ทำความเข้าใจ..และรู้จักก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างราคาก๊าซฯ ของไทย

ทำความเข้าใจ..และรู้จักก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างราคาก๊าซฯ ของไทย

ทำความเข้าใจ..และรู้จักก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างราคาก๊าซฯ ของไทย กันสักนิด.....

ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงที่มีสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง สะอาด ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น  เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งก๊าซธรรมชาติ สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่
•    Natural Gas หรือ ก๊าซธรรมชาติ เป็นส่วนผสมของก๊าซไฮโดรคาร์บอนและสิ่งเจือปนต่างๆ ในสภาวะก๊าซ
•    CNG คือการนำก๊าซธรรมชาติมาอัด ก่อนเติมลงถังก๊าซรถยนต์ โดยปกติจะใช้ความดันประมาณ 200 บาร์
•    LNG เป็นก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของเหลว เพื่อประโยชน์ในการขนส่งไปใช้ในที่ไกลจากแหล่งผลิต
•    LCNG เป็นการนำ LNG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ โดยขนส่งในรูปแบบ LNG ที่เป็นของเหลว และเปลี่ยนให้อยู่ในสถานะก๊าซ เมื่อจะนำไปเติมในรถยนต์
•    LPG หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบด้วยก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน รถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม
•     LNG เป็นส่วนผสมของก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในรูปของเหลว ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบตั้งแต่ก๊าซเพนเทน เป็นต้นไป

ในปัจจุบันราคาซื้อขาย LNG จะมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค และยังมีโครงสร้างราคาที่ต่างกัน อาทิ
•    ตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะใช้ดัชนีราคา Henry Hub (HH) 
•    ตลาดภูมิภาคยุโรป แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ใช้ดัชนีราคา National Balancing Point (NBP) และประเภทที่ใช้ดัชนีราคา Title Transfer Facility (TTF)
•    ตลาดภูมิภาคเอเชีย จะใช้ดัชนีราคา Japanese Crude Cocktail (JCC) 
นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งรูปแบบการซื้อขายได้เป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ SPOT คือการซื้อ-ขาย LNG ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ โดยจะอ้างอิงกับราคาตลาดในช่วงเวลานั้นๆ และ 2. รูปแบบ Term Contract คือ การซื้อ-ขาย ที่มีการส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่แน่นอน โดยจะคำนวณตามสูตรราคาอ้างอิงกับดัชนีราคาน้ำมันหรือราคาก๊าซฯ ตามข้อตกลงในสัญญา

ทำความเข้าใจ..และรู้จักก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างราคาก๊าซฯ ของไทย
 

ด้วยก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยจึงมี พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เพื่อใช้การกำกับกิจการระบบส่งก๊าซธรรมชาติ โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์ เพื่อแยกงานนโยบาย การกำกับดูแล และการประกอบกิจการพลังออกจากกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ตลอดจนให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง เพียงพอและทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรมและได้มาตรฐาน การกำหนดโครงสร้างราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วยต้นทุน 3 ส่วน คือ
1. ราคา Pool Gas ซึ่งจะเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักราคาและปริมาณ ได้แก่ ก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศ รวมอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯ ในทะเล ก๊าซฯ นำเข้าจากประเทศพม่า รวมอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯ เพื่อส่งมาประเทศไทย และก๊าซฯ นำเข้าในรูปแบบ LNG รวมค่าใช้จ่ายนำเข้าและค่าบริการสถานี LNG
2. ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ
3. อัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก ซึ่ง Shipper รายใหม่ต้องไปจองใช้บริการจากระบบส่ง Transmission System Operator (TSO) คำนวณเฉพาะ ค่าผ่านท่อก๊าซฯ บนบก ไม่รวมค่าผ่านท่อในทะเล ทั้งนี้ การที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้น ยังมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันเตาในตลาดโลก และ การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
ดังนั้น การกำหนดราคา LNG นำเข้า จึงต้องมีการกำหนดราคาให้เหมาะสม  ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะเป็นผู้กำกับดูแลหลักเกณฑ์ด้านราคา LNG เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ดังนี้
สำหรับ Regulated Market:
1. สัญญาระยะยาว สัญญาระยะกลาง : กกพ. จะดูแลหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG ให้มีความสอดคล้องกับสภาวะตลาดทุกเดือน 
2. สัญญาระยะสั้น : กกพ. จะพิจารณาความเหมาะสมของค่าคงที่ เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาความคุ้มค่าที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ 
3. สัญญา Spot : กกพ. จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของค่าคงที่
สำหรับ Partially Regulated Market:
Shipper สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ ภายใต้การกำกับดูแลด้านปริมาณและคุณภาพการให้บริการของ กกพ.
ดังจะเห็นได้ว่า ก๊าซธรรมชาติ มีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ได้ในหลายปัจจัย เช่น
•    ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ครอบคลุมโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับภูมิภาค ส่งผลให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นไบโอมีเทน ใช้ทดแทนการนำเข้า LNG 
•    ช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ เนื่องมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในแนวท่อก๊าซฯ จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นการเพิ่มมูลค่าของก๊าซธรรมชาติ ได้ถึง 7-25 เท่า รวมถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติอย่างเต็มศักยภาพจะส่งผลให้ต้นทุนก๊าซฯ ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ค่าไฟฟ้าลดลง
•    ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เนื่องจากช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการใช้พลังงาน โดยเฉพาะเมื่อใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมันเตา หรือ LPGขณะที่การส่งเสริมการใช้ไบโอมีเทนจะช่วยในการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน
และที่สำคัญ การใช้ก๊าซธรรมชาติยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 เพื่อความยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย

รับชมคลิป VDO ชุด ชวนทำความรู้จักก๊าซธรรมชาติ เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=-f3tUTui3O4 หรือ สแกน QR Code ได้เลย

ทำความเข้าใจ..และรู้จักก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างราคาก๊าซฯ ของไทย

#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ
#เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน #CreateTheFutureEnergy
#กระทรวงพลังงาน  #พลังงานมั่นคงเป็นธรรมยั่งยืน