"หมูแพง" และฟาร์มสุกร ทำความเข้าใจ "เกษตรพันธสัญญา" คืออะไร

"หมูแพง" และฟาร์มสุกร ทำความเข้าใจ "เกษตรพันธสัญญา" คืออะไร

จับประเด็นร้อน "หมูแพง" และฟาร์มสุกร ทำความเข้าใจ "เกษตรพันธสัญญา" คืออะไร

ท่ามกลางประเด็นร้อน "หมูแพง" และกรณีฟาร์มหมูแห่งหนึ่งพื้นที่จังหวัดระยอง ออกมาเปิดเผยว่า มีหมูนับพันตัวยังต้องรอขาย และขายเพียงกิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งติดสัญญากับบริษัทเอกชน ที่เรียกกันว่า เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง จนกลายเป็นเรื่องดราม่า 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจ "เกษตรพันธสัญญา" หรือ "คอนแทรคฟาร์มมิ่ง" เกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา ประเภท “ประกันราคา” ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ลำดับที่ 3 ในด้านอุตสาหกรรมหมู  

จริงๆแล้วระบบนี้คืออะไร??

คอนแทรคฟาร์มมิ่ง หมายถึง ระบบการผลิตและส่งมอบผลผลิตทางการเกษตรภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้า ระหว่างเกษตรกรกับบริษัทผู้ประกอบการ มีการกำหนดคุณภาพ ปริมาณ ราคา และรายได้จากคุณภาพของผลผลิตตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นระบบที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคปศุสัตว์สัตว์และพืช อาทิ สุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด อ้อย ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวบาร์เลย์ สับปะรด ฯลฯ เพื่อให้การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเป็นธรรม เกษตรกรมีรายได้แน่นอน โดยมีบริษัทเอกชนที่มีความรู้และความชำนาญด้านการผลิต มีเทคโนโลยี และเชี่ยวชาญด้านการตลาด เข้ามาบริหารงานและรับความเสี่ยงแทนเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน

          รูปแบบของการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ที่เป็นรู้จักโดยทั่วไปมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  • แบบประกันรายได้ : เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน ส่วนบริษัทจะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ ในการเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดให้ พร้อมเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างแทน ไม่ว่าจะเป็นกรณีสัตว์เกิดความเสียหายจากการป่วยตาย หรือภัยพิบัติ และบริษัทยังรับความเสี่ยงต่อสภาวะ ตลาดและราคาสินค้าที่ผันผวนด้วย กล่าวง่ายๆก็คือการที่ บริษัทนำทรัพย์สมบัติของบริษัท ทั้งตัวสัตว์ อาหารสัตว์ วัคซีน ต่างๆ ไปฝากให้เกษตรกรช่วยเลี้ยงที่บ้าน (หรือโรงเรือน) ของเกษตรกร เมื่อสัตว์เติบโตตามที่ตกลงกัน บริษัทก็มารับทรัพย์สินดังกล่าวกลับไป และให้ค่าฝากเลี้ยงตอบแทนแก่เกษตรกร
  • แบบประกันราคา : เหมาะสำหรับเกษตรกร รายกลางหรือเกษตรกรรายใหญ่ ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น โดยซื้อวัตถุดิบและทำสัญญาเรื่องการรับซื้อ ผลผลิตกับบริษัทในราคาตามที่ตกลงกันไว้ ระบบนี้เกษตรกรจึงไม่ต้องการเสี่ยงหรือกังวลเรื่องการหาตลาดและเรื่องราคาผลผลิตที่ผันผวน

รูปแบบประกันราคาคือรูปแบบบที่เกษตรกรเลี้ยงหมูในจังหวัดระยองทำสัญญาอยู่ กล่าวคือ ตัวสัตว์และอาหารรวมถึงโรงเรือนเป็นทรัพย์สินของเกษตรกร โดยทำสัญญาตกลงซื้อขายในราคา 60 บาท/กก. ไว้กับบริษัท  ดังนั้น ในตอนที่ราคาหมูตกต่ำไปที่ 50 บาท/กก. เกษตรกรก็ยังคงขายได้ที่ 60 บาท/กก. วันใดที่ราคาตลาดขึ้นเป็น 90 ก็ยังคงต้องเป็นไปตามสัญญาเช่นกัน 

ในอดีตมีประเด็นที่เกษตรกรไม่ซื่อสัตย์กับผู้ประกอบการ ลักลอบนำทรัพย์สินของบริษัทไปขายบ้าง มีประเด็นที่ผู้ประกอบการบางรายเอาเปรียบเกษตรกรบ้าง แต่ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 เข้ามาช่วยกำกับดูแลความเป็นธรรมให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้แทบจะไม่เห็นข้อพิพาทระหว่างกันดังเช่นที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรรายใหญ่ของประเทศยังทำ “ประกันภัยทรัพย์สิน” และ “ประกันภัยสต๊อกสิ่งมีชีวิต” ให้กับเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มรายย่อยในรูปแบบประกันรายได้ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียจากภัยธรรมชาติของเกษตรกรด้วย

ข้อสังเกตว่า ทำไมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จึงสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากโรคระบาดสุกรที่กำลังเกิดขึ้น นี่คือข้อดีอีกข้อของการที่มีบริษัท นำเทคนิควิธีการและระบบมาตรฐานในการป้องกันโรค ตลอดจนสัตวบาลและสัตวแพทย์ ช่วยกันถ่ายทอดความรู้และดูแลการเลี้ยง จึงช่วยให้หมูที่เกษตรกรกลุ่มนี้เลี้ยงมีความปลอดภัยสามารถป้อนผลผลิตหมูสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

คอนแทรคฟาร์มมิ่งจึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีของเกษตรกรในยุคที่ต้องใช้ “เทคโนโลยี” ในการผลิตอาหารให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ระบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดมาแล้วกว่า 100 ปี และมีพัฒนาการเรื่อยมา