"ปุ๋ยแพง" กระทบหนัก เกษตรกรโอดจำเป็นต้องซื้อแม้ราคาพุ่งเท่าตัว

ปัญหา "ปุ๋ยแพง" กระทบหนัก ผู้ประกอบการร้านปุ๋ยปรับกลยุทธ์การขาย ด้าน "เกษตรกร" โอดจำเป็นต้องซื้อแม้ปุ๋ยปรับราคาสูงขึ้นเท่าตัว

วันที่ 2 เมษายน 2565 "ปุ๋ยเคมี" ราคาพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการร้านปุ๋ยปรับกลยุทธ์การขาย "วิชาการถึงบ้าน บริการถึงสวน" ขณะที่ "เกษตรกร" ยอมรับแม้ "ปุ๋ยแพง" แต่จำเป็นต้องใส่เพราะต้องเร่งผลผลิต หลังจากราคาพืชผลทางการเกษตรพุ่งสูงต่อเนื่องเช่นกัน

 

 

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่าย "ปุ๋ยเคมี" ที่ช่วงนี้ราคา "ปุ๋ยแพง" ขึ้นเท่าตัว พร้อมเยี่ยมชมสวนผลไม้เกษตรกร โดยเฉพาะสวนทุเรียนปีนี้มีแนวโน้มจะมีราคาจะพุ่งสูงกว่าทุกปี และเข้าแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรหลังพบปัญหาผลร่วงเพราะเจอสภาวะฝนฟ้าไม่เป็นใจ

 

ที่ร้านหนูวงศ์การเกษตร หมู่ที่ 1 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง นางพยอม หนูนุ่ม เจ้าของร้านจำหน่ายปุ๋ยเคมี ผลิตภัณฑ์ยารักษาและเคมีพันธ์สำหรับพืชการเกษตรมากว่า 4 ปี โดยร้านแห่งนี้จะเปิดเป็นโกดังเพื่อเก็บสินค้ามากกว่าที่จะเปิดบริการหน้าร้าน เนื่องจากเจ้าของกิจการและพนักงานต้องออกพื้นที่เพื่อดูแลและให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่เจ้าของสวนทั้งในและนอกจังหวัด

 

จากการสำรวจราคาปุ๋ยเคมีก่อนจะมีการปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ตันละ 21,000 บาท และตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มเป็นราคาตันละ 22,000 บาท ปรับขึ้นกระสอบละ 50 บาท จากกระสอบละ 1,050 ปรับขึ้นเป็นกระสอบละ 1,100 บาท

 

ทั้งนี้ยังรับบริการใส่ปุ๋ยพืชให้ด้วย หากเป็นพื้นที่ธรรมดาไม่ขึ้นเนินขึ้นเขาคิดค่าบริการกระสอบละ 50 บาท หากพื้นที่เป็นเนิน เป็นเขาราคาก็ปรับขึ้นตามสภาพพื้นที่สวน

 

 

นางพยอม กล่าวว่า กลยุทธิ์ของทางร้านคือเน้นบริการก่อนและหลังการขาย "วิชาการถึงบ้าน บริการถึงสวน" ซึ่งก่อนจะจำหน่ายปุ๋ยให้กับลูกค้าจะลงพื้นที่ไปตรวจดูสภาพของพืชว่าพืชสมบูรณ์ มีโรคหรือไม่ สภาพดินเป็นอย่างไร ควรปรับเพิ่มหรือลดหรือดูแลรักษาอย่างไรให้ดิน พืช มีความอุดมสมบูรณ์

 

ถึงแม้ว่าราคาปุ๋ยเคมีจะปรับราคาสูงขึ้น แต่ความต้องการของลูกค้าเพิ่มเป็น 100 เท่า เทียบจากยอด 15 วันที่ผ่านมามียอด 400-500 กระสอบ แต่ ณ วันนี้มียอดสั่งจองเป็น 1,000 กระสอบที่ยังไม่ได้ส่งลูกค้า เพราะราคาปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งวันที่ 31 มี.ค. มีลูกค้าสั่งจองเข้ามามากและมีการชำระเงินก่อนล่วงหน้า

 

จากสถานการณ์โลกที่มีปัญหาอยู่ในตอนนี้แม้ปุ๋ยทุกอย่างมีราคาเพิ่มขึ้น ราคาปุ๋ยก็เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ทั้งนี้มองว่าความต้องการของลูกค้าส่วนหนึ่งมาจากราคายาง ปาล์ม สูงขึ้น และคาดว่าราคาทุเรียนน่าจะสูงด้วยเช่นกัน การดูแลรักษาใส่ปุ๋ยเป็นการเร่งเพิ่มผลผลิต และเห็นจากผลผลิตจากสวนใกล้เคียงจึงหันมาดูแลพืชผลทางการเกษตรมากขึ้น และหลังจากนี้ยังคาดเดาไม่ได้ว่าปุ๋ยเคมีจะขาดตลาดหรือไม่ แต่สำหรับที่ร้านยังเชื่อมั่นว่าไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากนี้ชาวสวนก็อาจจะเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน แต่ทางร้านเองก็มีปุ๋ยอินทรีย์รองรับอยู่แล้ว พร้อมบริการลูกค้า

 

ทางด้าน นายอิสรา จันทักษ์ ชาวบ้าน ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน สวนปาล์ม สวนยาง และผลไม้หลายชนิด กล่าวว่า ตนเองทำสวนทุเรียนมา 4-5 ปีแล้ว ปีนี้ราคาปุ๋ยแพงมาก มีผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง จากเมื่อก่อนใช้ปุ๋ยเคมี 100% ตอนนี้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีเข้ามาผสมผสาน มูลสัตว์ที่หาได้ตามท้องถิ่น อย่างมูลวัวเข้ามาผสมผสานเข้าด้วยกันนำจุลินทรีย์มาช่วยย่อยให้เป็นปุ๋ย ถึงแม้มีผลกระทบเยอะพอสมควรแต่เราต้องปรับตัวเพื่อการดำรงต่อไปของสวนให้ได้

 

ถึงแม้ว่าราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นแต่ปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็น อย่างปาล์มมีราคาสูง ทุเรียนมีแนวโน้มราคาสูง ซึ่งพืชผลต้องการปุ๋ยเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ถึงแม้จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็ต้องใส่ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีเป็นตัวขยายขนาดผลและเพิ่มผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถอยู่ได้ถ้าราคาผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ถ้าราคาผลผลิตตกต่ำราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นก็คงไม่ไหวเช่นกัน จากการติดตามสถานการณ์คาดว่าราคาปุ๋ยเคมีน่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้

 

ข่าวภาพโดย ถนอมศักดิ์/ธัญยวดี จ.ตรัง