ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ 'อีอีซี' ผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ 'อีอีซี' ผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

สกพอ. ลงพื้นที่ 3 จังหวัด ติดตามความก้าวหน้าโครงการสำคัญ และประเมินศักยภาพความพร้อมเพื่อเตรียมขอรับงบประมาณ ผ่านแผนงานบูรณาการ "อีอีซี"

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ลงพื้นที่ 3 จังหวัด ติดตามความก้าวหน้าโครงการสำคัญภายใต้แผนงานบูรณาการ อีอีซี และประเมินศักยภาพความพร้อมโครงการที่เตรียมขอรับงบประมาณ ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ - 9 สิงหาคม 2566 โดยมีโครงการสำคัญด้านการพัฒนาบุคลากร การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การเกษตร การยกระดับด้านสาธารณสุข และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งในระยะ 2 ปี (ปี 2565 - 2566) ที่ผ่านมา มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนงานต่างๆ ดังนี้

  • การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 

โดยมีการร่วมมือกับเมืองพัทยา ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมืองพัทยาตามแนวทาง NEO PATTAYA "พัทยาโฉมใหม่ ใส่ใจไม่ทิ้งกัน" ยกระดับแหล่งท่องเที่ยว รายได้ และคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ "อีอีซี" ซึ่งดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 โดยมีการพัฒนาพื้นที่ลานโพธิ์และนาเกลือ หรือ "Old Town นาเกลือ" ปรับปรุงพื้นที่สวนสาธารณะต่างๆ เช่น พื้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ จุดชมวิวทัศนียภาพปากคลองนาเกลือและคลองนกยาง (สะพานยาว) เป็นต้น

อีกทั้งยังศึกษารูปแบบการร่วมทุนกับภาคเอกชน ออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวและทางแยกจุดตัดถนนสุขุมวิท เพื่อเตรียมพัฒนาพื้นที่และเชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สำหรับเมืองพัทยาได้ก่อสร้างอาคารจอดรถสำหรับตลาดจำหน่ายสินค้าของฝากบริเวณตลาดลานโพธิ์นาเกลือ และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการฯ ตามแผนฯ อาทิ การก่อสร้างตลาดขายอาหารทะเลบริเวณตลาดลานโพธิ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จทุกโครงการภายในปี 2570

  • การพัฒนาบุคลากร 

จัดตั้งศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ (EEC Net) ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานการพัฒนาบุคลากรตามรูปแบบ EEC Model ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 - 2566 รวมทั้งสิ้นจำนวน 36,699 คน และมีหลักสูตรได้รับรองจากจากคณะทำงานพิจารณารับรองหลักสูตรฯ เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูงไปแล้วกว่า 271 หลักสูตร และในปี 2565 โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ไปแล้วกว่า 1,116 คน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยบูรพา จัดฝึกอบรมภายใต้คณะพยาบาลศาสตร์ 151 คน และภายใต้สถาบันไทย-เยอรมัน 803 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดฝึกอบรมภายใต้สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย - ฝรั่งเศส 14 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จัดฝึกอบรมภายใต้สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และนวัตกรรม 126 คน และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 22 คน 

ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ \'อีอีซี\' ผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ (EEC Net) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างอนาคตใหม่ บ่มเพาะทักษะบุคลากร หนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 11 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ EEC Automation Park ศูนย์พัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงยุคใหม่ หรือ ENTOUR ศูนย์พาณิชย์นาวี หรือ ENMATE ศูนย์พัฒนาระบบราง หรือ ENRAIL ศูนย์พัฒนาโลจิสติกส์ หรือ ENLOC ศูนย์เทคโนโลยีช่างเชื่อมและอุตสาหกรรมเหล็ก ศูนย์การแพทย์ดิจิทัล Medical Hub ศูนย์อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV CONEX ศูนย์เมคคาทรอนิกส์ หรือ ENMEC ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอากาศยาน และศูนย์ Smart Electronic โดยการดำเนินงานของศูนย์ฯ ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความสามารถ มีสมรรถนะสูง สามารถทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นหนึ่งในช่องทางการพัฒนาบุคลากร การสร้างกลไกการเรียนรู้ที่ก้าวทันการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Technology Disruption) (ที่มา : สำนักพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2566)

  • การพัฒนานวัตกรรม 

เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ตั้งอยู่ในบริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ขนาดพื้นที่ 3,454 ไร่ โดยเป็นพื้นต้นแบบในการผลักดันการใช้นวัตกรรมให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมปรับฐานอุตสาหกรรมเดิมผ่านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนกว่า 15,000 ล้านบาท และสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้ถึง 37,000 ล้านบาท     

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างกลุ่มอาคาร EECi Phase 1A แล้วเสร็จ โดยเป็นพื้นที่ให้บริการงานวิจัยและนวัตกรรม เตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสีไอออน โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ และศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อชุนชนและอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากกรมวิทยาศาสตร์ในการจัดตั้งสนามทดสอบรถอัตโนมัติ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground ซึ่งเป็นการพัฒนางานบริการทดสอบรถอัตโนมัติและทดสอบสนามทดสอบให้ได้มาตรฐาน ผ่านการนำรถอัตโนมัติมาทดสอบวิ่งในสนามจริง ลักษณะคล้ายถนนในประเทศไทย

จากการพัฒนาพื้นที่ EECi ก่อให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และพันธมิตร ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ Community Zone อีกทั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยังได้ดำเนินการสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre : PTIC) สำหรับพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรม เป็นต้น

ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ \'อีอีซี\' ผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

  • การพัฒนาพื้นที่และสิ่งแวดล้อม

สกพอ. ร่วมกับ กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ ยผ. จัดทำผังเมือง อีอีซี เป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง และได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำผังระดับอำเภอ 30 ผัง ซึ่งจากการประกาศใช้ผังเมืองอีอีซี พบว่า สัดส่วนการใช้ประโยชน์ในที่ดินแต่ละกลุ่มยังคงมีสัดส่วนเท่าเดิม ถึงแม้จะมีการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภค - สาธารณูปการ หน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน สามารถวางแผนการพัฒนาและการลงทุนได้ชัดเจนซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ "อีอีซี" ต่อไป

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) ภายใต้แนวคิด SDGs/ BCG ดูแลปัญหาหลักด้านการจัดการน้ำเสีย ขยะ คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ ความเสื่อมโทรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมลพิษ และพัฒนาต่อยอดระบบข้อมูลสารสนเทศให้เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาลตำบลท่าข้าม เทศบาลนครแหลมฉบัง และเทศบาลตำบลบ้านฉาง

  • การพัฒนาเกษตร 

มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะและเทคโนโลยีชีวภาพในคลัสเตอร์สำคัญ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตรงกับความต้องการของตลาด ภายใต้แนวคิด "ตลาดนำการผลิต" เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมตลอดทั้งปี โดยเริ่มดำเนินงาน ปี 2566 เป็นปีแรก มีการพัฒนาระบบบริหารพัฒนาการเกษตร สำหรับผู้บริหารหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และเกษตรกร พัฒนานวัตกรรมการแปรรูปผลไม้เขตร้อน โดยการยืดอายุการเก็บผลไม้ผ่านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้แช่เยือกแข็ง และน้ำส้มสายชูหมักจากมะม่วง และพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการโคเนื้อเขตร้อนชื้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบพฤติกรรมของโคอย่างละเอียดเพื่อวางแผนการเลี้ยงได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ในการวางระบบจัดเก็บข้อมูลที่แม่นยำ นำไปสู่การวิเคราะห์ แปรผล แสดงผล และการตัดสินใจ เกิดการลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และกำไรที่มากขึ้น

  • การยกระดับระบบสาธารณสุข 

เพิ่มศักยภาพและยกระดับระบบบริการสาธารณสุขให้ประชาชนในพื้นที่ สู่การเป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจร และศูนย์การแพทย์เฉพาะทางในเขตพื้นที่ อีอีซี โดยก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุ อาคารผู้ป่วยนอก - ใน ก่อสร้างอาคารผ่าตัด อุบัติเหตุผู้ป่วยหนัก พร้อมทั้งจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาคารศูนย์อุบัติเหตุและโรคหัวใจ ให้กับโรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลปลวกแดง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติพระเทพฯ โรงพยาบาลแกลง และโรงพยาบาลบางปะกง นอกจากนี้ โรงพยาบาลพุทธโสธร ยังมีการขยายบริการโดยจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสอดรับกับสังคมประชากรจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลให้สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่ตามบริบทของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ตามการพัฒนาและรองรับการขยายตัวของประชาชนในพื้นที่อีอีซี ที่จะมีประชากรย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่ รวมถึงการเดินทางเข้ามาจำนวนมากของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ \'อีอีซี\' ผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

  • การสร้างการรับรู้ 

กรมการปกครอง เสริมสร้างการรับรู้ และความเข้าใจอันดีต่อนโยบายเขตพิเศษ ภาคตะวันออก ให้กับประชาชนในพื้นที่ทุกระดับตั้งแต่ ระดับจังหวัด ระดับอําเภอ ตําบล และหมู่บ้าน รวมทั้งจัดทำสื่อ และกิจกรรมที่มาจากความต้องการประชาชน (EEC Project Bank) ซึ่งจากการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจต่อนโยบาย "อีอีซี" จากประชาชนในพื้นที่ จำนวน 1,530 คน พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมมั่น ร้อยละ 70.80 โดยรับรู้นโยบายและการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี สูงที่สุด และพบว่า การดำเนินโครงการขนาดเล็กในระดับพื้นที่จะเป็นการสร้างการรับรู้และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 และ 8 สิงหาคม 2566 สกพอ. ยังร่วมลงพื้นที่กับสำนักงานงบประมาณเขตที่ 1 เพื่อศึกษาศักยภาพและความพร้อมในการดำเนินโครงการที่เตรียมเสนอขอรับงบประมาณผ่านแผนงานบูรณาการ อีอีซี พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะ ความเหมาะสมและแนวทางในการวิเคราะห์ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการฯ ภายใต้แผนพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยลงพื้นที่ประชุมหารือแผนพัฒนาพื้นที่และโครงการสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ศรีราชและเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ได้แก่ โครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินในเขตเทศบาลเมืองศรีราชา และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร และลงพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้บ้านทะเลน้อย จังหวัดระยอง หารือการพัฒนาโครงการพัฒนาและฟื้นฟูป่าชายเลนในบ้านทะเลน้อย สู่การแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน รองรับการท่องเที่ยวจากการพัฒนาและขยายตัวของเมืองในอนาคต

ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ \'อีอีซี\' ผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ \'อีอีซี\' ผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน