“สุพัฒนพงษ์” เร่ง “อีอีซีไอ” หนุนนวัตกรรมโชว์เวทีเอเปก

“สุพัฒนพงษ์” เร่ง “อีอีซีไอ” หนุนนวัตกรรมโชว์เวทีเอเปก

กบอ.ลุยเปิดเขตนวัตกรรม ECCi ต้อนรับเอเปก พ.ย.ปีหน้า หวังดึงลงทุนอุตสาหกรรมขั้นสูงต่อเนื่อง โฟกัสศูนย์จีโนมิกส์ดันรักษาโรคแม่นยำ

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในปี 2565 โดยรัฐบาลจะชูแนวคิด BCG Economy เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2564 ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนี้ 

1. เตรียมเปิดเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อย่างเป็นทางการต้อนรับการประชุมผู้นำเอเปก โดย กบอ.รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนา EECi การดำเนินงานเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ได้ประสบผลสำเร็จต่อเนื่องทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม สนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาเกษตรสมัยใหม่ กลุ่มเอสเอ็มอีและความพร้อมพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ส่วนความคืบหน้าในการเตรียมการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของอีอีซีไอที่ได้เริ่มทยอยพัฒนาไปแล้วนั้น ได้แก่
 

- เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (Biopolis) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมการแปรรูปชีวมวล รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีมูลค่าต่ำไปสู่สารสกัดที่มีมูลค่าสูงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์ อุตสาหกรรมยา อาหารเสริมและเครื่องสำอางได้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในต้นปี พ.ศ. 2567 

- เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Aripolis) ซึ่งในปีนี้ได้เริ่มพัฒนาศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เพื่อสาธิตสายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 4.0 ให้เป็นสถานที่พัฒนา/ทดลองทดสอบความเข้ากันได้ของอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ก่อนนำไปใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนากำลังคน ให้คำปรึกษาแก่ภาคอุตสาหกรรม และบริการจับคู่ความต้องการเทคโนโลยีและผู้ให้บริการอีกด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปี พ.ศ. 2565

- เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (Space Innopolis) ได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาพื้นที่ทดลองและทดสอบอากาศยานไร้นักบิน (UAV Sandbox) ขึ้นในวังจันทร์วัลเลย์ และอยู่ในระหว่างพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อดึงดูดให้นำงานวิจัยมาทดสอบที่พื้นที่ทดลอง (Sandbox) นี้

- เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (Synchrotron Light Source) เครื่องที่สองของประเทศไทยซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่เปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ประโยชน์ในการวิจัยในระดับโมเลกุล ตอนนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบและคาดว่าจะเริ่มสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้ในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

“โดยภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ รวมทั้งการก่อสร้างกลุ่มอาคารโรงงานต้นแบบนวัตกรรมขั้นสูงต่างๆ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของ EECi ใกล้เสร็จสมบูรณ์" 

ทั้งนี้ คาดว่าเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.2565 เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะเป็นการประกาศความพร้อมสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่อีอีซี ตั้งเป้าดึงดูดการลงทุน 2.2 ล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า

โครงการ EECi เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัย การทดสอบการสาธิตเทคโนโลยี การประเมินความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเชิงเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศมาสู่การใช้ประโยชน์จริงใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1. นวัตกรรมการเกษตร 2. ไบโอรีไฟเนอรี 3. แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ 4. ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5. เทคโนโลยีการบินและอากาศยานไร้นักบิน และ 6. เครื่องมือแพทย์ บนพื้นที่กว่า 3,454 ไร่ ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง

2. ศูนย์จีโนมิกส์เสริมแกร่งยกระดับสาธารณสุข ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่อีอีซี สู่การจัดการให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขแบบถ้วนหน้า และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง

โดยปัจจุบัน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สกพอ.ได้ลงนามในสัญญาจ้างและสัญญาเช่าที่บริการถอดรหัสพันธุกรรมกับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในอีอีซีเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการไม่ป่วยหนัก และมีสุขภาพดีทั่วหน้าต่อไปในอนาคต