกฎหมายมากมายในพื้นที่ที่ขยับตัวนิดเดียวก็มีโอกาสเป็นภัยต่อความมั่นคง ศิลปะจึงเป็นกระบอกเสียงที่อาจไม่ตรงไปตรงมาแต่กำลังเล่าเรื่องค้างคาในใจของคนในพื้นที่ ตลอด 15 ปีแห่งความขัดแย้งทำให้เกิด Art Space หลายแห่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ประสานงานการวิจัยฯ คนนี้นิยามว่านี่เป็นสุนทรียะที่สะท้อนความกดดันผ่านงานศิลปะ

ปัญหาคั่งค้างอาจยังไม่ถูกแก้ไขจนหายไปในพริบตา แต่การแสดงออก บอกเล่า ให้คนภายนอกเข้าใจ อาจบรรเทาความร้อนแรงของไฟใต้ได้บ้าง เพราะในแง่สันติวิธีหากความขัดแย้งในแนวระนาบไม่ดี จะยิ่งเป็นเชื้อไฟให้ความรุนแรงคุกรุ่น