"พระมหาไพรวัลย์" ลาสิกขา พุทธะอิสระ ตอบทรัพย์สินที่ถวายให้ควรเป็นของใคร

"พระมหาไพรวัลย์" ลาสิกขา พุทธะอิสระ ตอบทรัพย์สินที่ถวายให้ควรเป็นของใคร

อดีตพระพุทธะอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กจากกรณีที่อดีต "พระมหาไพรวัลย์" แห่งวัดสร้อยทองที่ได้ทำการลาสิกขาไปเมื่อวานนี้ พร้อมวิเคราะห์ว่า ทรัพย์สินที่ชาวบ้านผู้คนถวายให้นั้นควรเป็นของใคร

นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธะอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กจากกรณีที่อดีต "พระมหาไพรวัลย์" แห่งวัดสร้อยทองที่ได้ทำการลาสิกขาไปเมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.2564) โดยตั้งประเด็นในหัวข้อ "ถามมา ตอบไป" พร้อมวิเคราะห์ว่า ทรัพย์สินที่ชาวบ้านผู้คนถวายให้นั้นควรเป็นของใคร

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- อดีต "พระมหาไพรวัลย์" ลาสิกขา พระพยอม มองอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ (คลิป)

- เปิดใจอดีต "พระมหาไพรวัลย์" เล่าหมดเปลือกสาเหตุทำไมต้องสึก

- "พระมหาไพรวัลย์" ลาสิกขาแล้ว เผยอย่างแรกที่ทำในฐานะ ปชช.

 

ข้อความจาก อดีตพระพุทธะอิสระ ซึ่งได้เขียนข้อความประเด็นที่อดีต "พระมหาไพรวัลย์" ได้ทำการลาสิกขา ระบุว่า พักนี้กระแสมหาไพรวัลย์ รู้สึกดูจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมอยู่พอสมควร ประเด็นที่พวกเขาต่างวิจารณ์กันก็คือ ตอนมหาไพรวัลย์มาบวชมาแต่ตัว แต่อยู่ในพระศาสนาจนยกสถานะทั้งทางการศึกษา สังคม และทรัพย์สินจนอู้ฟู่ ร่ำรวย แล้วก็สึกออกจากความเป็นภิกษุ เช่นนี้ดูว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้คนมากเกินไปหรือเปล่า

 

ตอบ เรื่องพระจะสึก ฝนจะตก ขี้จะแตก ฟ้าจะผ่า มันคงห้ามกันไม่ได้ แต่ที่สังคมเขาวิจารณ์กันคือ ทรัพย์สินที่ได้มาขณะที่เป็นภิกษุ ว่ามันควรจะตกเป็นของพระภิกษุผู้ที่ลาสิกขา หรือตกเป็นของตัวทิดที่พึงสึกไปแล้วหรือไม่

 

ประเด็นนี้ควรวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินที่ชาวบ้านเขาถวายให้นั้น เขาถวายศากยบุตร พุทธชิโนรส สาวกของพระพุทธเจ้า หรือถวายให้นายไพรวัลย์ เมื่อภิกษุนั้นลาสิกขาไปแล้ว ทรัพย์เหล่านั้นควรตกเป็นของใคร

 

ประเด็นนี้ควรยกเอาประเพณีก่อเจดีย์พระทรายมาเล่า นั้นคือ ชาวบ้านเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ เขาช่วยกันขนดิน ขนทรายเข้าวัด เพื่อก่อเจดีย์พระทราย ถวายคืนแก่วัด ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อจะใช้หนี้พระสงฆ์ เพราะชาวบ้านเขากลัวว่าทุกวันที่เขามาในวัด อาจมีเศษดิน เศษทรายติดเท้าติดมือเขาไปบ้าน เขาจึงขนดิน ขนทราย มาคืนให้วัด เรียกว่า เป็นการใช้หนี้สงฆ์

 

 

แม้เวลาเขามาทำกิจกรรมทางศาสนาภายในวัด ก็ต้องใช้น้ำ ใช้ไฟ ใช้สิ่งของๆวัด พอถึงเวลาที่จะต้องกลับ เขายังบริจาคเงินคนละเล็กคนละน้อย เพื่อจัดเป็นกองผ้าป่า หรือกองสังฆทานใช้หนี้สงฆ์ ใช้หนี้วัด

 

เรื่องดังกล่าว แม้จะไม่เป็นกฎหมาย ไม่มีข้อบังคับ แต่มันอยู่ที่จิตสำนึก เรื่องการละอายชั่วกลัวบาป ว่าจะมีหรือไม่ ส่วนที่ถามว่า พฤติกรรมของมหาไพรวัลย์ เป็นการเอาเปรียบสังคมหรือไม่

 

เรื่องนี้ ก็สุดแต่ใครจะมอง ว่าจะมองในมุมไหน ส่วนคำถามที่ว่า ทรัพย์สินที่ได้มาจากการถือบวช มันควรจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เช่นนี้ก็ควรย้อนไปดูคำอธิบายข้างต้น

 

แต่ไม่ว่าจะยังไง ก็คงต้องเตือนทิดสึกใหม่ให้ได้รับรู้ว่า ข้าวทุกเม็ด อาหารทุกก้อน น้ำทุกหยด เงินทุกบาท ของชาวบ้านที่เขายอมเสียสละให้ ล้วนมีดอกผล ที่ผู้ใช้ ผู้บริโภคต้องชดใช้ ไม่ว่าจะอยู่ใน “สภาพ” ใด ในเวลาไหนๆ ก็ต้องใช้หนี้เขาอยู่ดี ไม่รู้ว่า ทิดมหาจะเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมหรือไม่

 

พุทธะอิสระ