ชวนผูกปิ่นโต..กินข้าวกับผัก และไข่อินทรีย์

ชวนผูกปิ่นโต..กินข้าวกับผัก และไข่อินทรีย์

เมื่อคนรุ่นใหม่เบื่อแสงสี กลับไปทำไร่ไถนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เบนเข็มทิศชีวิตตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว ซึ่งกำลังเป็น “เทรนด์” อาชีพใหม่ของผู้คนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเจริญในเมืองหลวง

 

       ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปเมื่อคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เปลี่ยนตัวเองไปเป็นชาวนา อยู่อย่างพอเพียง มีตัวอย่างมาหลายคน หลายรุ่น และมากขึ้นเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับหนุ่มสาวคู่นี้ โอม – อัครเดช ม่วงไม้ กับ เมย์ –      บุษลักษณ์ บัตรมาก  สองคู่รักที่พร้อมเป็นเกษตรกรปลอดสาร ลงนาทำสวนเลี้ยงไก่ในชื่อ ธรรมดา        การ์เด้น โดยหนุ่มโอม เริ่มต้นก่อนเมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา

โอมกับเมย์

        โอมกับเมย์  

       “ผมจบด้านบริหารการเงิน จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (เมย์จบที่เดียวกันจากคณะนิเทศฯ ปัจจุบันทำงานในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง) พอจบมาผมก็ทำงานสายตรงเลยครับ เป็นโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ ทำอยู่ 8 ปี ตอนทำงานไปสัก 5 ปี ตอนนั้นเริ่มมองหาอย่างอื่นทำ ตอนแรกไปปลูกผักไฮโดร ทำโรงเรือนเอง ต่อท่อพีวีซีทำเป็นรางน้ำ ผมปลูกในกล่องโฟมเล็ก ๆ มี 7-8 กล่อง พอปลูกขึ้นขายได้เราก็เริ่มชอบ เป็นผักสลัดพวกกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ส่งขายร้านอาหาร ร้านสเต๊ก ทำมาได้ 2 ปี”

          ระหว่างปลูกผัก หนุ่มโอมก็ยังไม่ลาออกจากงานประจำ วันธรรมดาไปทำงาน วันเสาร์-อาทิตย์อยู่ที่คลอง 6 ปทุมธานี มาดูแลผักไฮโดร

          “ที่จริงทำไม่เยอะ ปลูกได้รอบละพันกว่าต้น เก็บขายครั้งหนึ่งได้ 5-6 พันบาท ใช้พื้นที่ไม่มาก วิธีปลูกผักไฮโดรไม่ยากครับ เพราะมีเครื่องวัดน้ำ วัดปริมาณปุ๋ย แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะ งานตลาดหุ้นเริ่มตัน เกิดความเครียด คือมันไม่ใช่เงินเราแล้วพอขาดทุนเยอะลูกค้าก็เครียด เราก็เครียด เราคุยกับลูกค้าทั้งวันทั้งคืนจนความเครียดสะสม ผมเลยมองหาอาชีพเสริม”

เกี่ยวข้าว

          ปลูกผักไฮโดรเป็นอาชีพเสริม พอรู้สึกว่าใช่ตัวเองแล้วก็ตัดสินใจลาออกจากบริษัทขายหุ้น

          “ตอนแรกไปสมัครทำงานเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าเกษตร แต่พอไปทำจริง ๆ กลายเป็นสินค้าอาหารแช่แข็ง แต่ก็เข้าไปทำได้ 7-8 เดือน พบว่ามันคนละทางกับที่เราคิดเลยลาออก ตอนนี้คิดเป็นเกษตรกรเต็มตัวแล้ว”

          เมื่อคิดได้ก็หาความรู้เพิ่ม ลงคอร์สเรียนหมักปุ๋ย ทำน้ำหมัก เตรียมดิน และคิดว่าไม่ทำผักไฮโดรแล้ว เพราะมีข่าวว่าตรวจเจอสารตกค้างจากปุ๋ยเคมีที่ละลายในน้ำ กินมากไปไม่ดีต่อสุขภาพ หนุ่มโอมจึงคิดว่าเมื่อจะเป็นเกษตรกรก็ขอเป็นเกษตรกรปลอดสารดีกว่า

