‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์

“เงินบาท”เปิดตลาดวันนี้(8ธ.ค.) แข็งค่าที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงหลังคลายกังวลโอมิครอน หนุนให้ นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ ดันเงินบาทแข็งค่าขึ้น มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.50-33.70 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(8ธ.ค.)ที่ระดับ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.70 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.70 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยหนุนให้ นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ และอาจพอช่วยหนุนให้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ทั้งนี้ เงินอาจจะยังไม่แข็งค่าไปมาก จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินของผู้เล่นต่างชาติ ที่จะสะท้อนผ่านยอดซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้น (นับตั้งแต่ตลาดปรับฐานจากความกังวล โอมิครอน นักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นฝั่งผู้ขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง ) นอกจากนี้ แนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าบางส่วน

 

 

ดังนั้น ในระยะนี้ เราประเมินว่า ตลาดค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ ผู้ประกอบการควรเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.00% เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการระบาด โอมิครอน ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อในอินเดียก็ไม่ได้รุนแรงมากนัก จนทำให้ RBI จำเป็นต้องเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด

ผู้เล่นในตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่าการระบาดของ โอมิครอน อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงจนน่ากังวลและวัคซีนที่มีในปัจจุบันยังสามารถรับมือได้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการปรับสถานะป้องกันความเสี่ยงพอร์ต (Hedge positions) อาทิ การเข้าซื้อ Put Option หรือ การ Short หุ้น โดยเฉพาะ หุ้นเทคฯ รวมถึงหุ้นกลุ่ม Innovation ซึ่งนักลงทุนบางส่วนได้เพิ่มสถานะ hedges จำนวนมากในช่วงที่ตลาดปรับฐานหนัก ทำให้เมื่อตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการระบาดและราคาสินทรัพย์เริ่มรีบาวด์ขึ้น นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวจะต้องปรับลดสถานะ Hedge ลง และกลับมาเป็นฝั่งซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน 

การเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +3.03% ตามด้วยดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.07% โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ เป็นสำคัญที่ช่วยหนุนให้ดัชนีทั้งสองปรับตัวขึ้น ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +3.36% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ ASML +8.3%, Adyen +6.3%, Infineon Tech. +6.0% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ ยานยนต์ และสินค้าแฟชั่นก็ปรับตัวขึ้นได้ดีเช่นกัน Volkswagen +8.0%, Kering +5.7% 

ทั้งนี้ แม้ว่า sentiment ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวดีขึ้น แต่เรามองว่าอาจเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่า การปรับฐานของตลาดอาจจบแล้ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของ โอมิครอน ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ โอมิครอน ยังต้องรอการยืนยันจากบริษัทผลิตวัคซีนว่าวัคซีนปัจจุบันยังสามารถรับมือกับ โอมิครอน ได้ โดยคาดว่าข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีการรายงานภายใน 1 สัปดาห์ และนอกเหนือจากประเด็นการระบาดของ โอมิครอน แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ก็อาจส่งผลให้ตลาดมีการย่อตัวลงมาได้บ้าง ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า อนึ่ง เรามองว่า หากตลาดหุ้นมีการปรับฐานอีกครั้ง ก็จะเปิดโอกาสในการเข้าทยอยสะสมหุ้นที่น่าสนใจได้ 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 3bps แตะระดับ 1.47% อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า แม้ตลาดหุ้นจะรีบาวด์ขึ้นมาพอสมควร แต่บอนด์ยีลด์กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมาก (บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 1.66% ก่อนตลาดปรับฐานหนักจากความกังวลการระบาดของ โอมิครอน) สะท้อนว่าผู้เล่นบางส่วนยังคงมีความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การระบาด และเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัยไว้ก่อน 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวน ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยตามสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้แกว่งตัวในระดับ 96.36 จุด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังไม่รีบปรับลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ส่งผลให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 113.4 เยนต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี การย่อตัวลงเล็กน้อยของเงินดอลลาร์ ได้หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,785 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า upsides ของราคาทองคำอาจเริ่มจำกัด หลังตลาดมีแนวโน้มเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมและจะเหลือเพียงปัจจัยความกังวลเงินเฟ้อที่อาจพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำไม่ปรับฐานหนักได้

อนึ่ง สินทรัพย์ในตลาดที่ปรับตัวขึ้นรุนแรงเช่นเดียวกับหุ้น คือ ราคาน้ำมันดิบ โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้นเกือบ 3% สู่ระดับ 75.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ความต้องการใช้พลังงานอาจไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โอมิครอนมากนัก อีกทั้ง กลุ่ม OPEC+ ก็สามารถปรับลดกำลังการผลิตหรือยกเลิกการเพิ่มกำลังการผลิตได้ ตามสถานการณ์ของตลาดน้ำมันหรือความต้องการใช้พลังงาน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ยังได้ช่วยหนุนให้ สกุลเงิน Commodities-linked อย่าง แคนาดาดอลลาร์ (CAD) ก็แข็งค่าขึ้น แตะระดับ 1.265 CAD ต่อดอลลาร์เช่นกัน