"วาเลนไทน์นี้" ฝึกใช้ภาษาI แทนภาษา you ดูแลความสัมพันธ์ให้ Healthy

"วาเลนไทน์นี้" ฝึกใช้ภาษาI แทนภาษา you ดูแลความสัมพันธ์ให้ Healthy

 “14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์” คงไม่ใช่เพียงวันเดียวที่แสดงความรัก เพราะเราสามารถแสดงความรักให้กันและกันได้ทุกวัน

ความรัก” เป็นปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนที่มาพร้อมกับการคาดหวัง เมื่อผิดหวังก็จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ต่อสภาพจิตใจ และหากรับมือกับความผิดหวังเหล่านั้นไม่ได้ ย่อมนำมาสู่การสูญเสียเช่นเดียวกัน

ข้อมูลผลการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปี 2562 จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า กลุ่มวัยรุ่น อายุ 11-19 ปี โทรเข้ามาขอรับบริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต ประมาณ 10,000 สาย ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 51.36 อันดับที่ 2 ปัญหาความรัก ร้อยละ 21.39 และอันดับที่ 3 ซึมเศร้า ร้อยละ 9.82

วันนี้ (10 ก.พ.2565) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนากับคนรุ่นใหม่ ความรัก&สุขภาพจิต เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรัก  

ดีเจพี่อ้อย  นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล พิธีกรรายการ Club friday และนักจัดรายการวิทยุ กล่าวว่าความรักเป็นจุดอ่อนของคนทุกช่วงเพศ ทุกวัย และต่อให้เรียนจบชั้นสูงๆ ก็จะประสบปัญหาความรักทั้งสิ้น ซึ่งปัญหาความรักเป็นเรื่องใจที่ใหญ่ที่สุดสำหรับทุกคน ทุกคนอาจทำงานมีปัญหาที่ทำงานแต่หากความสัมพันธ์ ความรักดียังสามารถทำงานได้ แต่หากมีปัญหาความรัก ต่อให้มีงานทำมีสิ่งดีๆ เรื่องเกิดขึ้น แต่เราก็ยังผิดหวังอยู่

 

 

  • “ความรัก”ปัญหาเรื่องใจที่เกิดขึ้นกับทุกคน

“ความรักในวาเลนไทน์ ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องแฟนเท่านั้น แต่หมายถึงความรัก ทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ทั้งครอบครัว เพื่อน ความรักกับสุขภาพจิตเป็นเรื่องเดียวกัน ความรักเป็นความสัมพันธ์ที่หลายคนมองว่าทำให้โลกเป็นสีชมพู มองไปทางไหนก็ดีไปหมด แต่จริงๆแล้วความรักทำให้เราเลือกมองแต่สิ่งที่เราอยากมอง และเวลาเรามองปัญหาความรักของคนอื่นเราฉลาด ตอบได้หมด แต่อาจจะอนาถเมื่อเรื่องตัวเอง คนโสดตอบปัญหาความรักได้ดีมาก เพราะมองทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล” ดีเจพี่อ้อย กล่าว

ดีเจพี่อ้อย กล่าวต่อว่าเมื่อมีความรัก มีความสัมพันธ์ อยากให้ทุกคนวิเคราะห์ความรักของตนเอง อยากให้สำรวจตัวเองนอกเหนือจากสำรวจคนรัก และอย่าคาดหวังจากคนอื่นมากเกินไป เพราะเมื่อทุกคนมีความรัก ความสัมพันธ์ ความคาดหวังจะตามมา ซึ่งคนเราคาดหวังได้แต่เราก็ต้องยอมรับความผิดหวังให้ได้ด้วย ถ้าความคาดหวังเดินหน้าไปพร้อม กับการเตรียมตัวในการรับความผิดหวังร่วมด้วย อย่างน้อยความคาดหวังจะได้ไม่เตลิด

