"แม่แจ่ม" ครองแชมป์ฝุ่นพิษภาคเหนือ ห่วงช่วง เม.ย. เจอวิกฤติหมอกควันเพิ่ม

"แม่แจ่ม" ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง 117 มคก.ต่อลบ.ม. ติดอันดับ 1 ในภาคเหนือ เผยชาวบ้านเริ่มชิงเผาร้อยละ 50 จับตาช่วงเมษายน 2565 เกิดวิกฤติหมอกควันเพิ่มขึ้น

บรรยากาศในเมืองเชียงใหม่วันนี้(2 มีนาคม 2565) เริ่มมีหมอกควันเข้ามาปกคลุม มองเห็นภูเขาได้ไม่ชัดเจนเหมือนช่วงเวลาปกติที่ไม่มีหมอกควันปกคลุม โดยข้อมูลจากกรมควมคุมมลพิษพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 "ฝุ่นพิษ" เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่

 

 

โดยค่าคุณภาพอากาศเมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ 2 มีนาคม 2565 คุณภาพอากาศบริเวณ สถานีโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ วัดค่า PM 2.5 "ฝุ่นพิษ" ได้ 117 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ รองลงมาที่สถานี ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน วัดค่า PM2.5 ได้ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

สำหรับที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่สถานี ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่า PM2.5 ได้ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ , ที่สถานี ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ วัดค่า PM2.5 ได้ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

ที่สถานี ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ , ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศปานกลาง

 

 

นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะหญา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีค่า PM 2.5 สูงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการชิงเผา โดยไม่ได้ลงทะเบียนขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ โดยชาวบ้านเริ่มบริหารจัดการเชื้อเพลิงกันเองโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าชุมชน เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้ง เริ่มมีเชื้อเพลิงสะสมอยู่ประมาณร้อยละ 50 ชาวบ้านจึงรีบดำเนินการเผาใบไม้ในช่วงนี้ก่อน แต่เนื่องจากในพื้นที่ป่ายังมีความชื้นสูง ทำให้การเผาไม้ทำได้ช้าและเกิดควันเป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตามค่า PM 2.5 ในพื้นที่ "แม่แจ่ม" ที่สูงขึ้นเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากหลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งอย่างชัดเจน เชื่อว่าประมาณ กลางเดือนเมษายน 2565 จะเกิดหมอกควันเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีเชื้อเพลิงเหลืออยู่ในพื้นที่ป่าอีกร้อยละ 50

 

สำหรับพื้นที่รวมใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีอยู่ประมาณ 1.8 ล้านไร่ มีพื้นที่ใช้ประโยชน์อยู่เพียง 430,000 ไร่เท่านั้น ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักจะเกิดไฟป่าและเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดหมอกควัน แม้จะมีการจัดชุดลาดตระเวนเพื่อสอดส่องดูแล แต่กำลังคนที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับจำนวนพื้นที่ป่าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

 

จากเดิมที่ทางสถาบันอ้อผะหญา เคยร่วมผลักดัน "แม่แจ่มโมเดล" เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า เมื่อปี 2561 - 2562 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สามารถช่วยลดพื้นที่เผาไหม้ได้ แต่หลังจากนั้นไม่มีการสานต่อโครงการมาหลายปี ไม่มีการขยายพื้นที่สนับสนุนชาวบ้านให้ปลูกพืชอื่นที่ทำรายได้ทดแทนการปลูกข้าวโพด ไม่มีการเข้ามาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ได้เข้าร่วมในโครงการแม่แจ่มโมเดล ด้วยการปลูกกาแฟจำนวน 160 ไร่ และปลูกไผ่ 2,000 ไร่ ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเรื่องไฟป่าเข้ามาในพื้นที่ แต่ช่วงหลังไม่ได้รับการส่งเสริมต่อยอดเพิ่มเติม เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ และไม่มีการส่งเสริมเรื่องการตลาดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการแปรรูปไผ่ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ต่างงดสั่งสินค้าเข้าไปประดับตกแต่ง ทำให้ช่วงนี้กลุ่มผู้ปลูกไผ่ต้องแปรรูปไผ่เป็นโต๊ะ เก้าอี้ เพื่อจำหน่ายให้กับร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง เพื่อประคองตัวเองให้มีรายได้ไปก่อน

 

แม้ว่าในปีนี้ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มจะมีการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบกว่ามีการปลูกข้าวโพดประมาณ 120,000 ไร่ เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ปลูกอยู่ประมาณ 100,000 ไร่ แต่ข้าวโพดไม่ใช่จุดหลักที่ทำให้เกิดหมอกควันไฟป่า เนื่องจากชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาหลักจากเผาเศษซังข้าวโพด จึงใช้วิธีการถางไร่ก่อนทำการเผา บางจุดใช้วิธีการไถ่กลบเพื่อลดหมอกควัน ปัญหาหลักของการเกิดหมอกควันจึงเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ป่า ที่ไม่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างถูกวิธี

 

ข่าวโดย นิศานาถ กังวาลวงศ์ จ.เชียงใหม่