สถาปัตย์ มธ. จับมือ เอสซีจี จัดกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสู่ Net Zero
สถาปัตย์ มธ. จับมือ เอสซีจี จัดกิจกรรมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสู่ Net Zero
โดยกิจกรรมบรรยายพิเศษและแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ "Climate Resilience - การแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) สร้างสังคมสู่ Net Zero โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานจากหลากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีธรรมาภิบาล
ผศ. อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความยั่งยืน (Sustainability) ไม่ใช่เรื่องใหม่ จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ด้วยการเชื่อมโยงมิติของสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เป็นแนวคิดที่ถูกนิยาม/ตีความอย่างหลากหลาย บูรณาการมุมมองที่หลากหลายจากหลายศาสตร์ และยังมีพัฒนาการอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในมุมมองของโลกวิชาการและโลกของการปฏิบัติงาน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นหลากหลายเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืน ผ่านการกำหนดนิยามตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย มาตราการต่างๆ ทั้งเชิงส่งเสริมและบังคับ ที่ทยอยออกมาในหลายประเทศ และในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว “ความยั่งยืน” เป็นถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนา
มหาวิทยาลัย ในฐานะหน่วยงานอุดมศึกษา (Higher Education) มีบทบาทที่สำคัญในการผลิตองค์ความรู้และทางออกใหม่ ที่ต้องยั่งยืนให้กับสังคม ผ่านโครงการวิจัยของคณาจารย์/นักศึกษาบัณฑิตศึกษา ด้วยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ คณะสถาปัตย์ฯ ธรรมศาสตร์ ได้รับการจัดลำดับโดย Times Higher Education’s World University Ranking by Subject: Arts & Humanities ในด้าน Architecture และ Design ให้ มีคะแนน Research Quality สูงที่สุดในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าการเรียนการสอนและงานวิชาการ ยังคงเป็นอีกหนึ่งบทบาทหลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ให้กับคนรุ่นถัดไป (Next Generation)
ในปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านความยั่งยืน และเกือบ 10 ปีแล้วที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวิชาพื้นฐาน (General Education) ในประเด็นนี้ และกว่า 15 ปีแล้วที่คณะสถาปัตย์ฯ ธรรมศาสตร์ ได้เริ่มสร้างวิชาการออกแบบและวางแผนอย่างยั่งยืนให้กับนักศึกษาในหลักสูตรวิชาชีพ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ทางด้านความยั่งยืนให้กับภาคปฏิบัติ (Practitioner) ในองค์กรและอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของคณะสถาปัตย์ฯ ธรรมศาสตร์เช่นกัน
คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้กล่าวถึง ผลจากเรื่องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ในการประชุม COP 28 ที่ผ่านมามีการหารือเป็นวงกว้างเกี่ยวกับการลดการใช้พลังงานและปลดปล่อยคาร์บอน การเปลี่ยนแหล่งพลังงานเป็นพลังงานสะอาด รวมถึงการใช้เงินทุนที่สนับสนุนโครงการ Green หรือ Net Zero Project
ผลกระทบต่อวงการอสังหารัมทรัพย์ในประเทศไทย มองว่าทุกภาคส่วนจะพบความท้าทายมากขึ้น เช่น จากภาครัฐ ที่มีการวางกรอบเพื่อควบคุมคาร์บอนในเชิงกฎหมาย รวมถึงความคาดหวังของคู่ธุรกิจ ที่ต้องการลดการปลดปล่อยคาร์บอน และแม้ต้องปรับตัว แต่ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ เพราะเป็นปีที่ Green Finance มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนว่าพร้อมสนับสนุน โครงการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีสัญญานการปรับตัวในอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน จากปริมาณความต้องการ การขอการรับรองอาคารเขียว และการคำนวณคาร์บอนของโครงการมากขึ้น แต่มาตรการข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีรายละเอียดอื่นที่สามารถศึกษาและร่วมมือกัน เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย ผู้เชี่ยวชาญและหัวหน้าหน่วยวิจัยพลังงานที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความสำคัญว่า ทำไมผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญ สำหรับ “เป้าหมายสู่ NET ZERO” โดยได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ นับตั้งแต่ก่อนยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม (ประมาณปี พ.ศ.2393-2443) มนุษย์เราได้ใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสัดส่วน 70% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด สู่บรรยากาศในปริมาณมากกระทั่งชั้นบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป จากการสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของผิวโลก ปริมาณน้ำฝน ความแห้งแล้งของผิวดินและระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ พ.