จับตา "เงินเฟ้อ" ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจโลก !

จับตา "เงินเฟ้อ" ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจโลก !

เมื่อ "เงินเฟ้อ" เป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ทั้งของไทย และโลก เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากโควิดได้ยากลำบากขึ้น ทั้งมีแนวโน้มดำรงอยู่ต่อไปอีกเป็นปี รัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือ

3 ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แถลงว่า เงินเฟ้อของไทยเดือน พ.ย. สูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. 2564 สูงขึ้น 2.71% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับสาเหตุของเงินเฟ้อ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า มาจากราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้น รวมไปถึงผลกระทบจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นหลังรัฐบาลเปิดประเทศ และผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ

เงินเฟ้อคืออะไร ส่งผลอย่างไร 

เงินเฟ้อคือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้า และบริการสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพ และความสามารถในการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้ด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้น้อยลง ดังนั้น ผู้ได้รับผลกระทบมากสุดเมื่อเกิดเงินเฟ้อ คือ ผู้ที่มีรายได้คงที่ มีเงินเดือนประจำที่แน่นอน เพราะรายได้ที่ได้มา ซื้อหาสินค้าได้น้อยลง รวมถึงผู้ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าที่ต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถคิดราคาขายสินค้าแพงขึ้นได้

ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปดูอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนเม.ย. 2564 ก็พบว่าเพิ่มขึ้นถึง 4.2% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มมากสุดในรอบ 8 ปี ดังนั้นจะเห็นว่าสถานการณ์เงินเฟ้อเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และมีแนวโน้มดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยต้องเตรียมรับมือการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ไม่ได้เกิดที่ไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก 

ล่าสุด 1 ธ.ค. 2564 OECD พึ่งออกมาเตือนว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ OECD คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปีนี้จะสูงเกือบ 5% และกว่าจะลดลงสู่ระดับ 3% คือ อีกสองปีข้างหน้าหรือปี 2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาเดือน ต.ค. 2564 ก็เพิ่มสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษ เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร ที่อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 2564 เพิ่มมากสุดในรอบ 10 ปี 

โดยเฉพาะเมื่อหันไปดูจีน ยิ่งน่าห่วง ..จีนในฐานะโรงงานของโลก มีดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มสูงสุดในรอบ 27 ปี การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจีน เสี่ยงส่งออกเงินเฟ้อไปทุกประเทศทั่วโลกผ่านสินค้าส่งออกอย่างเลี่ยงไม่ได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า เงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาต่อทุกประเทศจริงๆ

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกมีสาเหตุอย่างน้อย 3 ประการ

1.ราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำมันและเชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิตสินค้าทุกประเภท สัมพันธ์กับต้นทุนค่าขนส่ง เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น เงินเฟ้อจึงสูงขึ้นไปด้วย

2.ราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาหารคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของค่าครองชีพทุกครัวเรือน UN Food and Agriculture Organization (FAO) ระบุว่า ดัชนีราคาอาหารทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี นับแต่ ก.ค. 2011

3.การชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากการระบาดของโควิดใน 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การผลิตสินค้าทั่วโลกหยุดชะงัก เช่น หลายโรงงานถูกปิดจากมาตรการควบคุมโรค แรงงานมาทำงานไม่ได้จากมาตรการจำกัดการเดินทาง การผลิตหยุดชะงักจากแรงงานติดโควิด การขนส่งสินค้าไม่สามารถทำได้จากมาตรการปิดพรมแดนของหลายประเทศ ผลกระทบของโควิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การผลิตสินค้าในหลายประเทศหยุดชะงัก ขาดแคลนวัตถุดิบ นำมาซึ่งต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และราคาสินค้าแพงขึ้น

นอกจากนี้ การกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจตามปกติของหลายประเทศ หลังจากจำนวนการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมา กำลังซื้อเพิ่มขึ้น สวนทางกับอุปทานที่ชะงักงัน ผลักดันให้ราคาสินค้าแพงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจที่เสี่ยงได้ผลกระทบด้านลบจากเงินเฟ้อ คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนด้านพลังงาน อาหาร และพึ่งพาการขนส่งสูง อย่างธุรกิจขนส่ง ประมง ก่อสร้าง ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงแรงงานที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ที่เสี่ยงโดนผล กระทบ

ขณะที่ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์หรือปรับตัวได้ง่ายในสถานการณ์นี้ ได้แก่ กลุ่มที่รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตตามราคาน้ำมัน กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจส่งออกที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนค่า เช่น พลังงานทางเลือก ธุรกิจการเงิน รวมถึงผู้ผลิตสินค้าส่งออกต่างๆ เช่นเดียวกัน ที่แรงงานในธุรกิจกลุ่มนี้มีแนวโน้มได้ประโยชน์หรือโดนผลกระทบด้านลบไม่มาก

ธุรกิจแต่ละกลุ่มเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ต้องเตรียมรับมือ บริหารจัดการวัตถุดิบ ต้นทุน ราคาขายให้ดี เพื่อลดผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันในภาวะเงินเฟ้อ ที่ดอกเบี้ยทั่วโลกเสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น รวมถึงผู้ผลิตที่พึ่งพาวัตถุดิบจากการนำเข้าต้องเตรียมรับมือผลกระทบจากค่าเงินที่เสี่ยงผันผวนหรืออ่อนค่าลง

เงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ทั้งของไทยและโลก เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากโควิดได้ยากลำบากขึ้น ทั้งมีแนวโน้มดำรงอยู่ต่อไปอีกเป็นปี รัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือ

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์