กว่าจะมาถึงวันผลิตก๊าซด้วยระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

กว่าจะมาถึงวันผลิตก๊าซด้วยระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

กว่าจะมาถึงวันผลิตก๊าซด้วยระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นมากขึ้นก็ไม่พ้นเรื่องการเมือง เพราะใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกที แต่ข่าวที่น่ายินดี และถือเป็นข่าวดีของคนไทย ก็คือ ข่าวการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) จากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) โดยวันที่ 7 มีนาคม 2566 คือวันสุดท้ายของสัมปทาน และก้าวเข้าสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตหลังจากพ้นเที่ยงคืนเข้าสู่วันที่ 8 มีนาคม 2566

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวย้ำในงานแถลงข่าวไว้ว่า    วันที่ 8 มีนาคม 2566 ถือเป็นอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์พลังงานของประเทศไทย ที่จะมีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม เพราะระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแปลง G2/61 ปรับลดลงประมาณ 107-152 บาทต่อล้านบีทียู (ปรับจาก 279 - 324 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู) และหากคำนวนคร่าวๆ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่ราคาปรับลดลง ไปจนถึงสิ้นปี 2566 จะมีมูลค่าที่ปรับลดลงรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาลดลง ทำให้สามารถช่วยลดผลกระทบเกี่ยวกับราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนได้

หากย้อนกลับไปดูเส้นทางการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบสัญญแบ่งปันผลผลิต จะพบว่า ยืดเยื้อกันมาตั้งแต่ปี 2559 ตามด้วยกระแสคัดค้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งในช่วงที่ภาครัฐใช้ระบบสัมปทาน กลุ่มเอ็นจีโอก็เสนอให้ใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต    แต่พอภาครัฐเลือกใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต กลุ่มเอ็นจีโอก็คัดค้านให้ไปใช้ระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการประมูลออกไป

อย่างไรก็ตาม ก็ได้ข้อยุติในขณะนั้นว่าจะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพราะหากประเทศไทยเปลี่ยนไปใช้ระบบสัญญาจ้างบริการ ในวันนี้ก็อาจจะไม่มีเอกชนดำเนินการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติทั้งจากแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช เพราะการจะใช้ระบบสัญญาจ้างบริการนั้น แหล่งปิโตรเลียมจะต้องเป็นแหล่งขนาดใหญ่ รวมทั้งมีปริมาณปิโตรเลียมมากพอที่จะจูงใจนักลงทุน ในขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชดำเนินงานมาแล้ว 40-50 ปี มีการผลิตก๊าซธรรมชาติไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณก๊าซที่เหลืออาจไม่เพียงพอต่อการที่ภาคเอกชนจะตัดสินใจเข้ามายื่นประมูล วันนี้ประเทศไทยก็อาจได้รับผลกระทบต่อภาคพลังงานอย่างมหาศาลก็เป็นได้

สำหรับคืนวันที่ 7 มีนาคม 2566 ต่อเนื่องถึงเช้าวันใหม่ 8 มีนาคม 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดตั้ง วอร์รูม เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูม คอยติดตามควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีทีมเฉพาะกิจภาคสนาม จำนวน 3 ทีม ทั้งทีมบนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลอ่าวไทย และทีมบนเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว จนกระทั่งการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) จากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำเร็จลุล่วงอย่างราบรื่น โดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องทันทีทุกขั้นตอนแบบไร้รอยต่อ และจะสามารถเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากกว่าเป้าหมายที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม)