“อดีตผู้ว่าฯ รฟท.” ตั้งคำถาม “คมนาคม” ปิดหัวลำโพง ใครได้ ใครเสียผลประโยชน์ ?

“อดีตผู้ว่าฯ รฟท.” ตั้งคำถาม “คมนาคม” ปิดหัวลำโพง ใครได้ ใครเสียผลประโยชน์ ?

หลังเป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีหลังคมนาคมมีท่าทีจ่อปิด “สถานีหัวลำโพง” ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าฯ รฟท. ฝากคำถามถึงคมนาคมว่า ใครที่จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์และผลกระทบ แล้วสถานีกลางบางซื่อมีความพร้อมแค่ไหน

จากกรณีที่คมนาคมและการรถไฟไทยยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะปิดสถานีหัวลำโพงหรือไม่ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟไทย ระบุว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เตรียมการให้พร้อมในเรื่องนี้ พอเห็นว่ามีคนคัดค้านก็ต้องทำเวทีประชาพิจารณ์

จากการสังเกตที่ผ่านมาตัวผู้ว่าฯ รฟท. ไม่เคยออกมาแถลงข่าวด้วยตัวเอง ใช้วิธีการแจกข่าวผ่านประชาสัมพันธ์ ถ้าไปดูจริง ๆ ทุกฉบับมีข้อความขัดแย้งกันในตัว

ส่วนตัว ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ดินของ รฟท. มีเยอะอยู่แล้วทำไมต้องมาเอาของหัวลำโพง พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า บนถนนพระรามสี่มีห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์อยู่มากพอแล้ว ทำไมถึงต้องทำให้หัวลำโพงกลายเป็นมิกซ์ยูสเพิ่มขึ้นมาอีกที่หนึ่ง

และถ้าหากเป็นประเทศอื่นเขาจะอนุรักษ์สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศเอาไว้ แต่ประเทศไทยกลับจะสร้างมิกซ์ยูสขึ้นมาแทนที่หัวลำโพงและเหลือเพียงด้านหน้าของหัวลำโพงเอาไว้เป็นทางเข้าออกจึงอยากถามผู้เกี่ยวข้องว่า

“มองเห็นคุณค่าของหัวลำโพงเป็นเพียงประตูทางเข้าออกเท่านั้นหรือ จึงเป็นคำถามว่าทำไมจึงต้องเป็นสถานีหัวลำโพงที่จะนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งที่สถานีอื่นก็มี”

ในส่วนของการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดที่ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในการปิดสถานีหัวลำโพงนั้นมองว่า ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเพราะปัญหารถติดมีมานานแล้วและที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยหยิบยกปัญหานี้มาพูดถึงแต่กลับนำมาพูดเมื่อมีประเด็นปิดหัวลำโพง ที่สำคัญรถไฟไม่ได้เพิ่งมีแต่มีมานานก่อนถนนทุกเส้น ถ้าให้พูดตามหลักวิชาการไม่มีประเทศไหนที่ตัดถนนตัดกับรางรถไฟในทางระดับเดียวกัน แม้จะอ้างว่าเป็นการประหยัดเงินแต่สุดท้ายแล้วปัญหาก็มาตกที่การจราจร

“ผมอยากถามว่าใครเกิดก่อนใครระหว่างถนนกับรถไฟ เพราะรถไฟไม่ได้เพิ่งเข้ามา แต่เข้ามานานแล้ว” นายประภัสร์กล่าว

สำหรับสถานีกลางบางซื่อส่วนตัวมองว่า สถานียังไม่มีความพร้อมเพราะรถไฟไม่ว่าจะวิ่งมาจากสายไหนก็จะสิ้นสุดแค่ที่บางซื่อ จึงอยากถามต่อว่า

“จะให้พี่น้องประชาชนเดินทางอย่างไรในการต่อรถไฟดีเซลราง เขาต้องใช้รถเมล์หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ดูระยะทางความห่างระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้วเดินเกือบกิโลฯ แล้วต้องไปเสียเงินอีกเท่าไหร่ เพราะจากเมื่อก่อนเสียแค่ไม่กี่บาท แต่ต่อไปต้องเสียถึง 42 บาท”

พร้อมทั้งถามต่อว่าเหตุผลจริง ๆ ที่จะไม่ให้รถวิ่งเข้าหัวลำโพงคืออะไร และที่ผ่านมาเชื่อว่าไม่เคยมีเอกสารอย่างเป็นทางการเสนอไปยัง ครม. ว่าจะมีการยกเลิกขบวนรถเข้าหัวลำโพง

กรณีที่จะมีการจัดเวทีทำประชาพิจารณ์ออนไลน์ในวันที่ 14 ธันวาคม ที่จึงนี้ ส่วนตัวมองว่าถ้าภาครัฐเป็นผู้เริ่มจัดไม่ค่อยไว้ใจเท่าไรเนื่องจากอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันและอาจไม่ได้เข้าถึงประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานีหัวลำโพงจริง ๆ แต่ตนเองเชื่อว่าถ้าเปิดให้ประชาชนลงชื่อผ่านทางออนไลน์ได้จริง ๆ ประชาชนส่วนใหญ่คงจะไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะประชาชนที่โดยสารรถไฟเป็นประจำไม่มีทางที่จะเห็นด้วยกับการปิดสถานีหัวลำโพงแน่นอน เพราะตนเองเคยให้ทีมงานไปคุยกับประชาชนผู้ใช้รถไฟที่อยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้ข้อมูลว่าประชาชนคัดค้านทั้งหมดพร้อมบอกว่าต่อไปจะทำอย่างไรโดยเฉพาะผู้โดยสารสายยาวมักจะมีสัมภาระเยอะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร ผลไม่ต่าง ๆ แล้วถ้าอนาคตต่อไปไม่มีหัวลำโพงแล้วประชาชนเหล่านี้จะทำอย่างไร การที่จะนำขึ้นไปบนรถไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่ไม่สะดวกมากนัก พร้อมเสนอว่าการจัดเวทีควรจัดเวทีตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศมากกว่าเพื่อที่จะได้รับฟังความคิดเห็นประชาชนได้ทั่วถึงอย่างแท้จริง นอกจากนี้สิ่งสำคัญของขนส่งระบบรางอย่างรถไฟก็คือถูกสร้างมาเพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อย