ดีอีเอส สรุป 10 อันดับ "ข่าวปลอม" ประเด็นปากท้อง-สุขภาพคนสนใจมากสุด

ดีอีเอส สรุป 10 อันดับ "ข่าวปลอม" ประเด็นปากท้อง-สุขภาพคนสนใจมากสุด

ดีอีเอส สรุป 10 อันดับ "ข่าวปลอม" สัปดาห์นี้ พบคนสนใจประเด็นเศรษฐกิจปากท้องและสุขภาพมากสุด เจอบ่อย "ออมสิน" ปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูก - งดใช้ตู้ ATM กรุงไทย

วันที่ 19 มีนาคม 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ "ดีอีเอส" สรุปผลการมอนิเตอร์สถานการณ์รอบสัปดาห์ของศูนย์ต่อต้าน "ข่าวปลอม" พบ 10 อันดับ ข่าวที่ได้รับความสนใจมากสุด เกาะกลุ่มประเด็นเศรษฐกิจปากท้องและสุขภาพ

 

 

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้ง "ข่าวปลอม" ประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11-17 มี.ค. 2565 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม คัดกรองแล้วพบว่า มีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 230 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 113 เรื่อง

 

โดยเป็นสัดส่วนในกลุ่มนโยบายรัฐบาล /ข่าวสารทางราชการถึง 71 เรื่อง ซึ่งบางข่าวมีประเด็นคาบเกี่ยวกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ทำให้ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก

 

 

โดยจากข้อมูลเชิงลึก (Insight) พบว่า ข่าวปลอม ที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับแรกในรอบสัปดาห์ จำกัดวงอยู่ที่ประเด็นเศรษฐกิจปากท้อง และข่าวกลุ่มสุขภาพ ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ได้แก่

 

อันดับ 1 น้ำมันมะพร้าวผสมไข่แดง ลูกหมากสด สารส้มสตุ ช่วยรักษาแผลเบาหวานให้หายสนิท

อันดับ 2 งดใช้ตู้ ATM กรุงไทยทุกตู้ ที่ไม่มีไฟกะพริบตรงที่เสียบบัตร

อันดับ 3 ธ.ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนที่ได้รับข้อความสามารถยื่นขอสินเชื่อ GSB ดอกเบี้ยต่ำเป็นสิทธิ์พิเศษ

อันดับ 4 ธ.ออมสิน ปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐ ให้กู้ยืม 100,000 บาท ดอกเบี้ย 0.75% ผ่อนนาน 5 ปี 

อันดับ 5 กรมราชทัณฑ์ ปล่อยนักโทษ 38,000 คน เนื่องในวโรกาสสำคัญต่างๆ

อันดับ 6 เล่นมือถือนานๆ ทำให้หน้าเบี้ยวผิดรูป

อันดับ 7 ธ.กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อประชาชนสุขใจ วงเงินสูงสุด 200,000 บาท อนุมัติภายใน 30 นาที

อันดับ 8 ผลิตภัณฑ์ D-POT ดีท็อกซ์ปอด ต้านไวรัสและแบคทีเรีย

อันดับ 9 น้ำต้มปูแสม ช่วยรักษาโรคลมบ้าหมู

และ อันดับ 10 ริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

ประชาชนต้องรู้เท่าทันข่าวปลอม และมีความรอบคอบในการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งต่อกันมาทางโซเชียล เพราะผู้ไม่หวังดีจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความสนใจของประชาชนหมู่มาก สร้างข่าวปลอมหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารล่อลวงให้คนหลงเชื่อ

 

ดังนั้น เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอมได้ผ่านช่องทางต่างๆของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้

 

ไลน์ @antifakenewscenter
เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/
ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand
และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

 

ดีอีเอส สรุป 10 อันดับ "ข่าวปลอม" ประเด็นปากท้อง-สุขภาพคนสนใจมากสุด

 

ดีอีเอส สรุป 10 อันดับ "ข่าวปลอม" ประเด็นปากท้อง-สุขภาพคนสนใจมากสุด