วัดท่าไม้ ไม่บวชให้ "ไฮโซปอ-โรเบิร์ต" ชี้เป็นบุคคลต้องห้าม

ผอ.สำนักงานพุทธศาสนา แจง "ไฮโซปอ-โรเบิร์ต" มีสิทธิ์บวชพราหมณ์ แต่บวชพระยังต้องห้าม ชี้ขอให้ทางกฎหมายให้จบก่อน ค่อยไปบวชทีหลังได้

ตามที่มีข่าวว่า "ไฮโซปอ-โรเบิร์ต" จะขอเข้าบวชที่วัดท่าไม้ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับ "แตงโม นิดา" นั้น

ผู้สื่อข่าวได้มีการประสานไปยังวัดท่าไม้ ก็ได้ทราบว่า ขณะนี้เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ คือ พระญาณวิกรม หรือ พระอาจารย์อุเทน สิริสาโร พระเกจิชื่อดังนั้น เดินทางไปทำธุระที่ต่างจังหวัดและจะกลับมาถึงวัดในช่วงกลางดึกของค่ำคืนนี้ (9 มี.ค.) อีกทั้งจากการเปิดเผยของบุคคลใกล้ชิดยังบอกด้วยว่า ทางพระอาจารย์อุเทน ไม่สะดวกจะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทุกแขนง แต่ทั้งนี้ขอให้ทุกท่านที่ประสงค์จะทราบคำตอบของการบวชตามข่าวนั้น เดินทางมาที่วัดท่าไม้ในวันที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. เพื่อจะได้ทราบว่า การบวชที่ว่านั้นจะเป็นแบบใด

ด้านนางหนึ่งฤทัย พูลลาภ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สมุทรสาคร ได้เปิดเผยว่า กรณีที่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับเรื่องการขอบวชของ "ไฮโซปอ-โรเบิร์ต" นั้น หลังจากที่ทราบเรื่องทางสำนักงานพระพุทธศาสนาก็ได้ไปประสานไปยังเลขา เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ซึ่งทางวัดก็ได้แจ้งมาว่า รับทราบในเรื่องของผู้ที่จะมาขอบวชจริง

แต่ในเรื่องของพิธีกรรมในเรื่องของการบวชนี้ ทางวัดก็ทราบแล้วว่าการบวชพระในกรณีนี้ ขัดกับกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2536 ในเรื่องของการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์หมวด 3 หน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ก็คือว่าในข้อ 14 ที่กำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้ ( 3 ) ที่บอกว่าผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งทางวัดทราบอยู่แล้ว

ส่วนกรณีของการบวชพราหมณ์ หรือการนุ่งขาวห่มขาวนั้น ก็เหมือนกับเป็นการถือศีลเสียงอย่างหนึ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในเรื่องของการบวชพระตามกฎหาเถรสมาคม เป็นเพียงเรื่องของการถือศีลเท่านั้น

ด้านพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับเรื่องของการบวชพระ เป็นอำนาจการตัดสินใจของพระอุปัชฌาย์ในเขตการปกครองของสงฆ์ตามที่วัดแต่ละแห่งสังกัดอยู่ โดยวัดท่าไม้ อยู่ในเขตการปกครองของเจ้าคณะตำบลบางยาง และมีเจ้าอาวาสวัดท่ากระบือ เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งเท่าที่ทราบมาคือ ท่านเจ้าอาวาสวัดท่ากระบือได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่สามารถบวชให้แก่บุคคลทั้งสองได้

ดังนั้นพระรูปอื่นจึงมิควรมีการให้ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องของการบวชพราหมณ์นั้น พึงกระทำได้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้เพราะไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติหรือข้อห้ามของการบวชพระสงฆ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบุคคลที่จะเข้ามาสู่การถือศีลกับทางวัดหรืออยู่ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ก็ควรที่จะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านพ้นการตัดสินทางกฎหมายจากทางโลกให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนจะเป็นการดีที่สุด

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับวัดท่าไม้ เป็นวัดที่มีการบวชพราหมณ์ และบวชชีพราหมณ์มานานแล้ว โดยแต่ละปีมีผู้มาบวชในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งภายหลังจากบวชแล้วบางคนก็จะรักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดท่าไม้ และบางคนก็จะเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์เครือข่ายวัดท่าไม้ ในจังหวัดราชบุรี