เด็กวัยรุ่นมักมองว่าถ้าเราชอบเขา เขาต้องชอบเรา และเราจะได้ยินประโยคหนึ่งบ่อยมาก ว่าหนูทำดีกับเขามากทำไมเขาไม่เห็นคุณค่า ซึ่งการทำดีเขาก็เห็นคุณค่าแต่เขาไม่ได้จำเป็นต้องรัก  ความคาดหวังติดตัวทุกคน  วันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น ทุกคนมีความคาดหวังที่สูง และทุกคนมองว่าโลกหมุนรอบตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องหยุดความคาดหวังแต่แต่ต้องเพิ่มโหมดที่จะผิดหวังดีเจ้พี่อ้อย กล่าว

 

 

 

 

  • ผิดหวังในรัก จบความสัมพันธ์รับมืออย่างไร?

 เวลามีน้องๆ มาปรึกษาใน Club friday มักจะเข้ามาบอกว่าเมื่อรักใคร คนนั้นต้องรักเรา ซึ่งเมื่อไม่ได้รัยความรักตอบกลัย หลายคนจะเปิดเพลงเศร้า และใช้เวลาอยู่กับมันนานมาก ซึ่งตามหลักจิตวิทยา ทุกคนจะจำความเจ็บได้มากกว่าความสุข

ดีเจพี่อ้อย กล่าวต่อว่าความเจ็บอยู่กับทุกคนนานกว่าความสุข เพราะเมื่อเรามีความสุขเราจะใช้ชีวิตอย่างเพลินๆ แต่ถ้ามีความเจ็บเราจะบอกย้ำตัวเองว่า เราเจ็บ เราเจ็บ และบ่อยครั้งความเจ็บนั้นเกิดจากการที่เราทำตัวเองด้วย เช่น นั่งฟังเพลงเศร้า นั่งทำ MV เพลงจบภายใน 3 นาทีแต่เรากลับนั่งเศร้าต่อไปทั้งคืน ซึ่งเป็นวิธีการเยียวยาของแต่ละคน เพราะการฟังเพลงเศร้าอีกมุมหนึ่งเหมือนมีเพื่อนร่วมทุกข์ 

  • เพิ่มSkill คุยกับตนเอง เป็นคนชอบเล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม นอกจากทุกคนมีความหวัง และพร้อมรับความผิดหวังจากความรักแล้ว ดีเจ้พี่อ้อย กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนมี Skill คุยกันตนเองรู้เรื่อง และเป็นคนชอบเล่าให้ฟัง เชื่อเสมอว่าเรื่องเศร้าแค่เล่าก็เบาลง ถ้าเมื่อมีคนอยากฟังแต่เด็กเยาวชน หรือไม่มีใครเล่า ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน ทำไมถึงบอกว่าไปพบจิตแพทย์  ทำไมเราอยากคุยกับเพื่อน เพราะเราอยากหาคนฟัง

“Club friday เก่งสุดคือการเป็นคนฟัง และหลายๆ ครั้ง ที่น้องๆ ฟังเรื่องเล่าความรักจากคนที่โทรมา lub friday จะบอกให้พี่อ้อยหยุดฟัง เพราะรู้สึกว่าคนเล่าทำไมเขาสับสน อยากให้น้องมองวันที่ตัวเองอ่อนแอ ถ้าอ่อนแอแล้วมีสติไม่จำเป็นต้องโทรมา Club friday ทุกวันนี้อยากให้แต่ละคน ถามตัวเอง คุยกันตัวเอง อุปกรณ์สื่อสารอยู่ข้างตัวจนเรากลัวที่จะคุยกับผู้อื่น” ดีเจพี่อ้อย กล่าว

 หลายคนเหงาแล้วรู้สึกว่าต้องคุยกับใครสักคน อยากให้ทุกคนเก็บความเหงาไว้คุยกับตัวเอง เพื่อถามตัวเองว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร วันนี้การคุยกับตัวเองของใครหลายๆ คน หายไปมาก เพราะทุกคนคุยกับคนอื่นๆ ทุกคนเข้าไปคอมเมนต์ บลูลี่คนอื่น แต่รู้เรื่องตัวเองน้อยมาก เนื่องจากไม่คุยและไม่ถามตัวเอง เมื่อเราถามและคุยกันตัวเอง เราจะได้เรียบเรียงเพื่อไปคุยกับใครสักคน

