“อาคม”ชี้บริโภคในประเทศดันจีดีพีปี65ขยายตัว4%

“อาคม”ชี้บริโภคในประเทศดันจีดีพีปี65ขยายตัว4%

“อาคม”เชื่อโอมิครอนกระทบเศรษฐกิจไทยไม่มาก ชี้กำลังซื้อในประเทศดันจีดีพีปี 65 จะโตได้ 4% โดยรัฐบาลพร้อมเดินหน้านโยบายดูแลเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน เพื่อไม่ให้กำลังซื้อในประเทศทรุด ด้าน”ออมสิน”ดันสินเชื่อ 5 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 3.99% นาน 5 ปี เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในปี 2565 กระทรวงการคลังยังยืนยันคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 4% แม้หลายฝ่ายจะมีความเป็นห่วงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจก็ตาม เนื่องจาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ระหว่างการฟื้นตัว

เขากล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมการบริโภคของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการทางการคลังที่เข้าไปกระตุ้นกำลังซื้อ ขณะที่ รัฐบาลยังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวและออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

“ในภาพรวมผลกระทบจากโอมิครอนอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยน้อยลง แต่การท่องเที่ยวในประเทศยังคงมีอยู่ โดยรัฐบาลจะพยายามรักษาโมเมนตั้มการใช้จ่ายในประเทศไม่ให้ทรุด”

เขาย้ำว่า มาตรการทางการคลังยังจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แต่การเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์โอมิครอนนั้น ยังต้องรอประเมินผลจากศบค.และกระทรวงสาธารณสุขว่ากระทบต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด โดยรัฐบาลยังคงเดินมาตรการดูแลเศรษฐกิจให้คู่ขนานไปกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

“เราคงไม่ใช้นโยบายปิดประเทศเหมือนกับประเทศขนาดใหญ่ เพราะเขามีกำลังซื้อในประเทศเป็นตัวที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเรายังเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก หากปิดประเทศจะเกิดต้นทุนที่สูง ดังนั้น การดำเนินนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจจะต้องทำแบบคู่ขนาน”

เขายอมรับว่า แม้กระทรวงการคลังจะเดินนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ในภาพรวมของกำลังซื้อในประเทศในปีนี้จะยังไม่เทียบเท่าปี 2562 เพราะแรงงานในภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่

“แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาคึกคักขึ้น แต่ในภาพรวมการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น กำลังซื้อในประเทศจึงยังไม่กลับมาเท่ากับปี 2562 ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4% อัตราการบริโภคก็น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันหรือในระดับ 3-4%”

เขายังกล่าวด้วยว่า หนึ่งในแนวทางของการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ คือ การรักษาระดับการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยรักษาเศรษฐกิจระดับรากหญ้าให้ฟื้นตัว ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการเข้าไปสนับสนุน โดยธนาคารออมสินก็ได้เดินมาตรการสินเชื่อเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งขณะนี้ มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 6 หมื่นรายแล้ว

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า ธนาคารตั้งวงเงินสำหรับโครงการออมสินสร้างงานสร้างอาชีพไว้จำนวน 5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% นานถึง 5 ปี โดยปลอดชำระใน 6 งวดแรก โดยโครงการนี้ รัฐบาลสนับสนุนกรณีเกิดปัญหาหนี้เสียในสัดส่วน 30% ของพอร์ตสินเชื่อ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินการภายใต้แนวคิด “4 ให้” ได้แก่ ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และให้พื้นที่ค้าขาย ซึ่งถือเป็นการมอบความช่วยเหลือที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อนจำนวนมาก ได้มีการปรับตัวและมองเห็นโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถใช้ความรู้ใหม่และทักษะทางอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทางเลือกและช่องทางต่อยอดในการประกอบอาชีพมากขึ้น โดยมีธนาคารออมสินและพันธมิตรคอยช่วยเหลือเคียงข้าง ให้สามารถยังชีพตนเองและดูแลครอบครัวต่อไปได้

ภายใต้แนวคิด “4 ให้” การให้ทักษะ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)  มหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่าย เชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ ตลอดจนเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากมาย ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตร

“การอบรมอาชีพที่ได้รับจะช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้ติดตัว สามารถใช้ประกอบอาชีพได้จริงต่อไป ให้เงินทุน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้น Kick Off การประกอบอาชีพ”

ในส่วนของการ ให้อุปกรณ์ และ ให้พื้นค้าขาย โดยร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ให้อุปกรณ์ มอบรถเข็น เต็นท์ ร่ม และพื้นที่ค้าขาย แก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 3,300 ร้านค้า

รวมถึง การให้ใช้พื้นที่ของสาขาธนาคารออมสิน สำนักงานภาค หรือ สำนักงานเขต จัดเป็นตลาดนัดออมสิน เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการรายย่อย ตั้งแผงค้าขายสินค้าได้ และสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า/ร้านค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการตลาดนัดออนไลน์ ช่องทาง คือ เพจเฟสบุ๊ค ตลาดนัดออมสิน เป็นต้น