          “ที่จริงที่บ้านผมทำนาอยู่แล้ว ทำมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ มาถึงรุ่นคุณพ่อก็ทำอยู่ แต่ก็ยังใช้ปุ๋ยเคมี ปลูกข้าวส่งโรงสี พอเราคิดว่าเราจะปลูกข้าวอินทรีย์ก็บอกพ่อว่าเราจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วนะ จะสีข้าวเอง แล้วเรากินเองด้วย”

          ชาวนาปลอดสารเริ่มตั้งแต่เตรียมดิน สร้างโรงสี โรงเก็บข้าว และซื้อเครื่องสีข้าวเล็ก ๆ เพราะสีเองกินเอง

โรงสีข้าว

          “พอจะทำเกษตรอินทรีย์เราต้องเปลี่ยนทุกอย่าง เริ่มมาจากเรากินข้าวที่เราปลูกเอง เราก็เลี้ยงไก่เพื่อกินไข่ด้วย ทำนาข้าวอินทรีย์ยากนะครับ ผลผลิตลดเหลือครึ่งหนึ่งจากที่เคยทำ จากเมื่อก่อนปลูกข้าว 30 ไร่ ได้ข้าว 30 ตัน แต่พอทำอินทรีย์เหลือ 15 ตัน หายไปครึ่งหนึ่งเลย และเราก็ต้องมีโรงเก็บข้าว ทุกอย่างต้องสร้างใหม่หมดเพื่อเตรียมตัวเป็นออร์แกนิค จริง ๆ ต้องเตรียม 3-5 ปี ยังอยู่ในช่วงปรับดิน”

          และกำลังขอยื่นจดเป็นข้าวออร์แกนิค เมื่อครบกำหนดเวลาก็จะได้รับตรา “ออร์แกนิค ไทยแลนด์”

          “ตอนนี้ถือว่าใกล้เคียง เรียกว่าเป็นข้าวปลอดสาร และที่ว่าทำยากก็ด้วยพื้นที่รอบด้านก็ยังใช้ยาอยู่ ซึ่งออร์แกนิค ไทยแลนด์ มีกฎว่าถ้าเจอพื้นที่อื่นใช้สารเคมีต้องปลูกแนวกำบัง เช่น หญ้าเนเปียร์ ไทรเกาหลี ใช้เป็นม่านกำบังลม มีหลักเกณฑ์ว่าต้องปลูกอะไรบ้าง มาตรวจน้ำ ตรวจดิน ซึ่งเรายื่นขอไว้ราวปีหนึ่งแล้วครับ”

ช่วงปักดำ

          เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีน้อย ตอนนี้น้ำ ดิน ผ่านแล้ว และการไม่ใช้ปุ๋ยเคมีก็ผ่านแล้ว รอเวลาอีกสักนิดก็จะได้ตราออร์แกนิค ที่ปลอดสารเคมีอย่างสมบูรณ์แบบ

          “ข้าวเรียกว่าปลอดสาร ส่วนไข่ไก่เป็นออร์แกนิค ผักที่ปลูกก็ออร์แกนิค เราแยกพื้นที่กันคือ ทำนา 35 ไร่ ทำร่องสวนเลี้ยงไก่ 5 ไร่ ไก่เดินอยู่ในพื้นที่มีร่องสวน ทำคอกไก่ไว้ 1 งาน ไก่นอนในมุ้งเนื่องจากยุงเยอะมากเพราะมีร่องสวน ไก่กินอาหารที่มาจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ กินข้าวปลอดสารที่เราปลูกเอง กินเปลือกหอย รำที่สีข้าว กินผลไม้ หลัก ๆ แล้วอาหารไก่ต้องมีโปรตีนและวิตามิน เป็นไก่สีน้ำตาลพันธุ์โร้ดไอร์แลนด์ ที่กินแต่ไข่นะครับ ถ้าทำไข่ออร์แกนิคพวกไก่จะมีอายุการไข่ 2 ปี แต่ถ้าเลี้ยงในกรงไก่จะมีอายุการไข่ 5 ปี แต่เนื่องจากเลี้ยงไก่ไม่เยอะ มีประมาณร้อยกว่าตัว ยังไม่ได้วางแผนว่าจะเอาไก่ไปทำอะไร อีกอย่างไก่เราไข่ได้น้อยครับเพราะเราเลี้ยงแบบเปิด ไก่เดินเล่นในสวน และเราควบคุมอากาศไม่ได้เลยควบคุมการออกไข่ไม่ได้ ถ้าไก่ที่เลี้ยงในกรงขังเขาจะให้อาหารเม็ดที่สกัดสารอาหารทุกอย่างออกมา ให้ยา ให้สารเร่ง เป็นปกติอยู่แล้ว ปกติไก่ 100 ตัว ถ้าให้อาหารเม็ดจะออกไข่ได้ถึง 90 – 100 ฟองต่อวัน แต่ไก่เราออกไข่ 30-40 ฟองต่อวัน”