  • วาเลนไทน์นี้ อย่าโยกความสุขไปผูกขาใคร

 Club friday ไม่ใช่คำตอบเพียงแต่ต้องการคำปลอบ ทุกคนรู้หมดว่าแก้ปัญหาความรักส่วนหนึ่งต้องทำใจ เราต้องฝึกยอมรับกับการผิดหวัง และขอให้เอ๊ะสักครั้ง คุยกับตัวเอง และรับฟัง

เวลาเครียดจากความรัก ต้องถามตัวเองว่าเครียดเพราะอะไร หาเหตุให้เจอ  และในวันวาเลนไทน์นี้ เชื่อว่าคนมีความรักอาจจะทุกข์มากกว่าคนโสด เพราะคนมีความรักจะคาดหวังต่างๆ จากแฟน จากคนอื่น แต่คนโสดไม่มีใครคาดหวัง ทุกคนไม่ทุกข์ ดังนั้น ความรักอย่าลดเอาความสุขไปผูกขาเขา เพราะเขาเดินไปทางไหนความสุขของเราจะหายไปด้วย อย่าโยกความสุขของเราไปอยู่กับใครดีเจ พี่อ้อย กล่าว

  • เด็กและวัยรุ่นปรึกษาสุขภาพจิตมากขึ้น

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าแนวโน้มสุขภาพจิตจากการสำรวจต่างๆ พบว่าสถิติมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนั้นไม่ใช่หมายถึงมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น แต่หมายถึงทุกคนเข้าสู่ระบบในการดูแลด้านสุขภาพจิตมากขึ้น ได้เข้าถึงปัญหา และการดูแลตัวเองให้ดีขึ้น

“เรื่องหลักของวัยรุ่น คือ ความรัก หรือความสัมพันธ์ ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นแฟน เพื่อน พ่อแม่ หากมีปัญหาไม่เข้าใจกัน ล้วนเกิดปัญหาต่อสุขภาพจิต สุขภาพใจ  นอกจากความสัมพันธ์ และสิ่งเร้าข้างนอกที่มากระทบเรา เช่น  การสมัครสอบทีแคส  และเศรษฐกิจการเงิน  เป็นต้น โดยการแก้ปัญหาความสัมพันธ์นั้น สิ่งสำคัญในการแก้คือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความคาดหวังที่มีต่อผู้อื่น  ซึ่งโจทย์ทุกโจทย์สามารถแก้ได้ที่ใจเรา เรื่องนี้เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกคนสามารถทำได้หากลดความคาดหวัง” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

  • สร้างสัมพันธ์ Healthy ลดความคาดหวัง

ทั้งนี้ ทุกคนที่อยู่ในวิชาชีพสุขภาพจิต พยายามรับฟังและสร้างความเข้าใจ ซึ่งคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีโครงการ Hear to Heal  และมีศูนย์สุขภาวะทางจิตให้บริการคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไปผ่านทางออนไลน์ ผ่านทางเพจ Hear to Heal

ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อว่า ปัญหาในความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ทุกคนเจอ เมื่อเป็นปัญหาถือว่าเป็นโอกาส ซึ่งถ้าทุกคนรู้ตัว ถามตัวเองดีๆ ว่าความสัมพันธ์ที่ดี คือความเข้าใจตัวเองที่ชัดเจน ความสัมพันธ์เกิดกับตัวเรา ถ้าเราเข้าใจตัวเราชัด ถ้าทุกคนมีความตั้งใจว่าเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ จะมีความสัมพันธ์แบบ Healthy ทำให้ความรักเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่อยู่กับเรา  เพราะถ้าใครอยู่กับเราแล้วเขาสบายใจ เขาจะอยากอยู่กับเรา

“ความสัมพันธ์ Healthy มาจากคนที่ก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์โดยมีความพร้อม ทุกคนสามารถเลือกได้ด้วยตัวเราเองว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบไหน และเราต้องอยู่กับคนที่เห็นคุณค่าของเรา เราจะไม่เจอคนที่เห็นคุณค่าของเราหากเราไม่เห็นคุณค่าตัวเอง เราต้องดีของตัวเองก่อน”ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

  • ชวนทุกคนเข้มแข็งทางใจด้วยตัวเอง

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผอ.สถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทำอย่างไรให้เรามีความเข้มแข็งทางใจด้วยตัวเองได้ เพราะทุกคนมักทุกข์จากการคาดหวังจากคนอื่นๆ ซึ่งการจัดการตัวเองอาจเป็นเรื่องยาก กรมสุขภาพจิต ตั้งใจทำให้ทุกคนรู้จักตัวเอง มีความเข้มแข็ง การเข้าถึงการประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ วัดใจ.com พอเข้าไป ไม่ต้องระบุตัวตน เพื่อเช็คว่าตัวเองเป็นอย่างไร เมื่อวัดใจเสร็จแล้วจะมีการอธิบายว่าจะทำอย่างไร จะมีการระบุว่าอยากให้มีคนโทรศัพท์ไปคุยด้วยหรือไม่ โดยจะมีคนในกรมสุขภาพจิตเข้าไปคุยด้วย

นอกจากนั้น คนที่อยากคุย ปรึกษา มีแชทบ็อต @ksuikam และมีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สามารถโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง  สิ่งที่เราพยายามทำ คือเพื่อให้ทุกคนรู้สถานะใจตัวเอง และจะแก้ปัญหาอย่างไร

“เยาวชนช่วงที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาใหญ่สุดช่วงปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องเรียนออนไลน์ และเศรษฐกิจ และปีนี้เรียนจบแล้วจะมีงานทำหรือไม่ และเรื่องความสัมพันธ์ ในครอบครัว เพื่อน และแฟน  ส่วนอัตราการฆ่าตัวตาย สาเหตุอันดับ 1 มาจากเรื่องความสัมพันธ์  ซึ่งเมื่อความสัมพันธ์ไม่ดีจะเป็นเส้นสุดท้ายที่จะไม่อยู่บนโลกใบนี้” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว

ดังนั้น ความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องที่ทำให้มีความสุข และความทุกข์ที่สุด ซึ่งความสัมพันธ์ ไม่ใช่ความรัก เพียงอย่างเดียว ความรักไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แต่ความรักเป็นพื้นฐานให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  ปัญหาที่เกิดจากการสื่อออกไปไม่ให้รู้ว่านี่คือความรักและความหวังดี ไม่ใช่มีเพียงความคาดหวังว่าคนๆ หนึ่งต้องทำอย่างไรกับเรา

  • ฝึกใช้ภาษา I มากกว่า ภาษา You

กระบวนการรักษาทางสุขภาพจิต  จิตแพทย์ต่างกับนักจิตวิทยา โดยจิตแพทย์ เป็นหมอเฉพาะทางเหมือนหมอเด็ก หมอกระดูก ซึ่งจะทำงานต่างกับนักจิตวิทยา คือ จิตแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคว่าป่วยหรือไม่ป่วย และจะรักษาอย่างไร จ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้ แต่ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา ที่จะช่วยจิตแพทย์ในการพูดคุยเชิงลึก ช่วยในการบำบัด  

“ไม่ต้องรอป่วยทั้งกายและใจ อยากให้ทุกคนรู้ตัวเอง ซึ่งสำหรับคำแนะนำในการปฎิบัติตัวเมื่อมีความรักและรักษาความรักให้ยั่งยืน โดยขอเน้นเรื่องการสื่อสารอย่างเหมาะสม  อย่าพูดความผิดหวังบวกกับคำตำหนิ  และอย่าคาดหวังว่าเขาจะรู้ แต่ควรบอกความต้องการของตนเองอย่างตรงไปตรงมา และอย่าลืมชมกันบ้าง  อยากให้ทุกคนลองฝึกใช้ภาษาI มากกว่าภาษา Youพญ.วิมลรัตน์ กล่าว