แสนสิริ เดินหน้าสร้าง Net Zero Home 2050

แสนสิริ เดินหน้าสร้าง Net Zero Home 2050

"แสนสิริ" หนึ่งในแนวร่วมด้านความยั่งยืน Green Heroes for life พันธมิตรของ "ชไนเดอร์ อิเล็คทริค" เผยแนวคิดและอุดมการณ์ ในการมุ่งสร้างความยั่งยืนเพื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ดีกว่า

แสนสิริ ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักบรรษัทภิบาล มุ่งเน้นการมีจริยธรรม และโปร่งใส รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยคาดหวังว่าการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของแสนสิริจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และสัมพันธ์กับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Trends)

ปัจจุบัน "ความยั่งยืน" กลายเป็นนโยบาย และหลายองค์กรมีเป้าหมายในการมุ่งไปสู่การลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการประกอบการไปสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และที่บรรลุปลายทางที่สุดคือ Net Zero การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลยแม้เพียงชนิดเดียว (ไม่ใช่แค่เฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ดังนั้น อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ นับเป็นธุรกิจที่มีซัพพลายเชนในแวดล้อมจำนวนมาก การควบคุมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวด 

สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจะก้าวไปสู่ Net Zero เป็นความท้าทาย โดยเฉพาะภาค ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน การพัฒนารูปแบบโครงการ การก่อสร้าง กระทั่งการส่งมอบงานให้ลูกบ้าน แม้เทคโนโลยีจะมีความสำคัญ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละช่วงของห่วงโซ่ หรือซัพพลายเชน หลักการสำคัญคือต้องเข้าใจก่อนว่าการที่เราจะนำส่งโครงการที่เป็น Net Zero 2050 แต่ละฝ่ายต้องมีหน้าที่อะไรบ้าง เช่น การพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัย ต้องคุยกับทีมงานให้เข้าใจ เช่น เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยในการออกแบบบ้าน การออกแบบต่างๆ ที่เข้ามาช่วยลดอุณหภูมิบ้านล้วนเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงคู่ค้าที่นำส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาประกอบบ้านที่ต้องการจำเป็นต้องสรรหาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยตอบโจทย์เพื่อบรรลุเป้าหมาย เช่นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจวัดบางโครงการในเรื่องของการใช้พลังงานว่าการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่

สำนักงานใหญ่ แสนสิริ มีการใช้ พลังงานสะอาด เช่น การติด Solar Rooftop นอกจากนี้โรงงานของแสนสิริ 5 โรงงาน ถือเป็นโรงงานต้นแบบในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ มีเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการนำของเหลือใช้จากการผลิต เช่น แผ่นคอนกรีตแปรสภาพ แล้วหลอมกลับขึ้นมาใช้ใหม่ เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้แสนสิริช่วยลดการเกิดของเสียได้มาก 

การผลิตที่อยู่อาศัยในแนวราบ มีการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์มาก่อน เพื่อลดการเกิดของเสีย เพราะสามารถประเมินการใช้วัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างบ้าน ทำให้แรงงานทำหน้าที่เหมือนเพียงประกอบบ้าน ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ ในโครงการแนวราบของแสนสิริใช้แผ่นคอนกรีตพรีแคส (Precast) ที่ผลิตจากโรงงานของแสนสิริ ซึ่งการใช้แผ่นพรีแคสช่วยลดเวลาในการก่อสร้างได้ประมาณ 3 เดือน นั่นหมายถึงเป็นการช่วยลดมลพิษจากการขนส่ง ลดการใช้ไฟฟ้าจากการก่อสร้าง รวมไปถึงมลพิษจากการก่อสร้าง ปัญหารถติดอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณงานหน้างาน เช่นการก่ออิฐฉาบปูนหน้างาน ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องความเสียหายของอิฐในระหว่างการขนส่ง และระหว่างการขนถ่าย หรือแม้กระทั่งเหล็กเส้น หรือสายไฟก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นการวางแผนในการก่อสร้างได้อย่างดี เป็นการลดต้นทุนการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ในโครงการแนวดิ่งอย่างคอนโดมิเนียม แสนสิริมีการใช้กรีนซีเมนต์ ช่วยทำให้ลดคาร์บอนได้ 12,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่าในปี 2025

สมัชชา กล่าวอีกว่า แนวคิดที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กร โดยธุรกิจของเรานั้นเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีหน้าที่นำส่งที่อยู่อาศัยให้กับลูกบ้าน การบริหารซัพพลายเชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เรามี Framework สำคัญ 3 ประการ ในการนำส่งโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 

  • Green Procurement ตั้งเป้าว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของวัสดุที่ซื้อมาประกอบเป็นที่อยู่อาศัย ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • Green Architecture and Design การออกแบบต้องให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • Green Construction เรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบบ้าน ช่วยลดของเสียที่เกิดขึ้นในการสร้างบ้าน

นอกจากนี้ จากรายงานด้านความยั่งยืนของแสนสิริในปี 2022 พบว่า โรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของแสนสิริมีการควบคุมฝุ่นละอองในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับโครงการบ้านแสนสิริ มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์จํานวนกว่า 700 หลังคาเรือน รวม 1,998,400 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง คิดเป็นการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 999 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับบ้านเดี่ยวของแสนสิริติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้าจํานวนกว่า 400 หลัง หรือคิดเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 680 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ 

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ดูแลประเทศไทย เมียนมา และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า การร่วมกันต่อสู้กับ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และสร้างความยั่งยืน นับว่าเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับทุกธุรกิจในปัจจุบัน ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกระดับ ทุกองค์กร ไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ จะเป็นองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสถาบันต่างๆ ก็สามารถแบ่งปันเรื่องราวด้านความยั่งยืนร่วมกัน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสและการปฏิบัติไปสู่ความยั่งยืนของโลกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

"เราได้รับการตอบรับที่ดีจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการมาร่วมเล่าถึงเป้าหมายด้านความยั่นยืนและวิธีดำเนินการขององค์กรนั้นๆ ในโครงการ Green Heroes for Life ซึ่งแต่ละองค์กรจะมาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และความเป็นผู้นำในการก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืน" สเตฟาน กล่าว

มาร่วมเป็น Green Heroes for Life ด้วยกัน เพื่อสร้างองค์กรที่ยั่งยืน และเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคตร่วมกัน สนใจเข้าร่วม คลิกที่นี่