ไก่ไข่พันธุ์โร้ดไอร์แลนด์

          ไก่ถึงไม่ออกไข่แต่ก็มีกิจกรรมเดินไปเดินมาอย่างเสรี ไข่ไก่อินทรีย์ดีอย่างไร คนเลี้ยงไก่บอกว่า

          “ไข่ใบไม่ใหญ่นะครับ แต่ไข่แดงใหญ่ และสีจะไม่สดเหมือนไก่ที่กินอาหารเม็ด แล้วแต่ฤดูกาลด้วย หน้าหนาวไก่จะกินน้ำน้อย หน้าร้อนจะกินน้ำเยอะ มีผลต่อไข่ ถ้ามีน้ำเยอะ เวลาทอดจะกระเด็น และไข่ขาวจะข้น ดูเหมือนเป็นวุ้นหน่อย ๆ ไข่ให้คุณค่าสารอาหารครบ จากที่เราเลี้ยงด้วยอาหารอินทรีย์ที่ดีที่สุด เน้นโปรตีน แคลเซียม วิตามิน เช่นแคลเซียมต้องมาจากเปลือกหอยเท่านั้น โปรตีนจากถั่วเหลือง วิตามินก็สำคัญ ไก่เรากินอาหารดีตามมาตรฐานแต่เราบังคับให้ออกไข่ทุกวันเหมือนเลี้ยงแบบปิดไม่ได้ พวกนั้นไก่จะเครียดนะครับ ไปไหนไม่ได้ กินแล้วก็ไข่ พอเครียดก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะแก้เครียด เขาจะใส่ไปในน้ำ

ไข่สดในบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้

          บางทีผมก็เปิดเพลงให้ไก่ฟังด้วย ก็เหมือนคนนะครับ ฟังเพลงแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ผมเปิดพวกมิวสิค รีแลกซ์ ให้ผ่อนคลาย ผมว่าไก่ถ้ามันเครียดหรือตกใจมันจะออกไข่น้อย”

          เมื่อเครียดก็ต้องกินยาคลายเครียด ไก่ก็เหมือนคน กินยาสังเคราะห์มาก ๆ เข้าย่อมไม่ดีต่อไข่ที่จะออกมา

          “ไข่ไก่อินทรีย์ฟองละ 10 บาท ขายแบบคละไซส์คือไซส์ขนาดไหนก็ขายราคาเท่ากัน และเราก็บังคับไซส์มันไม่ได้เหมือนไก่ที่เลี้ยงแบบปิด”

ธรรมดา3

          แรกขายข้าวพ่วงขายไก่ ใส่ในกระถางใยมะพร้าว ส่งไปบ้านไหนก็ถูกใจเพราะใช้เป็นกระถางปลูกต้นไม้ เอาลงดินได้เลย ย่อยสลายภายใน 6 เดือน

          “เราตีโจทย์จากชื่อสวนคือ “ธรรมดา” มาจากสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติ อยากให้แพคเกจจิ้งจบในแต่ละตัวที่ให้ลูกค้าไปเพื่อให้ใช้งานต่อได้ เราไม่ใช้พลาสติกเลย”

          เช่นเดียวกับแพคเกจจิ้งของข้าว ที่ใส่ในถังไม้สักดูสวยงาม 

          “เราทำข้าวปีละ 2 ครั้ง แบ่งแปลงละ 11 ไร่ มี 3 แปลง ปลูกให้ต่อเนื่องกันพันธุ์หอมปทุม พอเกี่ยวเสร็จปลูกปอเทือง 2 เดือน ปอเทืองให้ไนโตรเจนสูง จากนั้นปรับดิน แล้วทำอีกแปลงต่อ พอลงข้าวแล้วใช้เวลา 4 เดือน ลงแปลงที่หนึ่งไปสองเดือนก็จะลงแปลงที่สอง พอครบสี่เดือนเกี่ยว ลงปอเทือง ปล่อยไว้ 2 เดือน ปลูกเสร็จแล้วไถกลบ หมักไว้ 2-3 สัปดาห์ ก็จะเริ่มทำนาต่อ”

ถังไม้สักขนาดใหญ่

          ส่วนวิธีการขายข้าว ใช้หลักการ “ผูกปิ่นโต” โดยสาวเมย์ รับหน้าที่ทำการตลาดออนไลน์ รับออเดอร์พร้อมส่งถึงบ้านทั่วกรุงเทพและปริมณฑล

          “ข้าวที่สีแล้วใส่ถังไม้สัก มีขนาด 7 โลครึ่ง ตัวถังหนัก 3 กิโล รวมกับข้าวเป็นสิบกิโลครึ่ง เรียกว่าถังเล็ก ข้าวหอมปทุม (ข้าวขาว) ราคา 400 บาท ข้าวกล้อง 450 บาท กับถังจุ 15 โล ข้าวขาว 750 บาท ข้าวกล้อง 850 บาท เมื่อลูกค้ากินข้าวหมดก็จะเอาถังไม้สักอันใหม่มาเปลี่ยนให้ (ตามขนาดที่ลูกค้าสั่ง) เราคิดถึงแพคเกจที่เอาไปใช้ต่อได้ ตอนแรกเลยใช้ถุงกระสอบอัดสุญญากาศใส่ข้าว อย่างน้อยถุงนั้นก็เอามาใช้ต่อได้ ไม่อยากให้คนใช้ถุงพลาสติก แต่พอมีลูกค้ามากขึ้นก็เลยคิดถึงการผูกปิ่นโต เกิดไอเดียใช้ถังไม้สักมาใช้บรรจุข้าว อีกอย่างไม้สักมีคุณสมบัติกันมอดได้ในระดับหนึ่ง”

ถังไม้สักขนาดเล็ก

        และสวยงามดูดี ถังไม้สักที่ว่านี้สองหนุ่มสาวเกษตรกรปลอดสาร พากันตระเวนซื้อแถวเยาวราช เจอคุณลุงทำถังไม้สักอยู่แล้วก็เลยสั่งทำไซส์พิเศษ

      “คุณลุงเล่าเรื่องถังไม้สักอีกด้วยว่า นอกจากไม้สักกันมอดได้แล้ว คนจีนสมัยก่อนมีความเชื่อว่าถังไม้สักเป็นฮวงจุ้ยด้วย ครอบครัวที่มีถังไม้สักจะทำมาค้าขึ้น ถ้าบ้านไหนมีลูกแต่งงานก่อนพ่อแม่ก็จะให้ถังไม้สักไปถือเป็นการเริ่มครอบครัว เป็นเคล็ดที่เชื่อว่าทำให้เจริญรุ่งเรือง

     วิธีการส่งข้าวในถังไม้สักคือเราจะเอาข้าวไปเติม จะไม่ใส่ถุงพลาสติกไป ซึ่งลูกค้าต้องยกถังมาให้เราหน้าบ้านเพื่อเติมข้าว แต่บางคนก็ใช้วิธีแลกถังกัน มีชาวญี่ปุ่นอยู่คอนโดเขาถือถังมาแลก เราก็เกรงใจเขาต้องแบกถังมาให้ แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไรเขาแบกไหว ผมว่าทุกคนไม่อยากใช้ถุงพลาสติก ยอมลำบากนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร ลูกค้าที่ผูกปิ่นโตกับเราจะเข้าใจว่าเราไม่ใช้ถุงพลาสติกเลย เช่นเดียวกับตะกร้าหวายที่ใช้ใส่ไข่”

