“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“บทบาทของ กต. และภาพรวมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 เป็นอย่างไร”

คนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ หรือผู้เดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใด และไม่สามารถไปลงคะแนนเสียงในประเทศไทยได้

ก็สามารถขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นหน่วยงานหลักในภารกิจสำคัญนี้ โดยมีสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) และสถานกงสุลใหญ่ (สกญ.) ทั้ง 94 แห่งทั่วโลก เป็นเสมือน “คูหาเลือกตั้ง”

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สนง. กกต.) กำหนด โดย สอท./สกญ. อาจจัดเลือกตั้งมากกว่า 1 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในต่างประเทศและอำนวยความสะดวกแก่คนส่วนใหญ่ เช่น ในประเทศที่คนไทยไปทำงานภาคบริการซึ่งวันเสาร์อาทิตย์จะเป็นวันที่ลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมากและได้หยุดวันธรรมดา ก็จะจัดคูหาเลือกตั้งในวันที่คนไทยส่วนใหญ่หยุดงาน

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

สำหรับวิธีการเลือกตั้งในต่างประเทศนั้น สนง. กกต. กำหนดไว้ 3 วิธีเพื่อเป็นทางเลือก เนื่องจากประเทศต่าง ๆ มีบริบทและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน โดย สอท./สกญ. จะพิจารณากำหนดวิธีการที่เหมาะสมกับชุมชนไทยในประเทศนั้น ซึ่งเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญได้แก่ (1) แบบคูหา ซึ่งจะจัดที่ สอท./สกญ. (2) ทางไปรษณีย์ ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีระบบไปรษณีย์ที่มีประสิทธิภาพ และการเดินทางห่างไกล ยากลำบาก คนไทยอยู่กันกระจัดกระจาย (3) วิธีอื่น ๆ เช่น การจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่เพื่อเข้าถึงพี่น้องคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีชุมชนไทยหนาแน่น เช่น ค่ายพักคนงาน ฟาร์มเกษตร วัดไทย เป็นต้น รวมถึงประเทศในเขตอาณาซึ่ง สอท. ดูแลรับผิดชอบแต่ไม่มีสำนักงานตั้งอยู่

“คนไทยในต่างประเทศตื่นตัวเพียงใดในการเลือกตั้งครั้งนี้”

จากสถิติการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปีนี้ เห็นได้ชัดว่า คนไทยในต่างประเทศให้ความสนใจและมีความตื่นตัวในการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง โดยการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 115,227 ราย และมีผู้มาใช้สิทธิ 99,927 ราย คิดเป็นร้อยละ 86.72 ซึ่งมีอัตราส่วนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 2) สหรัฐอเมริกา 3) สหราชอาณาจักร   4) ญี่ปุ่น และ 5) เยอรมนี   ตามลำดับ โดยเมื่อปี 2562 ยอดลงผู้ทะเบียนขอใช้สิทธิ 119,232 ราย และมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 101,003 ราย   คิดเป็นร้อยละ 84.71

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“การดำเนินภารกิจอันสำคัญนี้ กต. เตรียมพร้อมอย่างไร”

กต. ให้ความสำคัญอย่างมากกับภารกิจนี้ โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามหลัก “การทูตเพื่อประชาชน” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้คนไทยในต่างประเทศได้ใช้สิทธิออกเสียงและกำหนดอนาคตของประเทศไทยร่วมกัน โดยเมื่อประเมินเงื่อนเวลาต่าง ๆ จากการเลือกตั้งรอบที่แล้วและวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาล กต. จึงได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 เพื่อให้มั่นใจว่า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้ กต. ได้หารือและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะ สนง. กกต. กรมการปกครอง (สำนักบริหารการทะเบียน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ตั้งแต่การพัฒนาระบบการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร       การแก้ไขระเบียบและการบริหารจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมทั้งแนวทางการจัดส่งบัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศและการขนส่งไปยังเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตทั่วประเทศ โดยมีประสบการณ์และบทเรียนจากการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อปี 2562 และข้อเสนอแนะจาก สอท./สกญ. ในฐานะหน่วยงานด่านหน้าที่ต้องประสานงานกับคนไทยในต่างประเทศโดยตรง

ขณะเดียวกัน กต. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสร้างทีมงานที่เข้มแข็งภายใน กต. โดยจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบ IT งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ โดยมีอธิบดีกรมการกงสุลเป็นประธาน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใน กต. ร่วมเป็นคณะทำงาน         ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์หลากหลาย เคยจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อครั้งประจำการในต่างประเทศและประสานงานต่าง ๆ ภายใน กต. จึงได้ระดมสมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ และแสวงหาแนวทางที่จะทำให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน  ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้แก่ สอท./สกญ. โดย กต. ร่วมกับ สนง. กกต. จัดการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ สอท./สกญ. ทั่วโลก 2 ครั้ง ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติให้การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นระบบ และถูกต้องตามระเบียบ กกต. รวมทั้งมีการตั้งกลุ่มแชทเพื่อตอบคำถามและให้คำปรึกษาแนะนำต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“อะไรคือ Pain Point และความท้าทายของการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร”

