พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 0.7-2.4%

พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 0.7-2.4%

พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อพ.ย.64 เพิ่มขึ้น 2.71% สูงสุดในรอบ 7 เดือน จากราคานำ้มันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับผักสด เนื้อหมู เครื่องประกอบอาหาร ราคาสูงขึ้น คาดธ.ค.สูงอีก จับตา “โอมิครอน” ระบาดรุนแรงแค่ไหน ส่วนปี 65 ตั้งเป้า 0.7-2.4% ค่ากลาง 1.5%

นายรณรงค์  พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ย.2564 เท่ากับ 102.25 เทียบกับเดือนต.ค.2564 เพิ่มขึ้น 0.28% เทียบกับพ.ย.2563 เพิ่มขึ้น 2.71% สูงสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เม.ย.2564 ที่เพิ่มขึ้น 3.41% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.15% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ผักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.68 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2564 และเพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2563 และเฉลี่ย 11 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ประกอบกับฐานราคาปีที่ผ่านมา อยู่ระดับต่ำ รวมถึงราคาผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากช่วงที่ผ่านมา  เนื้อสุกร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ก็ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน นอกจากนี้เงินเฟ้อในเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ในช่วงเดือนพ.ย.2564 ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโอมิครอน

สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป  และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน

พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 0.7-2.4%


 

นายรณรงค์ กล่าวว่า  ทั้งนี้ทิศทางของเงินเฟ้อ ดังกล่าวสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ด้านอุปสงค์สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และมูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น 10.4%  และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่กลับมาอยู่ในระดับความเชื่อมั่นอีกครั้ง จากระดับ 48.8 มาอยู่ที่ระดับ 50.7 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น จากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 45.2 ซึ่งต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นเล็กน้อย ส่วนด้านอุปทานสะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้น 8.5%              

แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.2564 คาดว่าจะยังคงสูงขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง และมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง สินค้ากลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการ โดยอัตราการขยายตัวน่าจะใกล้เคียงกับเดือนพ.ย.2564 แต่ถ้าจะลดก็ลดเล็กน้อย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและการท่องเที่ยวซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และกระทบต่อเงินเฟ้อของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่สร้างความกังวลไปทั่วโลกและจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งต้องระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนทั้งปี 2564 ยังอยู่ในเป้าหมาย 0.8-1.2% ค่ากลางอยู่ที่ 1.0 %

พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 0.7-2.4%

 

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าและการผลิต รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ อุปสงค์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว จะส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างมาก สำหรับด้านอุปทานที่จะส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาอาหารสดที่น่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการและสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต และสินค้าในหมวดอื่นๆ น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิต การขนส่งและเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนอุปทานด้านน้ำมันดิบ คาดว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะทยอยปรับกำลังการผลิตเพื่อให้สมดุลกับความต้องการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยง และมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าเกษตรที่มีความผันผวน รวมถึงมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อของปี 2565 สนค.ได้ประเมินไว้อยู่ที่ 0.7-2.4% ค่ากลาง 1.5% มีสมมติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบทั้งปี 63-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์  โดยเบื้องต้นคาดว่าในช่วง 2-3 เดือนของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงขึ้น และเริ่มลดลงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป จากราคาน้ำมันที่ทรงตัว ค่าระวางเรือลดลง แต่ก็ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากโอมิครอน ที่กำลังระบาดว่าจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน  

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์