"หมูแพง" กระทบ "ลูกชิ้นยืนกิน" ต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น แต่ขายราคาเดิม

"ลูกชิ้นยืนกิน" หนึ่งเดียวในโลกที่บุรีรัมย์ เจอพิษหมูแพงกระหน่ำต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่คุณภาพ ปริมาณ และราคาเท่าเดิม อยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพง ช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ที่ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.65 จากกรณีราคาหมูแพงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 140-150 บาท ปัจจุบันราคาพุ่งขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท บางจังหวัดพุ่งสูงถึง 250 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร และลูกชิ้นหมูขาย ล่าสุดพ่อค้า แม่ค้าขาย “ลูกชิ้นยืนกิน” ทั้งที่บริเวณด้านหลังสถานีรถไฟ และตามจุดต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ที่มีเอกลักษณ์การกินที่ไม่เหมือนใคร และมีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยหรือแห่งเดียวในโลก โดยลูกชิ้นทอดซึ่งเน้นเป็นลูกชิ้นหมูนั้นมีความนุ่มอร่อย ที่สำคัญ น้ำจิ้มเป็นสูตรเฉพาะทำจากน้ำมะขามเปียก พร้อมมีกลิ่นหอมของพริกทอด ทำให้รสชาติเป็นที่ถูกปากของลูกค้า ต่างก็ได้รับผลกระทบจากราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และวัตถุดิบอื่นๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาต้องแบกรับภาระต้นทุน โดยไม่ปรับขึ้นราคาขายและไม่ลดปริมาณ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ทั้งนี้อยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ที่ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด

นายเกรียงไกร ทองยัง พ่อค้าขายลูกชิ้นหมู “เกรียงไกร” บอกว่า ราคาหมูแพงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบในการทำลูกชิ้นหมูขาย ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพ ปริมาณ และราคาขายยังเท่าเดิม ไม่มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด ซึ่งก็ยังคงมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงอยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพงเพื่อช่วยเหลือประชาชน

สำหรับลูกชิ้นหมู “เกรียงไกร” (ลูกชิ้นหมูทำเอง) จะเปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. บริเวณถนนศรีเพชร 2 (หน้าโรงรับจำนำเก่า) ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เสาร์-อาทิตย์ จะขายที่ถนนคนเดินเซราะกราว ไม้ละ 5 บาท หากซื้อเป็นชุด ลูกชิ้นชุดเล็ก 50 บาท ชุดใหญ่ 100 บาท ส่วนน้ำจิ้ม เป็นขวด กับถุงเล็ก 20 บาท ถุงใหญ่ 50 บาท ซึ่งทำให้พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว และญาติพี่น้อง

ขณะที่แม่ค้าที่จำหน่ายลูกชิ้นยืนกิน บริเวณสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาหมูที่แพงขึ้นได้ส่งผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่กระทบมากสักเท่าไหร่ ถือว่ายังสามารถประคับประคองไปได้ และก็จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ทั้งในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ หรือราคาจำหน่ายแต่อย่างใด โดยจะยังขายในราคาเดิม คือ ไม้ละ 3 บาท 7 ไม้ 20 บาท ถึงแม้จะได้กำไรน้อยก็ตาม

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์