ด้วยเครือข่าย สอท./สกญ. ทั่วโลก 94 แห่งในภูมิภาคต่าง ๆ มีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งจำนวนและลักษณะของชุมชนไทยที่อยู่กระจัดกระจาย โซนเวลา ระยะทาง ข้อจำกัดด้านการขนส่ง และบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ ที่อาจเป็นทั้งปัจจัยเกื้อหนุนและความท้าทาย ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรโดยอิงกับรูปแบบ การเลือกตั้งในประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น จำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่และสนับสนุนการเลือกตั้ง จำนวนหน่วยเลือกตั้งที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงประชาชน และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนไทยแข่งขันกันรายงานข่าว ซึ่งแตกต่างจากสภาพชุมชนไทยในต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการประสานงานและการติดตามสถานะการดำเนินงานของ สอท./สกญ. ทั้ง 94 แห่ง รวมถึงการบริหารจัดการปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกันทั้ง 94 แห่งภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็ว โดย กต. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการให้ข้อมูลถูกต้อง ตรงประเด็น และเป็นประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและแก้ไขข่าวเท็จ (fake news) ที่สร้างกระแสดราม่าและความเข้าใจผิดในสังคม ในขณะที่ปัจจุบัน ทุกคนสามารถเล่นบทบาท “นักข่าว” ในสื่อสังคมออนไลน์ได้ โดยบางครั้งลืม“รับผิดชอบ” กับเนื้อหาที่โพสต์

“กุญแจแห่งความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

เพื่อรับมือกับความท้าทายและลดความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ในสภาพบริบทของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน กต. โดยศูนย์บริหารข้อมูลการกงสุล และสารสนเทศ (Consular Data and Information Centre: CDIC) ของกรมการกงสุล จึงได้พัฒนา “ระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร” หรือ “Overseas Voting Monitoring System” เรียกสั้น ๆ ว่า “OVMS” เป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานผ่านเว็บไซต์ (web application) ซึ่งใช้งานได้ทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นเครื่องมือที่ กต. สามารถใช้ติดตามการดำเนินงานของ สอท./สกญ. ทุกแห่งในลักษณะ checklist แบบ real-time รวมถึงสถานะการขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกคะแนนเสียงของพี่น้องคนไทยในต่างประเทศจะไม่สูญเปล่า กต. จึงได้วางแผนอย่างเป็นระบบในการขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว โดยให้ สอท./สกญ. ทยอยส่งบัตรเลือกตั้งกลับมาคัดแยกและส่งไปนับคะแนนที่เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ สำหรับประเทศที่ห่างไกลหรือมีสถานการณ์พิเศษซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งนั้น    เจ้าหน้าที่กงสุลถือถุงเมล์กลับมายังประเทศไทยด้วยตนเอง โดยมีการประสานงานกับสายการบินและการท่าอากาศยานอย่างรัดกุมและใกล้ชิด ซึ่งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 กต. ได้รับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วจาก สอท./สกญ.       ครบถ้วนทั้ง 94 แห่ง และสามารถส่งมอบให้ สนง. กกต. และ ปณท. เพื่อจัดส่งไปนับคะแนนที่เขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตในประเทศไทยได้ทันตามกรอบเวลาที่วางไว้

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”

“ข้อสังเกตต่อการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคต”

กต. ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้คนไทยทุกคนออกมาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และแสวงหาวิธีการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคต เช่น การเลือกตั้งโดยลงคะแนนแบบ i-Vote ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย และยุโรปได้เริ่มใช้   i-Vote อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยประหยัดงบประมาณและช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไทยในต่างประเทศ ซึ่งอาศัยอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ และอยู่ห่างจากเมืองที่ สอท./สกญ. ตั้งอยู่ โดยการเลือกตั้งแบบ i-vote จะสอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็น e-Government ของรัฐบาล ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบ blockchain เข้ามาช่วย ทั้งในการประชาสัมพันธ์ การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิผ่านระบบออนไลน์ของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และอาจพิจารณาเริ่มนำร่องในประเทศพัฒนาแล้วก่อน โดย กต. อยู่ระหว่างการหารือกับ สนง. กกต. ในเรื่องนี้เพื่อพิจารณาศึกษาวิธีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแบบ i-Vote ต่อไป

 

ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

กรมการกงสุล

16 มิถุนายน 2566