ข้าวพร้อมส่งในถังไม้สัก

     ได้บรรจุภัณฑ์สวยงาม แถมความหมายที่ดีแล้ว กลยุทธ์การขายแบบผูกปิ่นโตก็เพื่อให้มีลูกค้าสะสมต่อเนื่อง เช่นเมื่อสั่งข้าว (ผูกปิ่นโต) ครบ 24 ครั้ง จะสั่งถังใหญ่หรือถังเล็กก็ได้ เมื่อส่งข้าวครบ 24 ครั้ง ก็จะได้ถังไม้สักในขนาดนั้นไปเลย

     “แต่ก่อนจะผูกปิ่นโตกัน ผมจะส่งข้าวตัวอย่างให้ทดลองกินก่อน เพราะข้าวพันธุ์หอมปทุมเป็นข้าวนิ่ม ลักษณะเหมือนข้าวใหม่ ถ้ากินแล้วติดใจก็มาผูกปิ่นโตกัน ผมพบว่าคนส่วนใหญ่ชอบกินข้าวแข็ง ที่เรียกว่าหุงขึ้นหม้อ แต่ข้าวนิ่มจะหุงไม่ขึ้นหม้อครับ บางบ้านชอบกินข้าวแข็งเขาบอกว่ากินกับแกงอร่อย แต่ข้าวเราจะนิ่ม คนไทยส่วนใหญ่ชินกับข้าวเก่า คือข้าวที่เก็บไว้ 1 ปีขึ้นไป

      นอกจากเป็นข้าวนิ่มแล้วเราก็สีสดก่อนส่งครับ เช่นสั่งวันศุกร์ วันเสาร์เราสีข้าวแล้วส่งวันอาทิตย์ เราจะไม่สีข้าวทิ้งไว้เพราะถ้าสีข้าวทิ้งไว้สัก 1 เดือน ตัวข้าวสารจะแห้ง จะไม่มีตัวยางขาว พันธุ์ข้าวเราถึงสีเก็บไว้ก็จะไม่แข็ง การกินข้าวมันก็ติดเหมือนนะครับ เช่นเคยกินยี่ห้อนี้มานานก็เปลี่ยนยาก เราถึงเข้าใจ เลยส่งข้าวให้ทดลองกินก่อน”

       คนปลูกข้าวปลอดสารบอกอีกว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าที่สั่งข้าวก็มักสั่งไข่เพิ่มด้วย ซึ่งไข่ไก่ออร์แกนิคยังมีปริมาณไม่มากนัก มักไม่พอเพียงกับความต้องการ เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของลูกค้าที่อยากได้ผักออร์แกนิคไว้รับประทานด้วย

ผักปลอดสารปลูกในโรงเรือน

ส่งผักสไตล์บ้าน ๆ

       “เราเพิ่งปลูกผักยังได้ผลผลิตไม่มากนัก ใช้พื้นที่ 1 งาน ปลูกผักในโรงเรือน เราเลยแจกฟรีให้ลูกค้าหรือเอาผักไปฝากให้บ้าง ต่อไปจะปลูกมากขึ้น และตอนนี้เริ่มขุดบ่อเลี้ยงปลาด้วย มีปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาดุก ปลากินอาหารธรรมชาติ เช่น ผักจากสวน กากถั่วเหลืองจากร้านขายน้ำเต้าหู้ รำข้าว ปลายข้าวและแกลบจากข้าวที่เราสี”

      ขายของแบบพ่วง ให้ผูกปิ่นโตกันนาน ๆ กินข้าว ผัก ปลา และไข่ไก่อินทรีย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ห่างไกลสารพิษ...

หมายเหตุ : สนใจข้าวปลอดสาร “ธรรมดา การ์เด้น” ดูที่ IG, Line@ และ FB:/ tammadagarden โทร.09 2265 9992