เชียงใหม่ทำอุโมงค์น้ำ 300 เมตรรับสงกรานต์ 2565 

เชียงใหม่ทำอุโมงค์น้ำ 300 เมตรรับสงกรานต์ 2565 

บรรยากาศจัดเตรียมจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ วัดทุกแห่งนำพระพุทธรูปออกมาให้ประชาชนสรงน้ำ ขณะที่เทศบาลเตรียมอุโมงค์ละอองน้ำความยาวประมาณ 300 เมตร 

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 บรรยากาศการเตรียมความพร้อมรับเทศกาลสงกรานต์ หลายวัดได้มีการนำพระพุทธออกมาประดิษฐานในบริเวณที่ทางวัดจัดเตรียมพื้นที่ไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเข้ามาสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากจะจัดเตรียมให้มีการสรงน้ำพระแล้ว ยังได้จัดเตรียมทรายไว้ให้ประชาชนทำการก่อกองทรายถวายเจดีย์ตุง ซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อในพระพุทธศาสนา เพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกไปจากวัด กลับมาคืนในรูปแบบเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

 

เชียงใหม่ทำอุโมงค์น้ำ 300 เมตรรับสงกรานต์ 2565 

ขณะที่วัดเจ็ดลิน ซึ่งเคยจัดทำเจดีย์ทรายสุดส้าว สูงที่สุดในโลก พระมหาวิษณุ จารุธัมโม เจ้าอาวาสวัดเจ็ดลิน อ.เมือง เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ไม่ได้จัดเจดีย์ทรายสุดส้าวปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว เนื่องจากอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ประกอบกับการจัดเจดีย์สุดส้าวต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่มีจำนวนน้อยลง จึงยังไม่จัดในปีนี้ แต่ได้เตรียมทรายและตุงไว้ให้ประชาชนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาที่วัดได้ก่อเจดีย์ทรายปักตุงเพื่อความเป็นศิริมงคลของตัวเอง

 

เชียงใหม่ทำอุโมงค์น้ำ 300 เมตรรับสงกรานต์ 2565 

ด้านเทศบาลนครเชียงใหม่ได้มีการจัดเตรียมสถานที่ ไว้อย่างสวยงามมีการประดับตุงโดยรอบคูเมือง ขณะที่บริเวณถนนด้านหน้าลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ ได้มีการจัดทำโครงการเหล็กขนาดใหญ่ เป็นแนวทางยาวประมาณ 300 เมตร เพื่อปล่อยละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น ขณะที่ลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ กำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมสถานที่ เพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นบริเวณลานเอกชนประสงค์ เช่น กิจกรรมประกวดตุงล้านนา ประกวดก่อเจดีย์ทราย หิจหรรมประกวดเทพี เทพบุตรสงกรานต์

 

ส่วนเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเครื่องสักการะ หมากสุ่ม หมากเป็ง เครื่องอาหารคาวหวานตามโบราณล้านนา มีการจัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมกาดหมั้ว คัวฮอม พร้อมทั้งจัดทำขนมปาด ซึ่งเป็นขนมโบราณใช้แป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำอ้อยและมะพร้าวขูดละเอียดกวนจนเข้ากัน ก่อนที่ตัดเป็นชิ้น ห่อด้วยใบทองกวาว

 

สำหรับขบวนแห่กิจกรรมยอสวย ไหว้สา พระญามังราย ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.00 น. วันที่ 12 เมษายน 2565 เริ่มขบวนที่ ประตูท่าแพ แห่มาตามถนนราชดำเนิน สิ้นสุดที่ลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ ภายในขบวนแห่ ประกอบไปด้วยขบวนช่างฟ้อน ประมาณ 400 คน เครื่องสักการะคาว หวาน หมากสุ่ม หมากเป็ง ขบวนสวยดอกไม้ จุดเด่นของกิจกรรมปีนี้จะมีการโชว์ตีกลองสะบัดชัยพร้อมกัน 9 ใบ เพื่อเป็นสัญญาณการฉลองครบ 726 ปี ของเมืองเชียงใหม่