คิกออฟ 'บางระกำ โมเดล' เตรียมปล่อยน้ำลงทุ่งบางระกำ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่ 15 มี.ค.นี้

คิกออฟ 'บางระกำ โมเดล' เตรียมปล่อยน้ำลงทุ่งบางระกำ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่ 15 มี.ค.นี้

กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน คิกออฟ 'บางระกำ โมเดล' เตรียมปล่อยน้ำลงทุ่งบางระกำ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่ 15 มี.ค.นี้ ช่วยลดพื้นที่นาข้าวเสียหายจากน้ำหลาก เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการประมงภายหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ และบรรเทาอุทกภัยในเขตพิษณุโลกและสุโขทัย ตอบโจทย์เกษตรกรผู้ทำนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 

วันที่ 14 มี.ค. 65 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการรับน้ำเข้าระบบส่งน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก ณ บริเวณท่อระบายน้ำคลองแยงมุม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกรในพื้นที่ บูรณาการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำตามโครงการบางระกำโมเดล ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ที่ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ


  
โครงการบางระกำโมเดล เป็นการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตชลประทานที่อยู่ระหว่างแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน ที่เกิดผลกระทบจากอุทกภัยช่วงฤดูน้ำหลากในทุกปี ครอบคลุมพื้นที่ 265,000 ไร่ โดยการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบประชารัฐ ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ปี 2565 โดยการเลื่อนเวลาการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำเร็วขึ้น ส่งน้ำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่โครงการ จากเดิมที่เริ่มในเดือนพฤษภาคม มาทำการเพาะปลูกเร็วขึ้นเริ่มเดือนเมษายน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร และสามารถใช้พื้นที่นาเก็บเกี่ยวผลผลิต และเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยม ลดผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ชุมชนเมืองของจังหวัดสุโขทัย ชะลอการระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้สูงสุด 400 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์ข้าว และการทำอาชีพประมง การแปรรูปผลผลิตจากปลา ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมในช่วงที่รับน้ำเข้าทุ่งได้อีกด้วย

คิกออฟ \'บางระกำ โมเดล\' เตรียมปล่อยน้ำลงทุ่งบางระกำ 2.65 แสนไร่ ตั้งแต่ 15 มี.ค.นี้

 

สำหรับการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ในปี 2565 นี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จะเริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ให้ทุ่งบางระกำพื้นที่ 265,000 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมือง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย รวม 21 ตำบล 97 หมู่บ้าน อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ จะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ขยายผลสู่พื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างต่อไปด้วย 

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีประสบภัย และโครงการสร้างอาชีพเสริมในช่วงฤดูน้ำหลากให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ โดยการบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้งในด้านประมงและปศุสัตว์ อาทิ การส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา การนำปลาและกุ้งมาปล่อย เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ ให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปจากผลผลิตจากข้าวและสัตว์น้ำ เป็นต้น  

“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานโดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความพึงพอใจและการตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่และเกษตรกรผู้ใช้น้ำ กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับผู้ใช้น้ำได้ทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยา และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย” ดร.เฉลิมชัย กล่าว