ครม.เคาะเป้าเงินเฟ้อปี 65 อยู่ที่ 1 - 3% ตามภาวะเศรษฐกิจช่วงฟื้นจากโควิด

ครม.เคาะเป้าเงินเฟ้อปี 65 อยู่ที่ 1 - 3% ตามภาวะเศรษฐกิจช่วงฟื้นจากโควิด

"อาคม" เผย ครม.เคาะกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 65 อยู่ที่ 1 - 3% เท่าปี 2564 เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 ธ.ค.) เห็นชอบเป้าหมายนโยบายการเงินปี 2565 (เงินเฟ้อทั่วไป) อยู่ที่ 1 - 3% 

โดยกรอบเงินเฟ้อดังกล่าวเท่ากับปี 2564 ที่ผ่านมาเนื่องจากเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง1-3% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กนง. ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2565 

สำหรับหลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นนั้นบริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้าเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกและไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าตามการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เผชิญข้อจำกัดมากขึ้นจากมาตรการควบคุมการระบาด รวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ

เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพในระบบการเงินของประเทศ รวมทั้งมีความยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขของการดำเนินนโยบายการเงินและความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศด้วย 

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง รายงานว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและไทยได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่มีความยืดเยื้อ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมาและในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยมีปัจจัยสำคัญคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงเป็นวงกว้างตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่รายได้และกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับต่ำจากตลาดแรงงานที่มีความเปราะบางตามการเพิ่มขึ้นของผู้ว่างงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง  

ขณะเดียวกันราคาสินค้าที่ปรับลดลงจากพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งจากการแข่งขันด้านราคาผ่านธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ และต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิตมากขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อไทยในอนาคตอาจจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้ง ความผันผวนของราคาพลังงาน และราคาอาหารสด ด้วย 

การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมายที่ยังมีความเหมาะสมภายใต้เศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าและในระยะปานกลางจะเคลื่อนไหวอยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมายและไม่ได้ปรับลง สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ

อีกทั้งการกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้าง 2% มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง