คลังเปิดแพ็คเกจหนุนใช้รถอีวีในประเทศ

คลังเปิดแพ็คเกจหนุนใช้รถอีวีในประเทศ

“อาคม”เผย รัฐบาลเตรียมประกาศมาตรการหนุนการใช้รถอีวีในประเทศ โดยคลังพร้อมลดภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรในอัตราต่ำสุด แถมอัดเงินอุดหนุนผู้ซื้อผ่านกองทุนพัฒนาขีดแข่งขัน และ ลดค่าไฟสำหรับการชาร์ตแบตเตอรี่ กำหนดระยะเวลามาตรการ 5 ปี และให้เวลาผู้ผลิตปรับตัว 10 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่มีนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเตรียมประกาศมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศ เพื่อให้มีผลตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป

ทั้งนี้ มาตรการที่จะสนับสนุนนั้น จะเป็นมาตรการที่จะสนับสนุนทั้งซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การผลิตรถยนต์ภายในประเทศ การสนับสนุนการใช้รถยนต์ และการผลิตชิ้นส่วนโดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่มีส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึง การสนับสนุนการสร้างจุดCharging Stationโดยจะให้ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ

 

ภายใต้มาตรการดังกล่าวนั้น รัฐบาลจะให้ระยะเวลาภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถยนต์สันดาปภายในไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากปีหน้า

ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนั้น กระทรวงการคลัง จะมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากรหรือภาษีนำเข้าให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดทั้งรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ขณะเดียวกัน ยังจะให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์แบบFull EVโดยมาตรการภาษีและการอุดหนุนที่เป็นตัวเงินก็เพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาต่ำลงนั้น จะเป็นโครงการระยะเวลา 5 ปีแรกนับจากปีหน้า เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

 

ทั้งนี้ เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าต่ำลงมานั้น จะมาจากเงินกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ ที่รัฐบาลได้ใส่เงินในกองทุนนี้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เงินจากกองทุนนี้ไปน้อยมาก

การนำเงินจากกองทุนนี้ไปอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้านั้น ถือว่า สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ เนื่องจาก เป็นการช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์สันดาปภายใน ไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแนวโน้มของโลก อีกทั้ง จะเป็นการช่วยลดมลภาวะในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ สภาพัฒน์ กำลังอยู่ในระหว่างการหารือในรายละเอียดของการใช้จ่ายเงินจากกองทุนนี้”

ทั้งนี้ ในระยะแรกของการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศนั้น จำเป็นต้องมาจากการนำเข้า แต่ระยะต่อไปจะต้องสนับสนุนให้เกิดการผลิตภายในประเทศ ดังนั้น ค่ายรถยนต์ใดที่ต้องการรับมาตรการสนับสนุนทางภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จะต้องมีเงื่อนไขว่า จะต้องปรับลดราคารถยนต์ลงมา

นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์จะต้องมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ ภายใน 3 ปี และจะต้องเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ไม่ใช่เป็นการผลิตเพื่อขายภายในประเทศเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคนี้ต่อไป

นอกจากเรื่องมาตรการภาษีและเงินสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว รัฐบาลอาจจะพิจารณาสนับสนุนในเรื่องอัตราค่ากระแสไฟฟ้าที่รถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ในการชาร์ตแบตเตอรี่ด้วย

สำหรับระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน 10 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศมีเวลาปรับตัวดังกล่าวนั้น เขากล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนการใช้รถยนต์ทั้งหมดให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี เนื่องจาก ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปภายใน ถึง 40 ล้านคัน โดยเป็นรถยนต์ราว 20 ล้านคัน และอีก 20 ล้านคัน เป็นรถมอเตอร์ไซด์ ซึ่งการมีมาตรการสนับสนุนและให้มีระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน 10 ปี ก็เพื่อให้เรายังสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ได้ต่อไป

เขากล่าวว่า ขณะนี้ มีค่ายรถยนต์จากหลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เช่น ค่ายรถยนต์จากสหรัฐ ค่ายรถยนต์MG เป็นต้น

ส่วนค่ายรถยนต์โตโยต้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศรายใหญ่ของไทยนั้น ยังกังวลในเรื่องฐานการผลิตรถกระบะ ซึ่งถือเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนของไทย ที่อาจมีปัญหาในเรื่องการปรับมาใช้ไฟฟ้า เนื่องจาก เป็นรถยนต์ที่ต้องใช้บรรทุกของหนัก

อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า ในอนาคตค่ายรถยนต์จะสามารถพัฒนาการผลิตรถกระบะไฟฟ้าได้ เนื่องจาก ปัจจุบันก็มีค่ายรถยนต์บางแห่ง สามารถผลิตรถตู้ขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกได้ถึง 20 ที่นั่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว