‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.61 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.61 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้แนวโน้มเงินบาทยังผันผวนและไม่อ่อนค่าไปมาก จากความกังวลโอมิครอนยังเป็นไปตามที่กนง.และนักลงทุนต่างชาติคาดไว้ จับตาผลประชุมกนง.ในวันนี้คาดมองบวกจะชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.71 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน แต่เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เพราะถึงจะมีความกังวลการระบาดของโอมิครอนในประเทศแต่ภาพดังกล่าวก็ได้อยู่ในการประเมินเบื้องต้นของทั้ง กนง. และ นักลงทุนต่างชาติพอสมควร โดยเฉพาะในฝั่งนักลงทุนต่างชาติ ที่ยังไม่ได้เทขายบอนด์ระยะสั้นอย่างรุนแรง สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้คาดหวังว่า สถานการณ์การระบาดจะเลวร้ายมาก จนเงินบาทอ่อนค่าจากระดับปัจจุบันไปมาก 

 

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของ กนง. ในวันนี้ต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจใหม่จะมีส่วนที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ หาก กนง. มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลง ก็อาจเผชิญแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ก่อน แต่สัญญาณในเชิงเทคนิคัลยังคงสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในระยะสั้น ทำให้เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่ารุนแรง หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยอย่างหนัก ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเรามองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะหนุนให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ทั้งนี้ กนง. อาจมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น แต่อาจจะเน้นย้ำว่าการเติบโตเศรษฐกิจคือปัจจัยสำคัญที่มีน้ำหนักต่อนโยบายการเงินมากกว่าเงินเฟ้อ 

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งผู้เล่นที่ต่างรอจังหวะการปรับฐานของสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อเพิ่มสถานะถือครอง (Buy on Dip) หนุนให้ราคาหุ้นโดยรวมต่างรีบาวด์ขึ้น หลังจากที่ย่อตัวลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ นำโดยหุ้นในกลุ่มเทคฯ ส่งผลให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Nasdaq ปิดตลาด +2.40% และดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้น +1.78% 

เช่นเดียวกันกับฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้นราว +1.65% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯและ หุ้นกลุ่ม Cyclical/Reopening theme เช่นกัน ASML +3.6%, Adyen +2.4%, Santander +2.1%

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นที่เริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและเชื่อว่า เฟดจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพิ่มเติมทำให้บอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1.46% ซึ่งในระยะยาวเราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ซึ่งล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทรงตัวใกล้ระดับ 96.49 จุด อนึ่ง แนวโน้มเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัว sideways แต่บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้น ก็กดดันให้ ราคาทองคำ ย่อตัวลง ใกล้ระดับ 1,785 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเราคงมองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด รวมถึง ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อแรงได้ยาก (อาจพอลุ้นการรีบาวด์ได้บ้าง) และ Upsides ของราคาทองคำเริ่มจำกัด