ศ.2443 พบว่าอุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้นตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ในปี พ.ศ.2531 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ก่อตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เพื่อทำหน้าที่ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ต่อมาในปี พ.ศ.2535 การประชุม Earth Summit ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศบราซิลนั้น ภาคีสมาชิกฯ ได้มีมติเห็นชอบในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ซึ่งเป็น “กรอบการทำงานทางกฎหมาย” โดยมีการประชุมประจำปีของกรอบอนุสัญญาฯ ที่เรียกว่า การประชุมภาคี (Conference of Parties: COP) ในการประชุมฯ ครั้งที่ 3 หรือ COP3 ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2540 ภาคีพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ได้กำหนดพันธกรณีผูกพันและกำหนดเวลาต่อประเทศอุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยยังไม่มีทีท่าลดลง ในการประชุมฯ ครั้งที่ 21 (COP21) ณ ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2558 ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ได้บรรลุเป้าหมายในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณภูมิผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2°C และต้องพยายามจากัดไว้ที่ไม่เกิน 1.5°C ภายในศตวรรษนี้ (พ.ศ.2643) สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วม “ความตกลงปารีส” โดยให้สัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสในปี พ.ศ.2559 และในปี พ.ศ. 2565 ได้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 และได้จัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) โดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ.2573 ซึ่งเมื่อเทียบกับกรณีฐาน
จากรายงาน IPCC ของสหประชาชาติล่าสุดพบว่า ในปี พ.ศ.2563 อุณหภูมิผิวโลกเฉลี่ยได้เพิ่มถึง 1.1°C แล้ว และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2566 ว่า อุณหภูมิผิวโลกเฉลี่ยมีโอกาสถึง 1.5°C ภายในปี พ.ศ.2570 ทั้งนี้ประเทศอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 โดยปัจจุบันประเทศเหล่านี้ได้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและบรรลุเป้าความตกลงปารีส หรือ Net Zero Emissions 2050 ในปี พ.ศ.2593 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม เปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเป็นคาร์บอนต่ำ เปลี่ยนผังเมือง อาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการสนับสนุนของ Climate finance และปฏิบัติตามความตกลงปารีส เราสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงได้ ณ วันนี้ การตั้งรับปรับตัว Climate resilience เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ผู้มีส่วนได้เสียในสังคมตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และชาติพันธุ์ต้องช่วยผลักดันและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ... “เราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้”
ผศ.ดร. กัลยา ตันติยาสวัสดิกุล รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แนะนำหลักสูตร Scenario Planning for Sustainability Leadership ซึ่งเป็น Executive Program ที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง คณะสถาปัตย์ฯ ธรรมศาสตร์ และ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด โดยเป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ในมิติความยั่งยืน ท่ามกลางพลวัตโลกที่เผชิญกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ซึ่งบทบาทของผู้บริหารสำคัญอย่างมากในการปรับกระบวนทัศน์และขับเคลื่อนองค์กรสู่โอกาสของความท้าทายใหม่ๆ
ผู้บริหารไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ทำความเข้าใจหลักการของความยั่งยืน แต่ต้องสามารถนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อธุรกิจ รวมทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างมีธรรมภิบาลด้วย เพื่อผลักดันองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม (sustainable and inclusive growth) Sustainability Leadership คือทักษะสำคัญของผู้บริหารที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนแห่งอนาคตได้โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน และผู้บริหารที่มีศักยภาพของ Sustainability Leadership จะสามารถพัฒนาแนวทางบริหารจัดการที่ให้ทางออก ตอบโจทย์ความท้าทายแห่งอนาคต สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในบริบทของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ พร้อมทั้งคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวจากการตัดสินใจต่าง ๆ ขององค์กรได้
หรือศึกษารายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่
https://drive.google.com/drive/folders/1Wst_z0YBvUANKReGkfickgbxmRRDyjT7?usp=sharing