"โฆษกแรงงาน" แจงปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ "วันลาคลอด" คุ้มครองลูกจ้างหญิง

"โฆษกแรงงาน" แจงปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ "วันลาคลอด" คุ้มครองลูกจ้างหญิง

โฆษกกระทรวงแรงงาน แจง กระทรวงแรงงานเดินหน้าปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทน "วันลาคลอด" ให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองทั้ง 98 วัน โดยสำนักงานประกันสังคมและนายจ้างรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างคนละครึ่ง

เมื่อวันที่ 9 มี.ค.65 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า ตามที่คุณวรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในการเสวนาหัวข้อ ‘พ่อแก่ เเม่ป่วย ลูกเล็ก มองขาดปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี’ ซึ่งจัดโดย ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคตพรรคก้าวไกล (Think Forward Center) เนื่องในวันสตรีสากลเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาว่า

29 ปี ไม่มีอะไรเปลี่ยน "วันสตรีสากล" ร้องเพิ่มวันลาคลอดนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เกี่ยวกับสิทธิ "วันลาคลอด" แม้สิทธิการลาเพื่อคลอดบุตรจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน แต่ลูกจ้างยังมีความกังวลว่าจะได้รับค่าจ้างในส่วนวันลา 8 วัน หรือไม่ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อย่างไรนั้น กระทรวงแรงงาน เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ในเบื้องต้น ขอชี้แจงว่า สิทธิ "วันลาคลอด" ข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างลา แต่ไม่เกิน 45 วัน โดยลูกจ้างยังมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนจาก สำนักงานประกันสังคม อีก ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน จึงเห็นได้ว่า จำนวนวันลา 8 วัน ที่เพิ่มขึ้นนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง

นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นในเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน จึงได้ดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมเสนอปรับแก้ไขกฎหมาย เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง โดยจะปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน เป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 98 วัน ซึ่งจะมีผลให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในวันลาเพิ่มขึ้น จากสิทธิเดิม อีก 4 วัน

ในส่วนของค่าจ้างใน "วันลาคลอด" อีก 4 วัน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานประเมิลผลสัมฤทธิ์กฎหมาย เพื่อปรับแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง ต่อไป

ในส่วน อนุสัญญา ฉบับที่ 87 และ 98 อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. … ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะเข้า ครม.ในเดือนพฤษภาคม 2565 และสภาฯ ต่อไปหลังจาก ผ่านสภาฯ แล้ว จะนำไปสู่ขั้นตอนการรับรองอนุสัญญาฯ ต่อไป